'รสก.' ปิดบริษัทลูกแล้ว15แห่ง

'รสก.' ปิดบริษัทลูกแล้ว15แห่ง

รสก. "ปิดบริษัทลูก" แล้ว15แห่ง ชี้ซูเปอร์บอร์ดห้ามลงทุนกิจการอื่นที่ไม่สอดคล้องธุรกิจแม่ สคร.เตรียมแผนตัดขายกิจการไม่ทำกำไรที่คลังถือหุ้น โดยจ้างที่ปรึกษาประเมินสินทรัพย์

สคร.เผย รัฐวิสาหกิจได้ทยอยปิดกิจการบริษัทลูกแล้ว 15 แห่ง จาก 55 รัฐวิสาหกิจ ตามนโยบายคนร.ที่ไม่ต้องการให้ลงทุนในกิจการอื่นที่ไม่สอดคล้องกับธุรกิจหลัก ซึ่งมีจำนวนถึง 44 บริษัท ส่วนการลงทุนใหม่ในบริษัทลูก ต้องขออนุญาตจากคนร.ด้วย

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ขณะนี้ รัฐวิสาหกิจต่างๆ ได้ถอนการลงทุนในบริษัทลูกที่ไม่สอดคล้องกับกิจการบริษัทแม่แล้วจำนวน 15 แห่งซึ่งเป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ดที่ไม่ต้องการให้รัฐวิสาหกิจลงทุนในกิจการที่ไม่สอดคล้องกับกิจการของบริษัทแม่

ปัจจุบันรัฐวิสาหกิจทั้ง 55 แห่งของรัฐบาล มีบริษัทลูกรวมกันกว่า 100 บริษัท ซึ่ง คนร.ได้จัดกลุ่มบริษัทลูกดังกล่าว แบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ กลุ่มที่หนึ่ง เป็นบริษัทลูกที่วัตถุประสงค์สอดคล้องกับบริษัทแม่ และมีผลกำไรด้วย ซึ่งไม่ขัดกับนโยบายของ คนร. สามารถคงบริษัทลูกดังกล่าวไว้ได้

กลุ่มที่สอง เป็นบริษัทลูกที่แม้มีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับบริษัทแม่ แต่กลับมีผลดำเนินงานที่ขาดทุน เช่น บริษัทการบินไทยที่เป็นบริษัทแม่ของ Thai Smile ได้สั่งให้ทำแผนแก้ไขปัญหาการขาดทุน เสนอให้กระทรวงเจ้าสังกัดที่ดูแลรัฐวิสาหกิจแห่งนั้นๆ พิจารณา

กลุ่มที่สาม คือ เป็นบริษัทลูกที่ไม่สอดคล้องกับบริษัทแม่ แต่มีผลกำไร ก็มีนโยบายให้ลดสัดส่วนการลงทุนหรือถอนการลงทุนในบริษัทลูกนั้น

กลุ่มที่สี่ เป็นบริษัทลูกไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของบริษัทแม่ และมีผลขาดทุนด้วย ให้ลดการลงทุนหรือถอนการลงทุน

กลุ่มที่ห้า เป็นบริษัทลูกที่ตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์พิเศษ เช่น บริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ ของกรมธนารักษ์ ,บริษัทน้ำร้อนน้ำเย็น ของบริษัท ปตท. เป็นต้น ซึ่ง บริษัทลูกในกลุ่มนี้ คนร.มีมติให้คงการลงทุนไว้

นายเอกนิติกล่าวว่า การบริหารจัดการบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจ จะพุ่งเป้าไปที่บริษัทลูกไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของบริษัทแม่ ซึ่งมีบริษัทลูกในกลุ่มนี้ราว 44 แห่งจาก 100 กว่าแห่ง ซึ่ง คนร.ได้มีมติให้ถอนการลงในบริษัทลูกดังกล่าวไปแล้ว 15 แห่ง

“คนร.สั่งการให้รัฐวิสาหกิจที่ต้องลดสัดส่วนและถอนการลงทุนในบริษัทลูกจะต้องรายงานผลการดำเนินงานให้คนร.ทราบทุกๆ 3 เดือน โดยกลุ่มสามและสี่ที่ต้องลดสัดส่วนและถอนการลงทุนจำนวน 44 แห่งได้ปิดกิจการแล้ว 15 แห่ง”

ในอนาคต หากรัฐวิสาหกิจต้องการจัดตั้งบริษัทลูก จะต้องทำตามเงื่อนไขที่ สคร.กำหนดขึ้นมา และต้องให้ คนร. เห็นชอบ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินกิจการของรัฐวิสาหกิจ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ก่อตั้ง แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงการจัดตั้งบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นอำนาจของบอร์ดของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ แต่ก็ต้องมารายงานให้ สคร.รับทราบ

สำหรับหลักทรัพย์ที่กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่า 50 % นั้นที่มีราว 100 หลักทรัพย์ สคร. ก็มีนโยบายที่จะทยอยขายออกไป แต่ปัญหาคือ จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการประเมินราคาหลักทรัพย์ โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ จะต้องมีผู้ประเมินอิสระเข้ามาช่วยประเมินราคา เพื่อให้มีราคาอ้างอิง ขณะนี้มีราว 20 หลักทรัพย์ที่อยู่ในขั้นตอนการขาย