คุณค่าของโลกสีหม่นในหนังสือเด็ก

คุณค่าของโลกสีหม่นในหนังสือเด็ก

เพราะเส้นแบ่งระหว่างสีขาวกับดำ มีโทนสีหม่นอยู่นับล้านเฉด หากนิทานและวรรณกรรมเยาวชนจะไม่ “ใส” ก็เหมาะแล้วสำหรับโลกใบนี้

เรื่องเล่า นิทาน วรรณกรรมเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ผู้ใหญ่ใช้กล่อมเกลาเด็กๆ ให้เติบโตขึ้นมาหลายยุคหลายสมัย ไม่ว่าในที่สุดแล้วเขาจะโตขึ้นมาเป็นคนรักการอ่านหรือไม่ เรื่องเล่าเหล่านั้นก็มีส่วนร่วมในการปลูกฝังวิธีคิด วิธีรับมือกับโลกเมื่อเติบโตขึ้นมา นิทานและวรรณกรรมเยาวชนจึงมีความสำคัญ แม้ในปัจจุบันซึ่งมีหลากตัวเลือกให้เสพก็ตาม

บางคนอาจเข้าใจว่านิทานและวรรณกรรมเยาวชนควรจบอย่างมีความสุข หรือบริสุทธิ์สวยใสไม่ทำให้เด็กๆ เก็บไปฝันร้าย เกิดมลทินในจิตใจ หรือควรจะมีไว้เพื่อ “สั่งสอน” ให้เด็กเดินไปในทางวางไว้ จึงมีการแสดงความกังวลต่อความ “ดาร์ค” ในวรรณกรรมเยาวชนตลอดมา อย่างที่โรอัลด์ ดาห์ล นักเขียนวรรณกรรมเยาวชนเลื่องชื่อ ที่เคยถูกแบนมาแล้ว แม้เรื่องราวจะแฟนตาซี แต่พลอตนำเสนอความจริงอันโหดร้ายแบบไม่ประนีประนอมต่อตัวละครที่เป็นเด็ก แก่นเรื่องแบบนั้นสร้างความกังวลให้แก่ผู้ปกครองเสมอ แต่ขณะเดียวกันการไม่อ่อนข้อให้ก็ได้รับการยกย่องในโลกวรรณกรรม ไปจนถึงได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์หลายเรื่อง

เรื่องร้ายในหนังสือเด็ก

ความจริงแล้ว เรื่องปรัมปราที่เล่ากันปากต่อปากจนกลายเป็นนิทานนั้น เต็มไปด้วยเรื่องโหดร้ายและปลูกฝังความกลัว นิทานแบบนี้มีอยู่ในทุกสังคม ทุกวัฒนธรรมทั่วโลก ด้วยว่าสัญชาตญาณระวังภัยเพื่อมีชีวิตอยู่รอดอันเป็นจุดมุ่งหมายหลักของความเป็นมนุษย์ ได้สร้าง “ความกลัว” ขึ้นมาเป็นสัญญาณเตือนภัยตามธรรมชาติ เรื่องเล่าปรัมปราเหล่านั้นได้เตือนให้เด็กระวังอันตรายหลักๆ ที่มีผลถึงชีวิตที่เด็กอาจพบได้เสมอ เช่น การออกนอกบ้านตอนกลางคืน การถูกลักพาตัว การถูกทำร้ายโดยคนแปลกหน้า ฯลฯ จึงมีพลอตเรื่องแบบสัตว์ประหลาดกินเด็ก ยักษ์ที่อาศัยอยู่ในหุบเขา เป็นต้น ส่วนพลอตแบบ แม่มดที่สาปเด็กหรือหญิงสาวสวย แม่เลี้ยงใจร้าย ฯลฯ นั้นเตรียมเด็กให้พร้อมเผชิญความโหดร้ายในโลกของผู้ใหญ่ ทั้งการเอารัดเอาเปรียบ ความอิจฉาริษยา การชิงดีชิงเด่น เป็นต้น

หนังสือสำหรับเด็กยุคต่อมา ความโหดร้ายไม่ได้มีเพียงการระวังอันตรายถึงชีวิตเท่านั้น แต่ได้เพิ่มแง่มุมที่ซับซ้อนมากขึ้นไปตามสภาพสังคม ไม่ว่าเรื่องเพศ สงคราม คนพิการ ครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์แบบ หรือเด็กที่ต้องรับมือกับพ่อแม่ที่มีอาการทางจิต เช่น หนังสือเด็กเรื่อง “Sometimes My Mom gets Angry” ของ Bebe Moor Campbell เล่าเรื่องของเด็กหญิงแอนนี่ที่มีแม่ใบเลี้ยงเดี่ยวเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย แอนนี่ต้องดูแลตัวเองเหมือนผู้ใหญ่ ทำอาหารเช้าให้ตัวเอง กล่อมตัวเองเข้านอน และรับมือกับอารมณ์รุนแรงของแม่ มันไม่ง่ายเลยสำหรับเด็ก แต่โชคดีที่แอนนี่มียายคอยโทรมาคุยด้วย มีเพื่อนตลกๆ ที่คอยให้กำลังใจ หนังสือเรื่องนี้ไม่ได้ช่วยเหลือแอนนี่ออกมาจากสถานการณ์นั้น แต่เสนอทางเลือกที่เด็กๆ สามารถแบ่งเบาปัญหาไปสู่คนรอบข้างได้ และเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้คิดต่อหากตัวเองต้องเป็นแบบแอนนี่

เตรียมพร้อมเด็กสู่โลกผู้ใหญ่

การสะท้อนปัญหาสังคมในหนังสือสำหรับเด็กนั้นถือเป็นเรื่องพึงกระทำ เพราะเด็กๆ ไม่ได้เติบโตมาเพื่อจะอยู่ในเรือนกระจกที่ได้รับการปกป้องอย่างดี แต่ความเป็นจริงบนโลกคือสิ่งที่เขาต้องรับมือ แม้จะเป็นความจริงในอีกซีกโลกก็ตาม เพราะโลกปัจจุบันที่เชื่อมถึงกันหมดแล้ว

“ตอนนี้เทรนด์การเขียนของญี่ปุ่นมันจะพูดถึงครอบครัวที่เป็นพ่อหรือแม่ซึ่งเลี้ยงลูกคนเดียว ปัญหาความยากจน สังคมเสื่อมถอย พูดถึงกันเป็นเรื่องปกติ” เคียวโกะ ฮะมะโนะ กล่าว

ฮะมะโนะเป็นนักเขียนวรรณกรรมเยาวชนที่มีผลงานมากมายนับตั้งแต่ได้รับรางวัลดีเด่นจากการประกวดวรรณกรรมเยาวชนของสำนักพิมพ์ไมนิจิเมื่อปี 2002 และเป็นหนึ่งในนักเขียนที่มาร่วมงานเสวนา 'เหตุไฉนเราถึงเขียนหนังสือเพื่อเด็กๆ’  จัดโดยเจแปน ฟาวเดชั่น  ฮะมะโนะไม่มีลูก เธอจึงไม่เคยเล่าด้วยมุมของแม่และผู้ใหญ่ แต่เธอเลือกที่จะเป็นเด็กเสมอ และเขียนหนังสือเด็กขึ้นมาเพราะคิดย้อนไปว่าสมัยเด็กนั้นเธอต้องการหนังสือแบบไหน ฮะมะโนะเลือกค้นคว้า “เรื่องจริง” ที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างจริงจัง ยกตัวอย่างประเด็นหนึ่งในสังคมญี่ปุ่น คือการที่ประเทศญี่ปุ่นไม่มีทหารหรือกองทัพ แต่มีกองกำลังป้องกันตนเอง และแม้ไม่ค่อยมีคนรู้จัก ก็มีโรงเรียนเฉพาะทางเพื่อการนี้ จากการหาข้อมูลเธอได้เห็นมุมมองเกี่ยวกับสังคม การเมือง สงคราม และสันติภาพจากเด็กผู้ชายกลุ่มหนึ่ง ฮะมะโนะคิดว่าวรรณกรรมเยาวชนในญี่ปุ่นนั้นสะท้อนภาพความเป็นจริงของสังคมกันเป็นเรื่องปกติ อย่างเรื่องผลกระทบการถูกระเบิดนิวเคลียร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลาย

สงคราม คือประเด็นใหญ่ที่อาจเป็นตัวแทนของประเด็นความรุนแรงอื่นๆ เช่น เพศ และอาชญากรรม ที่เหล่าผู้ปกครอง ครู และคนในวงการหนังสือเด็กถกเถียงกันอย่างมากว่าควรหรือไม่ที่จะเสนอเรื่องนี้ให้เด็กๆ รับรู้

ดร.บรอนวิน ที. วิลเลี่ยมส์ (Dr. Bronwyn T. Williams) ศาสตราจารย์ภาษาอังกฤษและการเขียน ผู้อำนวยการศูนย์การเขียน แห่งมหาวิทยาลัยหลุยส์วิลล์ บอกว่า “สำหรับคนที่คิดจะปิดหูปิดตาเด็กๆ ออกจากความรุนแรงต่างๆ ต้องรู้เอาไว้ว่าเด็กๆ มีพลังจินตนาการอย่างมากถึงสถานการณ์ที่เลวร้าย เคยมีเคสหนึ่งของคุณแม่ผู้พยายามทุกอย่างที่จะไม่ซื้อของเล่นที่เกี่ยวกับปืนเลย เพียงเพื่อจะพบว่าลูกชายออกไปเล่นกับเพื่อนโดยหยิบกิ่งไม้มาทำท่ายิงและเลียนเสียงปืน” ฉะนั้น หนังสือเด็กจึงไม่ใช่ตัวการสร้างความรุนแรง และป่วยการที่จะปิดบังเด็กๆ ออกจากเรื่องนี้ เพราะเรื่องรุนแรงมักดึงดูดเด็กเสมอ (ไม่ต่างจากผู้ใหญ่) แต่ควรนำเสนออย่างมีศิลปะ

เจนนิเฟอร์ อาร์มสตรอง (Jennifer Armstrong) นักเขียนวรรณกรรมเยาวชนชาวอเมริกันอ้างผลสำรวจของ UN ว่ามีเด็กที่ได้รับผลกระทบและเสียชีวิตในสงครามมากกว่าทหารที่เข้ารบเสียอีก ฉะนั้น เราจะกันประเด็นสงครามออกจากการรับรู้ของเด็กได้อย่างไร “ถ้าเราไม่เผชิญหน้ากับสงครามอย่างเหมาะสม ด้วยการให้มีประสบการณ์ผ่านศิลปะและวรรณกรรม แล้วเราจะเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้เรื่องนี้อย่างไร การอ่านเรื่องเกี่ยวกับสงครามไม่ได้แปลว่าจะต้องได้รับอิทธิพลจากสงคราม แต่มันคือวิธีที่จะเรียนรู้เรื่องที่อยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่ยุคสงครามกรุงทรอย วิธีที่ดีที่สุดที่จะสอนเรื่องสันติภาพก็คือให้เด็กๆ อ่านหนังสือเกี่ยวกับสงคราม”

นักเขียนย่อมมีศิลปะในการใช้อุปมาอุปไมยวางพลอตเรื่อง เพื่อเสนอแนววิธีคิด ทางเลือกที่เป็นไปได้ ตัวอย่าง หนังสือเด็กเรื่อง Smokey Night โดย Eve Bunting ว่าด้วยการจลาจลในลอสแอนเจลิสซึ่งเกิดขึ้นจริงในช่วงต้นยุค 90s ผ่านสายตาของเด็กชายแดเนียล ท่ามกลางควันปืน การปล้นสะดม และความเกลียดชังของฝ่ายตรงข้าม แมวของเพื่อนบ้านก็หายไป กลายเป็นว่าทั้ง 2 ฝ่ายกลับค่อยๆ ช่วยกันตามหาแมว และแมวก็กลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนทั้ง 2 ฝ่ายเรียนรู้วิธีที่จะประนีประนอมกันได้ ซึ่งหนังสือเรื่องนี้ก็เป็น 1 ใน 100 หนังสือที่สรุปความคิดแห่งศตวรรษ 1990 โดยการคัดเลือกของ School Library Journal จัดว่าเป็นหนังสือเด็กที่ปูทางให้แก่หนังสือภาพที่มีเนื้อหาจริงจังไปด้วยในตัว

ไม่สั่งสอน แต่เสนอทางเลือกให้คิด

หนังสือเด็กมีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ของเด็กก็จริง แต่ไม่ใช่เพื่อการ “สั่งสอน” เสมอไป หนังสือเด็กสามารถชี้ให้เห็นแนวทางและผลลัพธ์ที่ตามมา หนังสือสำหรับเด็กเล็กมีสิ่งที่ทำได้และไม่ได้ตายตัว (เช่น หากทำแบบนี้อาจเกิดอันตรายได้) แต่สำหรับเด็กโตควรมีทางที่ชวนให้คิดต่อ

“ในวงการวรรณกรรมญี่ปุ่นค่อนข้างจะติเตียนหนังสือที่สั่งสอนเด็กด้วยมุมมองของผู้ใหญ่” โซะโกะ จินซะกิ นักวาดภาพประกอบ นักเขียน และกวี ผู้ได้รางวัลยอดเยี่ยมสำหรับวรรณกรรมเยาวชนจากสำนักพิมพ์โคะดันชะ เธอเสริมว่า “ความคิดที่อยากให้เด็กๆ โตมาเป็นแบบนั้นแบบนี้คือการจำกัด ในฐานะนักเขียน วรรณกรรมเยาวชนนั้นเป็นพื้นที่ที่ให้เราเสมอมุมมองในทางกลับกัน เพราะเป็นเด็กเลยสามารถเห็นต่าง วิพากษ์วิจารณ์การกระทำของผู้ใหญ่ได้ รวมถึงทำให้มันเป็นเรื่องตลกก็ได้” ฉะนั้น นักเขียนหนังสือเด็กหลายคน จึงถอดความเป็นผู้ใหญ่และสวมหัวใจเด็กในการเขียน

สำหรับเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กผู้ชายมักจะสนใจเรื่องรุนแรงเสมอ อาร์มสตรอง เพิ่มเติมว่า “วรรณกรรมเยาวชนที่สอดแทรกเรื่องรุนแรงเอาไว้ มีประโยชน์ในแง่การสอนให้เด็กๆ รับมือกับความขัดแย้งใดๆ ก็ตามในชีวิตของพวกเขาเอง” และสิ่งที่เธอมักเจอเสมอในการสอนคือ เด็กผู้ชายมักอยากจะทำเรื่องแรงๆ หลายอย่าง โดยจินตนาการไม่ออกถึงผลที่ตามมา ส่วนหนึ่งคือเด็กนั้นขาดประสบการณ์ แต่พวกเขาสามารถเรียนรู้ผ่านหนังสือได้ หนังสือเด็กที่ทำให้เขาเห็นภาพความรุนแรง สาเหตุ ผลลัพธ์ และทางออกต่างๆ จะช่วยปลูกฝังวิธีการจัดการกับความขัดแย้งและเรื่องราวที่ไม่คาดคิดได้ดีขึ้น

จะหม่นหมองอย่างไรต้องเหลือความหวัง

ในเมื่อโลกที่เราอาศัยอยู่นั้นเต็มไปด้วยเรื่องราวหลากสี เมื่อดูจากสถานการณ์โดยรวมของโลกปัจจุบัน สีหมองหม่นอาจจะเป็นโทนหลักที่เราสัมผัสได้มากที่สุด การแต่งเติมให้เด็กมอง “โลกสวย” เป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการให้เขามองเห็น แล้วเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อมกับ “โลกแห่งความจริง”

“หนังสือเด็กมีแนวเศร้าแนวหม่นหมองอยู่แล้ว มีแน่นอน แต่จะโหดร้ายอย่างไรก็ตามต้องไม่ทำลายความหวังจนหมดสิ้น ต้องมีความหวังบางอย่างหลงเหลืออยู่” ฮะมะโนะ กล่าว