รอยสักสลัก’แก๊ง’

รอยสักสลัก’แก๊ง’

ลวดลายบนเนื้อหนัง เส้นบางๆ ระหว่าง ‘ศิลปะ’ กับ ‘ตราบาป’

เหยื่อเผยเด็กสังกัดแม่เล้าฟ้ามีสัญลักษณ์รอยสักรูปนกฮูก

สาวเจ้าของรอยสักนกฮูกโวย ไม่เกี่ยวแก๊งค้ากามน้ำเพียงดิน

ช่างสักนกฮูกน้อยใจ สังคมประณามเป็นแก๊งค้าประเวณี

รอยสักรูปนกฮูกที่สยายปีกบนเนินอกหญิงสาว กลายเป็นข่าวโด่งดังข้ามสัปดาห์ เมื่อศิลปะบนเรือนร่างนั้นถูกระบุว่าเป็นสัญลักษณ์ของแก๊งค้ามนุษย์กลุ่มหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

เท็จจริงแค่ไหน ยังไม่ทันที่กระบวนการยุติธรรมจะคลี่คลายหาคำตอบ แต่ความเดือดเนื้อร้อนใจก็ส่งผลกระทบกับสาวๆ หลายคนที่มีรอยสักรูปนกฮูกประดับบนร่างกาย

“ที่ไปสักก็เพราะเห็นว่ามันก็เหมือนเครื่องประดับอย่างหนึ่ง ตอนนั้นก็เลือกอยู่หลายลาย แต่นกฮูกค่อนข้างฮิต แล้วเท่าที่รู้คือความหมายดีหลายๆ อย่าง” หญิงสาวรายหนึ่งเล่าถึงที่มาของนกฮูกบนไหล่ด้านซ้าย

แม้เธอจะไม่ค่อยกังวลกับข่าวที่เกิดขึ้น แต่ก็ทิ้งคำถามไว้ให้ตามต่อว่า... “รอยสักเกี่ยวข้องกับแก๊งอาชญากรรมจริงหรือ”

มาเฟียในตำนาน

ร่ำลือกันมานานว่ามาเฟียระดับตำนาน หรือแก๊งอาชญากรรมชื่อดัง มักมีรอยสักเป็นสัญลักษณ์ เหตุผลง่ายๆ ก็น่าจะมาจากร่องรอยที่ประทับลงบนผิวหนังนี้ยากจะลบเลือน เมื่อมีสมาชิกจำนวนมากก็จำเป็นต้องหาอะไรที่บ่งบอกความเป็นพวกเดียวกัน

‘แก๊งยากูซ่า’ คือหนึ่งในองค์กรใต้ดินที่ใช้รอยสักแสดงสถานะ สีสันและลวดลายที่วิจิตรงดงามเข้าขั้นงานศิลปะ แม้จะถือได้ว่าเป็นเทพแห่งรอยสักแต่ก็คงไม่มีใครอยากเห็นสักเท่าไหร่

ข้ามฝั่งมาทางด้านละตินอเมริกา ว่ากันว่ามาเฟียเม็กซิกัน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นตัวอันตรายอันดับต้นๆ ของโลก ใช้รอยสักที่เป็นรูปฝ่ามือที่มีอักษร M อยู่ข้างในเป็นสัญลักษณ์ แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่อยู่ในเมือง Bronx ของนิวยอร์ค จะนิยมสักเป็นรูปกำปั้น

แก๊งที่นิยมสักเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษก็มีไม่น้อย เช่น แก๊งชาวลาตินที่อยู่ในอเมริกาเหนือ สักอักษร MS  ส่วนแก๊งทางตอนใต้ของแคลิฟอร์เนีย มีรอยสักNLR ไว้ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย

นอกจากนี้ก็ยังมีรอยสักที่แสดงนัยยะของการต่อต้าน เป็นต้นว่า สัญลักษณ์สวัสดิกะบนหน้าผาก มักพบในแก๊งเหยียดเชื้อชาติ สีผิว สัญลักษณ์หยดน้ำตา บ่งบอกว่าได้สูญเสียบุคคลสำคัญ หรือไม่ก็ฆ่าใครบางคนไปแล้ว

แต่ที่ดูจะมีเรื่องเล่าซับซ้อนซ่อนเงื่อนที่สุดเห็นจะเป็น ‘มาเฟียรัสเซีย’ ซึ่งการสักนั้นเป็นธรรมเนียมของเหล่าอาชญากรมาช้านาน ในบทความ ‘ความหมายของรอยสักในคุกรัสเซีย’ (board.postjung.com) ให้ข้อมูลว่า

ความรุ่งเรืองของรอยสักของแก๊งอาชญากรรมเริ่มมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุคที่รัสเซียยังคงเป็นโซเวียต ซึ่งมีคุกอยู่มากมายที่ใช้คุมขังเหล่าอาชญากรที่ปล้นจี้ ฆาตกรรม ข่มขืน เสพยา รวมถึงเหล่าสมาชิกในองค์กรอาชญากรรมหลายร้อยหลายพันคนที่ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับกฏหมาย ซึ่งชายฉกรรจ์ที่ติดคุกเหล่านี้มี “วิธี” บอกเล่าเรื่องราวของตนผ่านรอยสัก ราวกับว่ามันเป็น “เครื่องหมายยศ” ที่แสดงออกถึงเหล่าและหน่วยงานที่ตนสังกัดไม่ต่างจากหมายตราต่างๆ ของทหารหรือตำรวจแต่อย่างใด

“รอยสักเหล่านี้ นัยว่าเพื่อเป็นการบอกสังกัดแก๊งเพื่อที่จะหาพรรคพวกเข้าร่วมกลุ่มได้ง่ายยามที่เข้ามาอยู่ในคุก บอกถึงที่มาที่ไปของการเริ่มต้นเข้าสู่เส้นทางแห่งความชั่วร้าย บ่งบอกถึงคดีที่ตนก่อ บอกจำนวนปีที่ถูกคุมขัง หรือแม้กระทั่งใช้รอยสักข่มขู่ฝ่ายตรงข้ามตาม “ความโหด” ของความหมายที่ประกาศไว้บนเรือนร่างของตน”

รอยสักสำหรับกลุ่มคนเหล่านี้จึงเปรียบเหมือนประกาศนียบัตรและสังกัดของพวกเขา ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังทิ้งร่องรอยความเชื่อและธรรมเนียมบางอย่างไว้

รอยสักสัญชาติไทย

แม้จะอยู่ในเนื้อในตัวในวัฒนธรรมของคนไทยมานาน แต่รอยสักแบบไทยๆ ก็มีที่มาห่างไกลจากคำว่า “แก๊ง”

ในวิทยานิพนธ์เรื่อง “วิวัฒนาการการสักและวัฒนธรรมมวลชนกับการสักรอยศิลปะบนเรือนร่าง” ของ ชนกภรณ์ นรากร นิเทศศาสตร์ธุรกิจ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ อธิบายความหมายของการสักในอดีตว่าส่วนใหญ่มิได้มุ่งที่ความสวยงาม แต่จะเน้นในเรื่องความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ของสัญลักษณ์ที่ใช้เป็นสำคัญ ดังนั้นสัญลักษณ์ที่ใช้จึงเป็นพวกอักขระ คาถา ยันต์ ซึ่งมีความหมายในเรื่องของความขลังความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเองอยู่แล้ว

“จากความเชื่อแต่อดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ความหมายของรอยสักเริ่มแปรเปลี่ยนไปสู่ความเป็นศิลปะ รอยสักที่เคยเดินตามประเพณีนิยม เริ่มกลายเป็นความเฉพาะตัวมากขึ้น และมีความหมายเพื่อความต้องการของตัวเอง”

สำหรับแรงจูงใจในการสัก แน่นอนว่า ความสวยงามและการตอบสนองจินตนาการของผู้สักเป็นเรื่องที่อยู่ในใจ แต่ปัจจัยอื่นๆ งานวิจัยชิ้นนี้สรุปไว้ 9 ข้อ คือ ความศักดิ์สิทธิ์ เลียนแบบ(ทำตามผู้อื่น) พอใจในศิลปะของลวดลาย ลักษณะของร้านสัก ความน่าเชื่อถือของช่างสัก ปกปิดรอยแผลเป็น แรงแห่งความรัก เอกลักษณ์ในครอบครัว และตอบสนองความต้องการของผู้อื่นที่มีอิทธิพลต่อตนเอง

“การสักในบ้านเรา หนึ่งก็คือเป็นประเพณีตั้งแต่ดั้งเดิมมา เช่น สักยันต์ สักหัวล้าน อันนั้นเป็นเรื่องความเชื่อ แล้วก็มีเรื่องของจิตใจด้วย สองก็คือรอยสักสวยงาม ที่มาจากฝั่งอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ก็เป็นการเสริมสร้างบุคลิก หรือปิดบังปมด้อยเรื่องแผลเป็นหรือรอยต่างๆ ไม่ได้มีเรื่องเกี่ยวกับเรื่องแก๊งอะไร” พนิษฐ์นันท์ นิ่มนวล ประธานชมรมช่างสักแห่งประเทศไทย ให้มุมมองในฐานะคนที่คร่ำหวอดในวงการนี้มานาน และว่า ข่าวดังกรณีน้ำเพียงดินไม่น่าจะมีผลกระทบกับการสักของคนไทยมาก เพราะไม่นานก็คงลืม

นกฮูกเจ้าปัญหา

เครื่องสักกดเข็มเล็กๆ ลงไปบนผิวเนื้อเนินอกของหญิงสาว ไม่นานก็ทิ้งรอยหมึกรูปนกฮูกไว้พร้อมกับรอยแดงจากการอักเสบ... แม้จะต้องแลกด้วยความเจ็บปวด แต่หลายคนก็ยอม เพื่อให้ได้รูปรอยที่แสดงถึงตัวตนและความพอใจ

‘เครือ’ ช่างสักในจังหวัดแม่ฮ่องสอนรายหนึ่ง บอกว่าที่ผ่านมามีลูกค้ามาสักลวดลายนกฮูกกับเขามากกว่า 100 คน ทั้งผู้หญิงผู้ชาย อายุตั้งแต่ 16 ปี ไปจนถึง 25 ปี ส่วนใหญ่จะนำแบบลายมาเองซึ่งรายละเอียดจะไม่เหมือนกัน แต่หลังจากที่มีข่าวออกมาว่า คนที่สักนกฮูกพัวพันกับการค้าขายประเวณี ก็มีลูกค้าหลายรายมาตัดพ้อว่าถูกสังคมเหยียดหยาม รู้สึกอับอาย

“มีเด็กผู้หญิงมาบอกว่าอยากจะลบลายสักนกฮูกออก แต่ก็ทำให้ไม่ได้ เพราะถึงจะลบก็มีลายจางๆ ให้เห็นบนผิวหนังไปตลอดชีวิต”

เมื่องานศิลปะถูกทำให้กลายเป็นตราบาป เรื่องนี้จึงร้อนถึงแวดวงผู้นิยมรอยสักที่ต้องออกมาชี้แจงว่า “นกฮูก” คือรอยสักยอดนิยมซึ่งมาพร้อมกับกระแสความนิยมลวดลายนกฮูก ตามความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลมาจากโลกตะวันตกผ่านโซเชียลมีเดีย

“คือในช่วง 2-3 ปีให้หลัง ลายสักนกฮูกเป็นที่นิยมมากของทางฝั่งยุโรป เหมือนฝรั่งเขามีความเชื่อเรื่องนกฮูก แล้วทีนี้มันมีการสักกันในต่างประเทศ วัยรุ่นเราก็เลยนิยมกัน แล้วมันก็เลยเป็นค่านิยมทำให้หลายๆ คนสักตาม ส่วนเรื่องที่ว่าแก็งอะไรต่างๆ ใช้รอยสักนกฮูก ผมว่ามันเป็นแค่ความนิยมของคนบางกลุ่มเท่านั้น แต่คงไม่ใช่สัญลักษณ์ของการทำผิดกฎหมายหรือผิดประเพณี มันเป็นแค่ความนิยมส่วนตัวของคนนั้นและกลุ่มนั้นๆ ซึ่งรอยสักอันนี้เท่าที่ผมรู้ในเมืองไทยมันก็มีคนสักไปแล้ว คร่าวๆ ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน ทั้งอกซ้าย อกขวา และกลางอก” พนิษฐ์นันท์ ให้ข้อมูล

แม้ในบางวัฒนธรรม นกฮูก จะถือเป็นสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับโชคร้ายและความตาย แต่ในโลกยุคใหม่ เมื่อมันได้ถูกไฮไลท์ให้เป็นสัญลักษณ์ของโชคดี ความสุข การเรียนรู้ ความร่ำรวย ความสุขุมรอบคอบ และอื่นๆ ลวดลายนกฮูกจึงไม่ได้ปรากฎแค่ในข้าวของเครื่องใช้ เครื่องประดับ แต่ถูกสักลงบนเรือนร่างของผู้คน ไม่เฉพาะแต่ชาวไทยแต่หมายรวมถึงผู้นิยมรอยสักทั่วโลก

ในมุมมองของประธานชมรมช่างสักฯ รอยสักนกฮูกที่ถูกนำไปผูกโยงกับแก๊งอาชญากรรมไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ขึ้นอยู่กับการวางตัวของคนที่มีรอยสักนี้มากกว่า แต่ที่น่ากังวลกลับเป็นฝีมือ และมาตรฐานของการสัก

“อย่างที่ผมเห็นรูปของน้องผู้หญิงที่อยู่ในข่าวกรณีน้ำเพียงดิน คือเป็นรอยสักจากช่างมือสมัครเล่นมากกว่า สักได้แบบว่าให้มีหมึกติด ไม่ได้เน้นความสวยงามอะไร ไม่เหมือนช่างมืออาชีพเขาทำกัน”

“ถ้าจะให้แนะนำ ก็อยากให้คนที่จะไปสัก ดูโพรไฟล์ของช่างสักประกอบการตัดสินใจ อาจไปดูสภาพที่ร้านว่าสะอาดมั้ย อุปกรณ์ที่ใช้ถูกต้องมั้ย อย่างร้านที่ถูกต้องเขาจะมีทะเบียนการค้า ซึ่งเราก็ขอดูได้”

ส่วนเรื่องทัศนคติของคนทั่วไปที่มักตีตราผู้มีรอยสักว่าเป็นพวกนอกรีตนอกรอย ช่างสักมืออาชีพ บอกว่า

“ต่างมุมมอง ต่างคนต่างคิด เราไปห้ามใครเขาไม่ได้ แต่อยากให้เปิดใจสักนิดว่ามันเป็นศิลปะที่แปลกแยกออกมา อยากให้มองในด้านบุคลิกภาพว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของแฟชั่น อยากให้เปิดใจรับและศึกษารอยสักที่กำลังเข้ามาในสังคมนี้”

อีกไม่นาน ความนิยมรอยสักนกฮูกก็คงจางไปเช่นเดียวกับลวดลายอื่นๆ รวมถึงข่าวแก๊งค้าประเวณีที่มีรอยสักนี้เป็นสัญลักษณ์ แต่สิ่งหนึ่งที่จะยังคงไม่เลือนหาย คือศิลปะบนเรือนร่างมนุษย์ที่พยายามสื่อสารสะท้อนตัวตนในมิติที่แตกต่าง