กรธ. โต้ 'สมชัย' บิดเบือน - ยึดติดเก้าอี้

กรธ. โต้ 'สมชัย' บิดเบือน - ยึดติดเก้าอี้

กรธ. โต้ "สมชัย" บิดเบือน - ยึดติดเก้าอี้ ยันคกก.สรรหาเหมาะสม ปัด ให้อำนาจสตง.สั่งเบรคนโยบายรบ.ได้

นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง ข้อกล่าวหากรธ. ในการออกแบบคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระให้มีสเปคสูงเกินจำเป็น ว่า เหตุผลของกรธ.คือ กำหนดให้องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ มีหน้าที่และอำนาจเพิ่มขึ้น ต้องทำงานเชิงรุก ฉับไว เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ จึงปรับคุณสมบัติของกรรมการองค์กรอิสระให้เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น คณะกรรมการสรรหาบุคคลเหล่านี้ จึงต้องมีคุณสมบัติสูงกว่า หรืออย่างน้อยต้องเทียบเท่ากับตัวกรรมการที่จะไปสรรหา ภาพรวมของทั้งหมดจึงออกมาสอดคล้องกัน ส่วนข้อกล่าวหาของกรรมการองค์กรอิสระคนหนึ่งบอกว่า สเปคกรรมการสรรหาแบบนี้ จะหาบุคคลได้ยาก ทำให้ได้แต่ข้าราชการเกษียณนั้น ไม่จริง เพราะอาจเป็นใครก็ได้ที่มีความรู้ความสามารถ ตามที่กำหนดไว้ หากได้ข้าราชการเกษียณ ก็แน่นอนว่า ต้องเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ตามที่กำหนด จึงไม่ใช่ปัญหาหรือเป็นเรื่องยากอะไร

"ขอเรียกร้องให้ผู้แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ มองความอย่างรอบด้าน ไม่ตัดตอนข้อมูลบางส่วนมา จนทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด อย่ายึดติดตำแหน่ง แต่ต้องยึดองค์กรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบเป็นตัวตั้ง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม ไม่ใช่จะให้กรธ.ยึดเอาสิทธิประโยชน์ของกกต. จากรัฐธรรมนูญเก่าไว้เหมือนเดิม ทั้งที่กรธ.ปรับเปลี่ยนอำนาจหน้าที่กกต.ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาความหละหลวมในการเลือกตั้ง และขอถามกลับว่า ทำไมตอนประชามติ คนที่ไม่เห็นด้วยกับคุณสมบัติกรรมการองค์กรอิสระ จึงไม่ออกมาคัดค้าน ในเมื่อรัฐธรรมนูญผ่านประชามติมาแล้วจะให้ทำอย่างไร" นายชาติชายกล่าว

ส่วนข้อคัดค้านการเพิ่มอำนาจสตง.ในการสั่งห้ามนโยบายรัฐบาล ของนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้น กรธ.ไม่ได้ให้ สตง. มีอำนาจคัดค้าน หรือยับยั้ง นโยบายของรัฐบาล กรธ.ต้องการปรับเปลี่ยนองค์กรอิสระ จากเดิมที่ต่างคนต่างทำ วิธีคิดต่างกัน และทำงานแต่เพียงเชิงรับ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำงานเชิงรุกร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ไล่ทันต่อคนที่คิดไม่ดี ซึ่งมีพัฒนการไปไกลมาก โดยเฉพาะการออกนโยบาย ที่ภาพรวมไม่มีปัญหา แต่พอลงละเอียดแต่ละโครงการแล้ว กลับมีข้อบกพร่อง ไม่คุ้มค่า จึงให้สตง. โดยความเห็นของคตง. มีอำนาจปรึกษาร่วมกับ ป.ป.ช. และกกต. หากเห็นพ้องกันก็จะส่งคำแนะนำตักเตือนไปยัง รัฐสภาและครม. ไม่ใช่คำสั่งให้เลิกทำ ถ้ารัฐบาลยังดื้อตาใสก็ทำต่อไป ประชาชนที่รู้ข้อมูลก็จะตัดสิน เกิดผลกระทบต่อความนิยมของพรรครัฐบาล หรือหากทำต่อไปแล้วพบการทุจริต ก็จะเป็นหน้าที่ขององค์กรอิสระที่รับชอบดำเนินการฟ้องร้องกล่าวโทษต่อไป