แพทย์แนะสวมชุดป้องกันสารเคมีในโรงงาน

แพทย์แนะสวมชุดป้องกันสารเคมีในโรงงาน

แพทย์ระบุทำงานอุตสาหกรรมสารเคมี มีโอกาสสัมผัสสารก่อมะเร็ง ผ่านการสูดดมและสัมผัสทางผิวหนังแนะหลีกเลี่ยงด้วยการสวมชุดป้องกัน

แพทย์ระบุทำงานอุตสาหกรรมสารเคมี มีโอกาสสัมผัสสารก่อมะเร็ง ผ่านการสูดดมและสัมผัสทางผิวหนังแนะหลีกเลี่ยงด้วยการสวมชุดป้องกัน หรือปฏิบัติงานในที่อากาศถ่ายเท

เรืออากาศตรีนายแพทย์ วิวัฒน์ เอกบูรณะวัฒน์ ที่ปรึกษาด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และพิษวิทยา บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ (N Health) เปิดเผยว่า ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับโรงงานอุตสาหกรรมที่มีสารเคมีชนิดต่างๆ มีโอกาสสูงที่จะสัมผัสสารกับสาร เมทธิล ไอโซบิวทิล คีโตน (MIBK) ที่มีลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่มีสี มีกลิ่นหอมหวาน ติดไฟและระเหยเป็นไอได้ นิยมใช้เป็นตัวทำละลาย ได้แก่ การผลิตสี น้ำมันเคลือบเงา แลคเกอร์ หมึก สีสเปรย์ กาว ไนโตรเซลลูโลส เทปแม่เหล็ก สารกึ่งตัวนำ และผลิตภัณฑ์อุดรอยรั่ว นอกจากนี้ยังใช้สำหรับการล้างคราบมันบนผิวโลหะ มีโอกาสเสี่ยงโรคมะเร็ง เนื่องจากสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) ได้บรรจุสาร MIBK อยู่ใน กลุ่มของสารที่อาจจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์

สำหรับผู้ที่ทำงานตามโรงงานอุตสาหกรรม อาจสัมผัสสาร MIBK ได้ผ่านทางการสูดดมไอระเหย และการสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง ในกรณีที่สูดดมไอระเหยของ MIBK เข้าไป อาจทำให้มีอาการระคายเคืองบริเวณทางเดินหายใจ และถ้าสูดดมในปริมาณที่มีความเข้มข้นสูง สารนี้จะไปกดระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร เซื่องซึม จนกระทั่งนอนไม่หลับ หากสัมผัสโดยตรงทางผิวหนังหรือดวงตา จะทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณที่สัมผัส และเป็นอันตรายต่อระบบ ประสาทรับความรู้สึกได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังทำให้ตับโตได้อีกด้วย

ข้อแนะนำหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควร สวมใส่ชุดป้องกัน และสวมอุปกรณ์ปกป้องดวงตา หลีกเลี่ยงการสูดดมไอระเหย ใช้สารดังกล่าวเฉพาะภายนอกอาคารหรือในพื้นที่ที่มีการ ระบายอากาศที่ดี ล้างมือทุกครั้งหลังจากปฏิบัติงานกับสารดังกล่าว หากสัมผัสให้รีบล้างออกด้วยน้ำทันที ถ้ารู้สึกผิดปกติให้ปรึกษาแพทย์โดยทันที