'ไอบีเอ็ม' แนะแบงก์เร่งนวัตกรรมชง '5ไอเดีย' รับมือฟินเทค

'ไอบีเอ็ม' แนะแบงก์เร่งนวัตกรรมชง '5ไอเดีย' รับมือฟินเทค

หนุนพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยน ชู “คลาวด์-ค็อกนิทิฟ คอมพิวติ้ง-เอไอ” วิเคราะห์ความต้องการเรียลไทม์ลูกค้า รับความท้าทายฟินเทค เผยคาดการณ์ มูดีส์ ระบุ สตาร์ทอัพฟินเทคเกิดทั่วโลกกว่า 4 พันราย เม็ดเงินลงทุนพุ่ง 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์

ปัจจุบันแวดวงธนาคาร ต่างเผชิญการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ความท้าทายเหล่านี้ เกิดจากธุรกิจสตาร์ทอัพและฟินเทคที่นำเทคโนโลยีคลาวด์มาใช้ และมีรูปแบบการทำงานที่คล่องตัวกว่า มูดีส์ อินเวสเตอส์ เซอร์วิส ประมาณการว่า มีสตาร์ทอัพด้านฟินเทคสูงถึง 4,000 รายทั่วโลก รวมเม็ดเงินร่วมลงทุนแล้วมีมูลค่าถึง 19,000 ล้านเหรียญดอลลาร์

นายสวัสดิ์ อัศดารณ กรรมการ รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจการเงิน ธนาคาร และประกันภัย บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า เมื่อธนาคารต้องเผชิญสภาพแวดล้อมการเกิดขึ้นของฟินเทค จำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญเทคโนโลยีคลาวด์ เพื่อเป็นเครื่องมือเข้าถึงความต้องการลูกค้า

การก้าวเข้ามาของบรรดาผู้เล่นหน้าใหม่ ทำให้สิ่งที่ลูกค้าคาดหวังจากผลิตภัณฑ์ และบริการเปลี่ยนไปมาก กลายเป็นแรงกดดันให้ธนาคารต้องเร่งมองหานวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงแนวทางช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ที่ในขณะเดียวกันต้องสอดคล้องกับข้อกำหนดและกฎข้อบังคับต่างๆ ด้วย

ชง 5 ไอเดียรับมือ
จากการทำงานร่วมกับลูกค้าทั่วโลก เพื่อพลิกโฉมธุรกิจในอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน รวมถึงการวางแผนนำกลยุทธ์คลาวด์และปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้ในองค์กร ทำให้ไอบีเอ็ม พบ 5 ปัจจัยสำคัญ ที่ธนาคารจำเป็นต้องมีเมื่อก้าวเข้าสู่รูปการทำงานในยุคดิจิทัลและคลาวด์ ได้แก่

1. ธนาคารต้องมีความคล่องตัวมากขึ้น และสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ผ่านระบบคลาวด์ได้ การเปลี่ยนไปใช้ระบบคลาวด์แบบไฮบริดที่คล่องตัว ช่วยเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพให้ธนาคารมากกว่า การทำงานบนระบบโครงสร้างพื้นฐานแบบออนพรีมิสแบบเดิมๆ

2. เสนอประสบการณ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าแบบเฉพาะบุคคล ปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ นี่คือสิ่งที่สตาร์ทอัพด้านฟินเทคทำได้ดี และกลายเป็นการกำหนดมาตรฐานใหม่ให้ธนาคารที่ยังให้บริการแบบเดิมๆ
การศึกษาโดยสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็มเมื่อเร็วๆ นี้ ชี้ว่ามีลูกค้าเพียง 30% ที่คิดว่าตัวเองได้รับประสบการณ์แบบเฉพาะบุคคลจากธนาคาร แม้ธนาคารถึง 45% จะมองว่า ตัวเองส่งมอบประสบการณ์แบบเฉพาะบุคคลให้ลูกค้าแล้วก็ตาม

การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพยากรณ์จากบิ๊กดาต้าที่มีประสิทธิภาพ จะกลายเป็นตัวช่วยที่สำคัญให้ธนาคารสามารถส่งมอบประสบการณ์แบบเฉพาะบุคคลแก่ลูกค้าได้แท้จริง

3. ถอดรหัสมุมมองเชิงลึกจากข้อมูลที่ยังไม่ได้นำมาใช้ปัจจุบัน เพราะติดข้อจำกัดเทคโนโลยีประมวลผล โดยปัจจุบันสถาบันการเงินเก็บรวบรวมข้อมูลปริมาณมหาศาล แต่ข้อมูลส่วนใหญ่กลับเป็นข้อมูลที่ไร้โครงสร้าง ซึ่งระบบแบบเดิมไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ได้

เทคโนโลยีค็อกนิทิฟ คอมพิวติ้ง บนระบบคลาวด์ปัจจุบัน สามารถเป็นเครื่องมือให้ธนาคาร ไม่เพียงวิเคราะห์ข้อมูลไร้โครงสร้างเหล่านี้ได้ แต่สามารถทำความเข้าใจ หาเหตุผล และเรียนรู้จากข้อมูลดังกล่าวเพื่อปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

นายสวัสดิ์ ยกตัวอย่างว่า ปัจจุบัน ‘ยูเอสเอเอ’ หน่วยงานที่ให้บริการด้านการเงิน การลงทุน และประกันภัย แก่เจ้าหน้าที่ทหารและครอบครัวได้นำอนาไลติกส์ เชิงพยากรณ์มาใช้วิเคราะห์ความต้องการกลุ่มลูกค้า ทำให้ล่วงรู้เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นแต่ละช่วงของชีวิต เช่น แต่งงาน การมีลูก และสามารถนำเสนอบริการรวมถึงข้อเสนอต่างๆ ได้ทันทีในช่วงที่ลูกค้ากำลังมองหา

ขณะที่ธนาคารสวิสขนาดใหญ่ ลดปัญหาการลดลงของลูกค้าได้ถึง 66% เพราะคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าลูกค้ากลุ่มไหนกำลังเลิกใช้บริการของธนาคาร สามารถแก้ปัญหาเพื่อรักษาลูกค้าเหล่านั้นไว้ได้ทันท่วงที

หนุนใช้ข้อมูลชาญฉลาด
4. สร้างวัฒนธรรมที่เน้นใช้ข้อมูลอย่างชาญฉลาด ธนาคารมีข้อมูลดิจิทัลจำนวนมหาศาล ที่สามารถแปลงเป็นมุมมองเชิงลึกสร้างคุณค่าที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะตัวของลูกค้าบุคคลหรือธุรกิจได้ ธนาคารจึงควรสร้างวัฒนธรรมที่เอื้อให้นำข้อมูลดิจิทัลเหล่านี้ไปผนวกรวมเข้ากับข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ได้รวดเร็วผ่านคลาวด์ ให้เข้าใจความท้าทายที่ลูกค้าประสบอยู่และช่วยสร้างประสบการณ์เฉพาะบุคคลแบบที่ลูกค้าคาดหวังได้

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอนาไลติกส์และค็อกนิทิฟ ช่วยลดความซับซ้อนและเร่งให้เกิดการค้นพบข้อมูลเชิงลึกที่นำไปใช้ปฏิบัติได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

5. ใช้ระบบค็อกนิทิฟและปัญญาประดิษฐ์ (AI) นอกเหนือจากระบบคลาวด์แล้ว ธนาคารควรเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากอัตราการใช้เทคโนโลยีค็อกนิทิฟ และปัญญาประดิษฐ์เติบโตขึ้นต่อเนื่อง ในช่วงที่ผ่านมา สถาบันการเงินต่างๆ เริ่มนำเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นแพลตฟอร์มรักษาระดับความสามารถการแข่งขัน ธนาคารต่างๆ อาทิ ธนาคารบราเดสโก กำลังทำงานร่วมกับไอบีเอ็มเพื่อนำปัญญาประดิษฐ์มาช่วยวิเคราะห์แนวทางการขยายรูปแบบบริการ มีเป้าหมายเพื่อส่งมอบประสบการณ์ลูกค้าที่ดีขึ้นและรวดเร็วยิ่งขึ้น

นายสวัสดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ไอบีเอ็มได้เปิดตัว ไอบีเอ็มคลาวด์สำหรับบริการทางการเงิน” (IBM Cloud for Financial Services) รวบรวมเครื่องมือและเทคโนโลยีที่จำเป็นต่างๆ ไว้ด้วยกัน เช่น ค็อกนิทิฟและบล็อกเชนสำหรับนักพัฒนา เครื่องมือสำหรับสร้างมุมมองลูกค้าเชิงลึก เครื่องมือด้านซิเคียวริตี้และความเป็นส่วนตัวที่เป็นไปตามข้อกำหนดและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อช่วยลดเวลาที่ต้องใช้ในการพัฒนาและทดสอบ โดยบริการดังกล่าวได้รวบรวมเอพีไอทั้งจากไอบีเอ็มและฟินเทคที่เป็นพันธมิตรเอาไว้

“ธนาคารปัจจุบันต้องแข่งขันกันเพื่อให้บริการและผลิตภัณฑ์ของตนตอบโจทย์ความคาดหวังใหม่ๆ ของลูกค้า ผลกระทบโดยตรงจากสตาร์ทอัพด้านฟินเทคทำให้ธนาคารต้องพุ่งเป้าไปที่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยเหตุนี้ธนาคารจึงต้องพยายามลดค่าใช้จ่ายโดยรวมเพื่อนำไปลงทุนในธุรกิจและเครื่องมือที่สามารถช่วยปลดล็อคข้อมูลและสร้างประสบการณ์ใหม่ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นสำหรับลูกค้า” นายสวัสดิ์ กล่าว