รหัสรอด “เอสเอ็มอี” นิวเจน

รหัสรอด “เอสเอ็มอี” นิวเจน

ยังมีเอสเอ็มอีแจ้งเกิด-ดับไม่น้อย จากจำนวนกว่า 2.7-2.8ล้านราย ย่ำอยู่กับปัญหาเดิมๆ ขาดเงินทุน-เข้าไม่ถึงตลาด ได้เวลา “เอสเอ็มอีนิวเจน” พลิกมุมคิด หลุดวังวนปัญหา

ธุรกิจใหม่เกิดขึ้นบนตลาดมากมาย ที่เริ่มต้นแจ้งเกิดจากคำว่า ธุรกิจขนาดย่อม (Small) แต่คนตัวเล็กวันหนึ่งอาจกลายเป็นพี่เบิ้ม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก เช่น เฟซบุ๊ค อูเบอร์ กูเกิล เป็นต้น ล้วนเติบใหญ่กลายเป็น “โกลบอลแบรนด์”โดยการลอกคราบธุรกิจจากคำว่าเล็ก ไปสู่กลางและใหญ่

ทว่าสังเกตให้ดี แบรนด์ที่จะเติบใหญ่คับโลกได้นั้น  สิ่งที่พวกเขามีเหมือนกัน คือ นวัตกรรม เทคโนโลยี รวบรวมองค์ความรู้จากทั่วทุกมุมโลก ก่อนจะสร้างเป็นไอเดียตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน แปลงเป็นการปฏิบัติให้เป็นจริงและไว

ผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) เจเนเรชั่นใหม่ จึงไม่ใช่เถ้าแก่รับจ้างผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อ หรือผลิตสินค้าแล้วขายตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของชีวิตมนุษย์อีกต่อไป แต่ต้องหาหนทางแห่งการพัฒนา“นวัตกรรม”เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในยุคอีคอมเมิร์ซเฟื่องฟู ทำให้คู่แข่งจึงเกิดขึ้นทั่วโลก  

พลาริน แย้มจินดา ผู้อำนวยการสำนักงาน กลุ่มนโยบายและยุทธศาสตร์ รักษาการรองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เผยถึงสถานการณ์ธุรกิจเอสเอ็มอีในไทย ผ่านเวทีเสวนา “ถอดรหัส SMEs ยุค4.0” ว่า เอสเอ็มอีคือฐานรากสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ 

ในปี2559 มีจำนวนเอสเอ็มอีประมาณ2.7-2.8ล้านราย โดยสัดส่วน99%มาจากธุรกิจขนาดเล็ก เช่น วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการในชุมชน โดยสัดส่วน 80% มีการจ้างงานไม่ถึง 5 คน มีเพียง 1.4 หมื่นราย ที่เป็นธุรกิจขนาดกลาง

เมื่อมองเข้าไปที่สัดส่วนของการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ จะพบว่า เอสเอ็มอีที่มาจากภาคบริการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากถึง 50% ทั้งที่จำนวนรายของเอสเอ็มอีกลุ่มนี้มีเพียง 25% เทียบกับเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ที่อยู่ในภาคการผลิต 20% และภาคการค้า 40%

ฐานข้อมูลเอสเอ็มอีดังกล่าว สะท้อนชัดถึง “แนวโน้ม"การเติบโตของธุรกิจเอสเอ็มอีในอนาคตว่าจะรุกสู่ภาคบริการมากขึ้น ยิ่งหากใส่นวัตกรรม หาความแตกต่างจากภาคบริการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเข้าไปอีกขั้น ก็ยิ่งจะทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจสูงขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ยังไม่หยิบเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีไปใช้แปลงสู่การดำเนินธุรกิจมากนัก

ผู้บริหารสสว. ยังเผยผลสำรวจสภาพธุรกิจ และความคิดเห็นในการทำธุรกิจของเอสเอ็มอี พบว่า เอสเอ็มอีส่วนใหญ่มักพูดถึงปัญหาของตัวเองซ้ำๆกันคือ

  1. การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ปัญหาอมตะนิรันดร์กาล ที่อยากขยายกิจการ ปรับปรุงเครื่องจักร เมื่อไปติดต่อธนาคารกลับต้องถูกตั้งคำถามเรื่องหลักทรัพย์ค้ำประกัน
  2. การเข้าไม่ถึงตลาด โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ แม้รัฐบาลจะส่งเสริมให้ไปบุกแต่ในความเป็นจริงมีเพียง 5.7% เท่านั้นที่ไปเจาะลูกค้าต่างประเทศ
  3. การเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี นวัตกรรมที่แตกต่าง รวมถึงข้อมูลข่าวสาร ที่ใช่ เหมาะสมตรงกับการหยิบไปใช้แปลงเป็นสินค้านวัตกรรม สร้างความต่าง

นั่นเป็นปัญหาเก่าๆ ที่เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ตอบคำถามทุกครั้งที่สำรวจ ซึ่งจะว่าไปแล้วเป็นการ เกาไม่ถูกที่คัน เรียกว่า เอสเอ็มอีบางส่วน ยังไม่รู้จักตัวเอง” 

เมื่อถามความต้องการมักชอบพูดถึงเรื่องเงินทุน แต่จริงๆ หลายรายที่ได้เงินไปแล้ว เงินก็ไม่ใช่ทางออก ว่าจะทำธุรกิจแล้วประสบความสำเร็จ มากเท่ากับสินค้าเป็นที่ต้องการของตลาด

ทั้งนี้การพัฒนาเอสเอ็มอีไปสู่เจเนเรชั่นใหม่ที่ใช้ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมเพื่อสร้างความแตกต่างให้สินค้าและบริการ ผ่าน 3 ยุทธศาสตร์ตามแผนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่4 (พ.ศ.2560-2564) คือ เงินทุน ความรู้ด้านเทคโนโลยี-นวัตกรรม รวมถึงตลาด โดยงบประมาณจะเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีสสว.เป็นหน่วยงานกลางทำงานเชิงบูรณาการกับหลากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ ที่จับตลาดเอสเอ็มอีมากขึ้น เพราะธุรกิจขนาดใหญ่มักมีทางเลือกในการระดมทุนหลากหลายกว่าเอสเอ็มอี  

รวมไปถึงธนาคารของรัฐต่างๆ เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารออมสิน บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม( บสย.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) หรือธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ตลอดจนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) ล้วนปรับแพ็คเกจเข้าหาความต้องการในหลากหลายรูปแบบของเอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีเพียงไอเดีย ก็ปล่อยกู้เพื่อเข้าถึงนวัตกรรม เทคโนโลยี ตลาด รวมถึงเอสเอ็มอีที่ขาดสภาพคล่องเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทางธนาคารก็จะมีแพ็คเกจมากมายมารองรับ

“เงินกองทุนต่างๆ ภาครัฐยังมีมากมายจนเรียกว่าแจกแถมกันเลย ผ่านกองทุนดำเนินการ เช่น กองทุนเทิร์นอะราวด์ ฟันด์ เพียงแต่ต้องประเมินว่า เอสเอ็มอีมีศักยภาพที่จะดำเนินธุรกิจ เช่น มีประวัติดี เป็นเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากพืชผลทางการเกษตรตกต่ำหรือไม่ มีไอเดียต้องการขยายกิจการ ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือขยายตลาดไปต่างประเทศหรือไม่"

@เทรนด์ร้อน..น่านน้ำใหม่เอสเอ็มอี

รองผอ.สสว.ยังระบุว่า การแจ้งเกิดเอสเอ็มอีพันธุ์ใหม่ยังต้องมาพร้อมกับการมอง เทรนด์ โลกที่เห็นเด่นชัดประกอบด้วย 5 เทรนด์ ได้แก่ 

  1. เทรนด์ผู้สูงวัย ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สังวัยในปี2563 จะมีผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของจำนวนประชากร
  2. เทรนด์พลังผู้หญิงเป็นใหญ่ มีอำนาจซื้อ อำนาจตัดสินใจและมีเงิน ทั้งเป็นโสดและไม่เป็นโสด ผู้หญิงมักเป็นคนเลือกซื้อ ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง โดยเฉพาะเกี่ยวกับความสวยความงาม หรือผลิตภัณฑ์ของผู้ชาย ผู้สูงวัย ผู้หญิงส่วนใหญ่ทำหน้าที่ดูแลบ้านจึงต้องผ่านการเลือกสินค้าและบริการโดยผู้หญิง
  3. สังคมเมืองกระจายกว้างไกลกว่าแค่หัวเมืองหลักเดิมๆ เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ แต่ยังไปถึงตะเข็บชายแดน ชีวิตสังคมเมืองที่เร่งรีบมาพร้อมกันกับสังคมชนชั้นกลางเริ่มกระจายตัวมากขึ้น ทำให้การใช้ชีวิตระหว่างคนกรุงเทพฯและต่างจังหวัดกระเถิบเข้าใกล้กัน จึงเป็นที่มาของบริการใหม่ที่เกิดขึ้น เช่น ธุรกิจการรับจัดงานแต่งงานที่เฟื่องฟู เราจึงเห็นร้านสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” ที่ปัจจุบันเติบโตถึงเกือบ 9,000 สาขา เริ่มมากกว่าสาขาของธนาคารที่มีแนวโน้มจะลดลง ยอดขายสินค้าตามตะเข็บชายแดนบางรายการ สูงกว่าสาขาในกรุงเทพฯ เช่น อุบลราชธานี อุดรธานี ที่มีกำลังซื้อจากเพื่อนบ้านเข้ามาขนสินค้าไปขาย
  4. เทรนด์โลกร้อน สุขภาพ คนหันมาใส่ใจกับสินค้าธรรมชาติ เพื่อสุขภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  5. ธุรกิจดิจิทัล ออนไลน์ และโซเชียลมิเดีย เป็นยุคที่ตลาดไม่ได้เน้นตลาดทั่วไป (แมส) แต่จะจับตลาดเฉพาะกลุ่ม ไม่เหวี่ยงแห ทำของโหลเน้นจำนวนหรือราคาถูก เพราะสู้สินค้าจีน อินโดนีเซียและบังคลาเทศไม่ได้

หากเป็นคนรุ่นใหม่กำลังมองหาผลิตภัณฑ์ใหม่ ต้องพัฒนาสินค้าแตกต่างมีทั้งฟังก์ชั่น การใช้งานที่ดีและมีคุณภาพ หาตลาดเฉพาะ สินค้าจึงจะอยู่ได้ยาวนาน

คนตัวเล็กไม่มีงบพอที่จะไปซื้อสื่อโฆษณาแบบทุ่มงบมหาศาลให้คนรู้จักแบรนด์ แต่ในยุคที่เงินก็ไม่ใช่คำตอบของความสำเร็จในการทำตลาดเสียทั้งหมด เพราะมีเครื่องมือสื่อสาร ที่ทำให้คนทุกคนสามารถเป็นสื่อในตัว ในการสร้างเนื้อหา (คอนเทนท์) ที่เป็นจุดเด่นของสินค้าและบริการเผยแพร่ได้เอง เอสเอ็มอีจึงต้องคิดใหม่ไม่ใช่เพียงหว่านแหซื้อโฆษณาแบบเดิมอีกต่อไป

โดยกูรูนักการตลาด สุรศักดิ์ เหลืองอุษากุล ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บริษัท แบรนด์เบเกอร์ จำกัด มองว่า ยุคนี้เป็นยุคที่เร็ว แค่กระพริบตาธุรกิจก็เปลี่ยนฉับพลัน ไม่ต่างจากหนัง Fast & Furious ดังนั้นการคิดกลยุทธ์การตลาดจึงต้องว่องไว รวดเร็ว รุนแรง และสร้างผลกระทบ (impact) สูง

@การตลาด4มิติ 

ยุคที่ใครก็ผลิตคอนเทนท์ได้เอสเอ็มอีไม่ใช่แข่งเฉพาะรายใหญ่ หรือรายเล็กในตลาด แต่แข่งกับคนสร้างคอนเทนท์ที่เป็นคนธรรมดาแต่สามารถสร้างกระแสได้

“ความยากของการแข่งขันในยุคดิจิทัลต้องเผชิญกับการแข่งขันสูง เนื้อหาที่สื่อสารออกไปต้องมีความหมาย สร้างคุณค่าของคนเสพ สะท้อนกลับมาสู่ตัวแบรนด์"

โดยสรุป 4 มิติของการทำโฆษณาของเอสเอ็มอีให้ประสบความสำเร็จว่า

1.ต้องคุยให้ถูกกลุ่มเป้าหมาย (Right Audience) ถ้าตรงเป้าหมายที่ต้องการ ก็สร้างความต้องการ (Need) อยากซื้อสินค้าแล้วซื้อซ้ำ จนทำให้รักแบรนด์ ซึ่งมีขั้นตอนการวางแผนสื่อที่แตกต่างกัน คอนเซ็ปต์คือต้องหาจุดของความเข้าใจตรงกันระหว่างลูกค้าและสินค้า

“การรู้ว่าลูกค้าเราเป็นใครทำให้รู้จักบริหารงบ วางแผนสื่อ แต่ต้องหาให้เจอว่าลูกค้าคนนั้นอยู่ตรงไหน ช่วงไหนของอายุ เพียงรู้จักไม่ได้แปลว่าลูกค้าจะซื้อ แต่ต้องทำให้อยากทดลอง ซื้อซ้ำ และรักในแบรนด์ ไม่เช่นนั้นเขาอาจจะไปซื้อสินค้าของคู่แข่ง”

2.คุยให้ถูกจังหวะ (Right Moment) ก่อนอื่นต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจจังหวะชีวิตของคนมากมาย แต่ละช่วงวัยมีความต้องการแตกต่างกัน จึงค่อยวิเคราะห์หาสินค้าต่อยอดจากจังหวะที่เหมาะสม

"วางแผนให้ดีลูกค้าว่าอยู่ในช่วงอายุไหน และกลุ่มไหน ข้อมูลอะไรที่ลูกค้าถามหา หน้าร้านหรือโลกโซเชียลมิเดียที่ไม่ควรทิ้ง เพราะต้นทุนที่ถูก แต่ต้องพิจารณาว่าคนจะเข้ามาซื้อผ่านช่วงเวลาไหน ช่องทางไหน คนบางคนซื้อเพราะเชื่อมือถือ อ่านข้อมูล หรือคุยกับเพื่อน เราจึงต้องเลือกให้ถูกจังหวะ หรืออาจจะซื้อผ่านออนไลน์เพราะมันถูก แต่สิ่งที่ทำให้ตัดสินใจอาจจะเป็นแรงบันดาลใจจากการพูดคุยสื่อสารผ่านทางโซเชียลมิเดีย

3.เนื้อหาถูกต้อง (Right Content) คิดเตรียมเนื้อหาไว้ว่าหากลูกค้ามานั่งตรงหน้าจะพูดอย่างไร ให้เขาซื้อของเราได้อย่างไร ซึ่งโซเชียลมิเดียเป็นทางลัดที่จะทำให้ลูกค้ามานั่งตรงหน้าได้ โดยไม่ต้องเดินทาง แต่สิ่งสำคัญคือการส่งต่อเนื้อหาจากแบรนด์ที่ยิงไป จะต้องสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า(Brand Value)เช่น มีความสะดวกสบาย สนุก แบรนด์ต้องทำให้คนสนุกสนาน หรือจุดแข็งอยู่ที่เจ้าของ เช่น เจ้าของหน้าตาดี

“ยกตัวอย่าง หมู่บ้านในสวิตเซอร์แลนด์ โฆษณาผ่านสื่อ สิ่งที่ต้องการสื่อคือความเงียบสงบ ถูกถ่ายทอดออกมาทางคลิปวีดีโอ ที่เป็นการท้าพิสูจน์ให้มีโทรศัพท์กลางหมู่บ้านแล้วให้คนมารับสายให้ทัน ทุกครั้งที่เสียงโทรศัพท์ดังต้องมีคนในหมู่บ้านวิ่งออกมารับให้ทัน” คลิปน่ารักๆ ที่คนดูและแชร์ต่อจำนวนมาก จุดประสงค์แค่ต้องการจะสื่อถึงความเงียบที่ทั้งหมู่บ้านได้ยินเสียงโทรศัพท์

นอกจากนี้ ก่อนจะมาถึงบิ๊กไอเดีย ยังต้องมาจากคุณค่าภายในของแบรนด์แล้วมาแปลงเป็นกลยุทธ์สื่อสารที่อยู่ภายใต้ ใจความสำคัญ(Key Message)เดียวกัน

4.ใช้เครื่องมือถูกต้อง(Right Tool) มีแพลตฟอร์มเกิดขึ้นมากมาย แต่ต้องฉลาดในการคิดว่าจะเลือกใช้อะไร ไม่ว่าจำเป็น ยูทู้บ, เฟซบุ๊ค อินสตาแกรม และไลน์ วิเคราะห์จากประเภทสื่อ คุณค่าแบรนด์และกลุ่มเป้าหมาย เช่น ยูทู้บ คนต่างจังหวัดจะดูจำนวนมาก จึงเห็นเพลงลูกทุ่ง หมอลำ เติบโตจากคลิปวีดีโอ

ลูกค้าอยู่ไหนก็ไปหาตรงนั้น แต่ต้องทำความเข้าใจพฤติกรรมการเสพสื่อของลูกค้าก่อน

----------------------------------

นักล่ารางวัล สู่ สโนว์เกิร์ล

เงินทุนไม่สำคัญเท่าไอเดีย” 

ดร.ธนธรรศ สนธีระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามเนเชอรัล โปรดักส์ จำกัด เจ้าของแบรนด์เครื่องสำอางค์ สโนว์เกิร์ล ที่ได้รับรางวัลจากรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ต่ำกว่า11รางวัล และได้รับรางวัลด้านนวัตกรรมถึง7รางวัล ในครีมสโนว์เกิร์ลซีรั่ม ปลาฉลาม และสโนว์เกิร์ล ครีมพอกหน้าเต้าหู้คอลลาเจนจากถั่วเหลืองงอก

อดีตคนหิ้วกระเป๋าเดินตามวิทยากรในมหาวิทยาลัยที่สอนเรื่องอินโนเวชั่นเครื่องสำอางค์ ตระเวนฟังงานสัมมนานับครั้งไม่ถ้วนจนเก็บความรู้ เมื่ออาจารย์ที่มาเป็นวิทยากรงานสัมมนาชวนไปลองเรียนการทำเครื่องสำอางค์จากสมุนไพรไทย เป็นสบู่ เครื่องสำอางค์ก็ไปทุกงานจนทำเป็นทุกอย่าง แล้วส่งเข้าประกวด กวาดรางวัลจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาทุกปี ปีแรกที่ส่งเข้าไปประกวดส่งไป

เริ่มจากไปเรียนรู้การทำเครื่องสำอางค์ต่างๆ ตามศูนย์ฝึกอาชีพ และสมุนไพร จนส่งเข้าประกวดคว้ารางวัลจาการประกวด11รางวัลที่ส่งไป5ปี จนได้เงินก้อนแรกหลายแสนบาทมาเป็นเงินทุนในการเริ่มธุรกิจเครื่องสำอางค์

เราไม่ได้มาจากครอบครัวร่ำรวย เรามีเงินเดือนประจำดีอยู่แล้ว แต่เราอยากเป็นผู้ประกอบการมาขายครีมตามตลาดนัด” 

รางวัลที่เข้าประกวดเป็นแต้มต่อชั้นดีที่ทำให้สินค้าของเขายืนอยู่เหนือคู่แข่ง หากสินค้าเหมือนกัน จุดแข็งเของเราคือ รางวัลที่คู่แข่งไม่มี 

เราชนะไปแล้วหนึ่งก้าว

เขายอมรับว่า สิ่งที่ยากที่สุดคือช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจ เพราะคนมักจะถามว่าเริ่มอะไรดี หรือเริ่มธุรกิจจากอะไร จุดเริ่มต้นสำหรับธุรกิจที่ดีที่สุดสำหรับเขา คือ เริ่มจากสิ่งที่ตัวเองรัก อย่างเช่นเขา ชอบและมีความสุขที่ได้ซื้อครีม สบู่ แล้วมาเปรียบเทียบกันอยู่กับสิ่งสวยงามก็มีความสุข เงินไม่ใช่ข้ออ้าง หากไม่คิดต่อเงินก็จม เริ่มต้นจากความกล้าและหาสิ่งที่รัก

“เมื่อเริ่มต้นธุรกิจจากเงินหลักร้อยบาทที่ไปทำสบู่ เพราะเมื่อทำสินค้ามีความสุขก็อยากส่งมอบความสุขให้กับลูกค้า ลูกค้าก็สัมผัสได้”

วิธีคิดสินค้า ที่เกิดพัฒนาอินโนเวชั่นใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา เพราะเป็นคนขอบหยิบนู่นผสมนี่หน่อยก็กลายเป็นสิ่งใหม่ที่ทำให้ตลาดตื่นเต้นและอยากหยิบมาทดลอง เช่น ผลงานที่ส่งเข้าประกวดก็มาหยิบสิ่งที่แตกต่างมารวมกัน เช่น ไปอ่านเจอบทความเอาน้ำมันพืชที่ใช้แล้วมาเป็นสบู่ซักล้างส่งออกไปญี่ปุ่น และไปเจออีกบทความหนึ่งเอาน้ำมันรำข้าวไม่ฟอกสี มาประะยุกต์รวมกันก็กลายเป็นของเราได้สบู่ก้อนแรกส่งประกวด

ความคิดสร้างสรรค์ในสินค้าใหม่ เกิดจากความคิดหยิบสิ่งที่แตกต่างกันมารวมกันก็เกิดเป็นสิ่งใหม่” เขาย้ำว่า เงินทุนไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะเริ่มจากเงินทุนเล็กๆแค่หลักร้อย โดยการวางขายออนไลน์รวบรวมออเดอร์ได้ก็มาผลิต ไม่จำเป็นต้องทำมากมาย พอรู้ว่าขายดีแล้วค่อยขยับขยายต่อ

สิ่งสำคัญคือการรู้ว่าลูกค้ากลุ่มเป้าหมายคือใคร หานิชมาร์เก็ต ช่องว่างตลาดให้เจอ เช่น ครีมคนแก่40ขึ้นไป ยังไม่มีขาย เมื่อวางบนเชลฟ์แล้วต้องทำกิจกรรมต่อเนื่อง ทำให้เกิดการอยากซื้อ เกิดความเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมตลอดเวลา เมื่ออยู่บนเชลฟ์ทั้งในห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้ออย่าไปกลัว แบรนด์ใหญ่และแบรนด์เล็กศักดิ์ศรีเท่ากัน เช่น ครีมเกาหลีที่เข้ามาจำหน่ายในเชลฟ์ตามร้านสะดวกซื้อหลายรายต้องถอยทัพกลับไป เพราะแข่งกับแบรนด์ไทยไม่ได้

“บางแบรนด์ชื่อต่างประเทศ แต่เป็นแบรนด์ไทยก็มี”

เคล็ดลับการทำวิจัยที่สำหรับเอสเอ็มอี คือ ลงทุนไปซื้อแบรนด์คู่แข่งมาฉีกซองแล้วหาจัดบกพร่อง จุดอ่อน แล้วกลับมาพัฒนาสินค้าให้ชดเชยส่วนนั้น

ตลาดเครื่องสำอางค์เป็นตลาดใหญ่ไม่ต้องกลัวว่าจะแข่งไม่ได้ ยังไม่สายหากจะรุกตลาดนี้ เพราะเติบโตขึ้นทุกปีและแต่ละปีก็มีเครื่องสำอางค์เกิดใหม่และตายทุกวัน คนอดทนน้อย ไม่พลิกแพลงเท่านั้นจึงไม่รอด"