'หุ้นเทคนิค' ทางพิชิต 'กำไร' อิทธิยา ยอดวานิช

'หุ้นเทคนิค' ทางพิชิต 'กำไร' อิทธิยา ยอดวานิช

กว่าจะได้กำไรหุ้นครั้งแรก 'อิทธิยา ยอดวานิช' ต้องขาดทุนซ้ำซากท ว่าเมื่อหัน มาเอาดีทางเทคนิค 'พอร์ตหุ้นหลักสิบล้าน' สร้างได้ไม่ยาก

'การลงทุนให้ประสบความสำเร็จ บางครั้งจำเป็นต้องมีเพื่อนคู่คิดที่ไม่เอาเปรียบ และมีความคิดที่ต่าง'

'อิท-อิทธิยา ยอดวานิช' นักลงทุนแนวเทคนิค เจ้าของพอร์ตหุ้นหลักสิบล้าน ประจำบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย มีความเชื่อเช่นนั้น
ก่อนจะหันมาเอาดีบนเส้นทางการลงทุน ในอดีตทายาทคนสุดท้องของตระกูล จากจำนวนพี่น้องทั้งหมด 12 คน รับอาสาดูแลการผลิตเครื่องแบบทหาร ประจำโรงงานย่านนนทบุรีและจังหวัดชัยนาทของครอบครัว

ด้วยความที่คลุกคลีอาชีพค้าขายมาตั้งแต่วัยเยาว์ ทำให้ช่วงเวลาที่ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ด้านไฟแนนซ์และแมเนจเม้นท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอใช้เวลาส่วนหนึ่งในการขายสินค้าผ่านอีเบย์ แม้ช่วงนั้นการค้าขายผ่านระบบอินเตอร์เน็ตจะยังไม่เป็นที่นิยมมากนักก็ตาม

ถือเป็นการดำเนินชีวิต ตามคำสอนของผู้เป็นพ่อที่ว่า 'จงอย่าหยุดนิ่ง' ผลของการสวมวิญญาณแม่ค้าในช่วงนั้น ทำให้ได้ค่าขนมกลับมาเล็กน้อย
ชิมลางได้ไม่นาน เพื่อนคนไทยที่อาศัยอยู่ในนิวยอร์ก ชักชวนให้หันมาขายหนังสือเรียนต่างผ่านระบบอินเตอร์เน็ต แม้ช่วงแรกจะได้กำไรมากถึงหลักแสน แต่สุดท้ายก็ต้องเลิกทำ เพราะวอลุ่มการสั่งสินค้าไม่มากพอที่จะสร้างจุดคุ้มทุน

เป็นเหตุให้ตัดสินใจเบนเข็มสู่ 'อาชีพมนุษย์ครั้งแรก' แต่ทำได้เพียงปีกว่า ก็ตัดสินใจลาออกบินกลับเมืองไทย เพื่อช่วยกิจการครอบครัว หลังใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกานาน 3 ปี ปัจจุบันเธอส่งไม้ต่อให้เหล่าพี่ๆช่วยดูแลโรงงาน เพราะต้องการหันมาลงทุนในตลาดหุ้น และทำงานเกี่ยวกับการวางระบบซอฟแวร์เต็มตัว

'อิทธิยา' ในวัย 40 ปี เล่าจุดเริ่มต้นการลงทุนหุ้นแนวเทคนิคให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า แม้จะไม่มีความรู้เรื่องการลงทุนแม้แต่น้อย แต่ก็กล้าที่จะใส่เงินลงทุนสูงถึง 3 ล้านบาท เพื่อเล่นหุ้นครั้งแรกในปี 2547 เมื่อความรู้ติดลบ ตลาดหุ้นอยู่ในช่วงขาลง และเล่นแต่หุ้นปั่นล้วนๆ

ผลการลงทุนครั้งนั้น จึงหนีไม่พ้นคำว่า 'เจ็บตัว' สะท้อนผ่านผลขาดทุนหนักเฉลี่ย 30-40% หลังลงทุนมาได้เพียงครึ่งปี แม้จะเจ็บหนัก แต่ตอนนั้นกับมีความรู้สึกสนุกมากกว่าเสียดายเงิน นั่นอาจเป็นเพราะเงินตั้งต้นไม่สูงมากนัก ทำให้พอทำใจได้บ้าง

ผ่านมา 5 ปี หวนกลับเส้นทางลงทุนอีกครั้ง คราวนี้มาพร้อมเงินสะสมก้อนโต 'หลักสิบล้าน' แต่เนื่องด้วยความรู้เรื่องการลงทุน ไม่ได้เพิ่มพูนจากครั้งแรก แถมครอบครัวยังแอนตี้เรื่องการเล่นหุ้น หลังมีเชื่อว่า ตลาดหุ้นเหมือนการพนัน ทำให้ความสำเร็จจากการลงทุนในตลาดหุ้นไม่สามารถทำได้ไม่ง่ายนักในเวลานั้น

สุดท้ายตัดสินใจเปลี่ยนตลาดทำเงินใหม่ หันไปลงทุน 'ตลาดหุ้นสหรัฐ' ด้วยการซื้อ หุ้น บาร์นส์ แอนด์ โนเบิล ในฐานะธุรกิจเครือข่ายร้านหนังสือระดับยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา

แต่ผลการลงทุนยังคงมีหน้าตาเหมือนเดิม คือ 'ขาดทุน 20%' หลังลงทุนมาไม่ถึงปี เนื่องจากธุรกิจหนังสือเริ่มมีคู่แข่งเข้ามาแย่งมาร์เก็ตแชร์ โดยเฉพาะแบรนด์ Amazon ขณะที่ร้านหนังสือหลากหลายแห่งทยอยปิดกิจการ ด้วยความที่มีรายได้หลักจากการทำงาน ทำให้ไม่เครียดกับการขาดทุนมากนัก

เธอ เล่าต่อว่า ผ่านมาถึงปี 2557 ตัดสินใจลงทุนรอบสาม คราวนี้ใส่ทุนหนากว่าเดิม แต่การกลับมารอบนี้ เริ่มอ่านหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนมากขึ้น ก่อนจะประลองฝีมือในสนามจริง เช่น หนังสือเรื่องห่านทองคำ เป็นต้น เพราะตอนนั้นตั้งใจจะเปลี่ยนแนวลงทุนเป็น “นักลงทุนแนววีไอ” หรือ Value Investor

แต่เมื่อลองอ่านหนังสือแล้วกับมีความรู้สึกว่า การลงทุนแนววีไอ อาจไม่ถูกจริตกับตัวเอง ทำให้ตัดสินใจกับมาเล่นหุ้นปั่นอีกครั้ง ซึ่งผลลงทุนก็ออกมาติดลบหนักตามเคย (หัวเราะ)

เพราะเป็นคนกล้าได้กล้าเสีย ชอบตัวไหนอัดเต็มเหนี่ยว แม้ตลาดหุ้นแย่ พฤติกรรมเหล่านี้ ถือเป็นข้อเสียในช่วงนั้น เพราะการเทเงินหมดหน้าตัก ทั้งที่ตลาดไม่เอื้ออำนวย ก็จะทำให้ผลการลงทุนออกมาหน้าเศร้าใจเช่นนั้น

เมื่อถามถึงรายชื่อหุ้นที่เคยทำให้พอร์ตติดลบหนัก นักลงทุนเทคนิค ตอบว่า ตัวที่จำได้ขึ้นใจ คงหนีไม่พ้น หุ้น เอเชีย คอร์ปอเรท ดีเวลลอปเมนท์ หรือ ACD ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น หุ้น กรีน รีซอร์สเซส หรือ GREEN ซื้อ 12 บาท ผ่านมาไม่ถึงปีเหลือ 1 บาทกว่า เหตุผลที่ซื้อหุ้นตัวนี้เป็นเพราะมีคนแนะนำ ด้วยความเชื่อใจเจ้าภาพเลยอัดเงินเต็มที่

เจ้าของพอร์ตหลักสิบล้าน บอกว่า จุดเปลี่ยนการลงทุนเกิดขึ้นอีกครั้ง หลังจากผ่านการขาดทุนหนักจากหุ้น ACD มา 6 เดือน ตอนนั้นมีโอกาสลงเรียนคอร์สเรื่องการลงทุนแนวเทคนิคอย่างจริงจังกับ 'หนุ่ม-ศักดา แสงกุล' เมื่อเรียนไปได้สักระยะเริ่มรู้สึกสนุก

ทันทีที่จบคอร์ส ตัดสินใจต่อยอดความรู้การลงทุนทันที ด้วยการเข้าร่วมโครงการ KS Kampus ของบล.กสิกรไทย แต่เนื่องจากกระบวนการทางความคิดในขณะนั้นยังไม่ตกผลึกมากพอ ทำให้การลงทุนแนวเทคนิคไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในช่วงแรก สะท้อนผ่านผลขาดทุนหนักในหุ้นบางตัวเฉลี่ย 60%

แต่การเข้าร่วมโครงการ KS Kampus ทำให้มีโอกาสเจอเหล่านักลงทุนเก่งๆหลากหลายราย หนึ่งในนั้นได้กลายมาเป็นเพื่อนร่วมแก๊งลงทุน ซึ่งเขาเข้ามาปรับวิธีคิดของเราใหม่ทั้งหมด ด้วยการสอนให้รู้จักมีวินัยในการลงทุน และสร้างสมดุลทางอารมณ์ เพื่อนคนนี้ถือเป็นบุคคลต้นแบบในการลงทุนก็ว่าได้

ปัจจุบันแก๊งลงทุนจะมีด้วยกันสามคน 1 ใน 3 เป็นทายาทจิวเวอร์รี่ชื่อดัง (แอบบอกชื่อนอกรอบ) แต่ละคนจะมีกลยุทธ์การลงทุนที่แตกต่างกัน บางคนชอบเสี่ยงต่ำ เน้นเล่นหุ้นพื้นฐาน และกระจายการลงทุนไปทั่วโลก ขณะที่บางคนผสมผสานการลงทุน ทั้งแนวเทคนิคและวีไอ ซึ่งวิธีการลงทุนที่ไม่เหมือนกันจะทำให้หุ้นในพอร์ตมีหน้าตาที่แตกต่างกันไป ไม่กระจุกตัวอยู่ในประเภทใดประเภทหนึ่ง

สำหรับวิธีการลงทุนในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะลงทุนตามสูตรสแกนหุ้นที่สร้างขึ้นมาเอง หลังลงคอร์สเรียนกับ 'โฉลก สัมพันธารักษ์' หรือ ลุงโฉลก นาน 3 เดือน ซึ่งการลงทุนตามสูตร ทำให้พอร์ตลงทุนมีกำไรเป็นครั้งแรก การลงทุนในลักษณะนี้ บวกกับมีเพื่อนช่วยคิด ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้องที่สุดสำหรับตัวเอง

'การมีเพื่อนช่วยคิดจะทำให้เดินเร็วขึ้น อย่างน้อยก็จะมีคนช่วยปูพื้นฐาน หรือคอยแนะนำวิธีลงทุนในยามที่คิดไม่ออก'

กระบวนการความคิดที่ดีต่อการลงทุนต้องมีลักษณะเช่นไร เธอ ตอบคำถามนี้ว่า ข้อแรก ความคิดห้ามแกว่ง ตามภาวะตลาดที่ผันผวน ข้อสอง ต้องวาง 'จุดตัดขาดทุน' ให้ชัดเจน ส่วนตัวยอมรับการขาดทุนได้ไม่เกิน 7-8% และ ข้อสาม ต้องศึกษากราฟแท่งให้รู้แจ้ง

เมื่อกระบวนการความคิดเข้าที่เข้าทาง การลงทุนก็จะเริ่มประสบความสำเร็จมากขึ้น แม้จะไม่ได้มีผลตอบแทนมากมาย แต่อย่างน้อยก็ไม่ต้องไปนั่งถามหาวิถีการลงทุนจากนักลงทุนคนอื่นบ่อยๆ จนสร้างความรำคาญใจ

หลังมายเซ็ทถูกปรับมาในทางที่ถูกต้อง ก่อนลงทุนหุ้นหนึ่งตัวจะต้องดู 'กราฟหุ้นเป็นอันดับแรก' เมื่อทรงสวย ก็ไปสำรวจปัจจัยพื้นฐานต่อ โดยเฉพาะงบการเงิน จำพวกยอดขายและกำไร เป็นต้น

ขณะเดียวกันต้องสำรวจ “อัตราส่วนทางการเงิน” ด้วย โดยเฉพาะอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ ROE และอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ หรือ ROA หากมีอัตราเกิน 15% ถือเป็นหุ้นที่น่าลงทุนตัวหนึ่ง ส่วนปัจจัยภายนอกไม่ควรละเลย ดูคร่าวๆ ให้พอรู้ ถ้าพบความเสี่ยงต้องรีบปิด

'หุ้นที่ดีไม่ควรมีค่า P/E เกิน 30 เท่า แต่ถ้าเกินต้องกลับไปดูพื้นฐานว่าเป็นเพราะอะไร หรือธุรกิจกำลังเทิร์นอะราวด์' 

นักลงทุนเทคนิค ยอมรับว่า ก่อนหมดปี 2559 มีผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ย 10% หลังลงทุนตามสูตรสแกนหุ้นที่สร้างขึ้นมา หุ้นที่สร้างกำไรสูงสุด เช่น หุ้น บ้านปู หรือ BANPU หลังทุ่มเงินซื้อครึ่งพอร์ต ก่อนบริษัทจะจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (Warrant) ถือลงทุนได้เพียง 3 เดือนก็ได้กำไรแล้ว (ต้นทุน 16 บาท)

หุ้นอีกตัวที่สร้างกำไรโดดเด่น คือ หุ้น วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย หรือ VGI เล่นมาตั้งแต่หุ้นละ 3-4 บาท หลังมีสตอรี่ที่ดีสนับสนุน ส่วนตัวขาดทุนก็มีเหมือนกัน แต่ไม่หนักเหมือน 2 ปีก่อน เพราะตัดขายทำกำไรเร็ว และเริ่มทยอยลดการลงทุนจาก 'ร้อยเปอร์เซ็นต์' เหลือเฉลี่ย 40% หลังมีปัจจัยลบรอบด้านคอยกดดันตลาดหุ้นเมื่อปีก่อน

ก่อนหน้านี้เคยชอบ หุ้น การบินกรุงเทพ หรือ BA เพราะกราฟทรงสวย แต่สถานการณ์เซอร์ไพรส์มักทำให้หุ้นการบินเป๋ ส่วนตอนนี้กำลังสนใจหุ้นตัวไหน ขอไม่บอกดีกว่า เพราะไม่ใช่คนเก่ง พูดไปอายคนเก่งเปล่าๆ (หัวเราะ)

บอกได้เพียงว่า ถ้าหุ้นตัวไหน พื้นฐานดี กราฟสวย จะถือนานมาก บางตัวยาวครึ่งปี

ที่ผ่านมาเริ่มสนใจการลงทุนในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) เพราะเล่นง่าย ไม่ใครคุมราคา ไม่เหมือนตลาดหุ้น ซึ่งการลงทุนในลักษณะนี้ เหมาะกับทั้งตลาดขาขึ้นและขาลง ช่วงแรกของการลงทุน ถือว่า ได้กำไรค่อนข้างดี

หลังแบ่งเงินมาลงทุนสัดส่วนประมาณ 6-7% แต่การลงทุน TFEX ค่อนข้างอันตราย สำหรับมือใหม่หัดเทรด เพราะราคาขึ้นลงเร็วมาก ซื้อเช้าบ่ายกำไรเป็นแสน แต่พอลงกำไรหายไปสองแสน

อิทธิยา ทิ้งท้ายบทสนทนาว่า เปรียบตัวเองเป็นนักลงทุนพันธุ์ผสมระหว่างวีไอและเทคนิค แต่จะเอียงไปเทคนิคมากถึง 80% ในฝั่งของการลงทุนแนววีไอ ใจจริงต้องการยกหุ้น บ้านปู ให้อยู่ในฟากของการลงทุนระยะยาว

เพราะตั้งแต่บริษัทหันมาให้น้ำหนักในธุรกิจไฟฟ้ามากขึ้น ฐานะการเงินเริ่มมีทิศทางที่ดี ขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนผ่านการพลิกขาดทุน 1,534 ล้านบาท ในปี 2558 เป็นกำไรสุทธิ 1,677 ล้านบาท ในปี 2559

ปัจจุบันยังสนใจลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐเหมือนเดิม ล่าสุดพอร์ตหุ้นยืนอยู่ระดับสิบล้านบาท ก่อนหน้านี้ได้กำไร หุ้น อาลีบาบา ของ 'แจ็ค หม่า' ค่อนข้างมาก ผลมาจากการอัดเต็มพอร์ต หลังเชื่อมั่นว่า อีคอมเมิร์ซจะมาแรง

'หุ้นมีเจ้าเราไม่สนใจ เพราะไม่รู้จักเขา ยิ่งหุ้นที่มีข่าวมากๆ ยิ่งไม่สนใจ แต่ถ้าหุ้นเพิ่งมา และมีวอลุ่ม ลักษณะนี้น่าลงทุนมากกว่า ตลอดการลงทุนในตลาดหุ้น เรื่องหนึ่งที่แก้ยากมาก คือ ความใจร้อน จากนี้จะพยายามลดดีกรี เพราะต้องการเห็นพอร์ตหุ้นขยับขึ้นปีละเฉลี่ย 15-20% ได้เท่านี้ ก็ดีใจมากแล้ว'