บิ๊กธุรกิจกว่า10 รายสนชิงที่ดินสถานทูตออสเตรเลีย

บิ๊กธุรกิจกว่า10 รายสนชิงที่ดินสถานทูตออสเตรเลีย

“เจแอลแอล” ชี้ที่ดินสถานทูตออสเตรเลีย บนถนนสาทร ได้รับความสนใจซื้อสูง กลุ่มธุรกิจรายใหญ่กว่า 10 ราย สนใจร่วมเสนอราคา

นางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ เจแอลแอล บริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่าในฐานะตัวแทนแต่เพียงผู้เดียวในการจัดหาผู้ซื้อให้กับที่ดินบนถนนสาทรของสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ขณะนี้มีผู้แสดงความสนใจ ที่จะยื่นข้อเสนอซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวแล้วมากกว่า 10 ราย บริษัทคาดด้วยว่าจะมีผู้แสดงความจำนงเพิ่มอีกก่อนถึงกำหนดปิดรับ

สำหรับที่ดินแปลงดังกล่าว ซึ่งมีเนื้อที่ 7 ไร่ 382 ตารางวา ได้รับการเสนอขายโดยกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย ตามที่สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำกรุงเทพฯ เตรียมย้ายไปยังที่ทำการใหม่ใกล้สวนลุมพินีในเร็วๆ นี้

“ดังที่คาดไว้ ที่ดินสถานทูตออสเตรเลียบนถนนสาทร ที่กำลังเสนอขายอยู่ในขณะนี้ มีผู้แสดงความสนใจซื้อเข้ามาสูง เนื่องจากเป็นโอกาสที่หาได้ยากที่จะมีที่ดินแปลงใหญ่เสนอขายกรรมสิทธิ์ขาดในย่านใจกลางธุรกิจของกรุงเทพฯ”

ทั้งนี้ ผู้ที่แสดงความสนใจซื้อ ขณะนี้ประกอบด้วยบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งที่อยู่ในและนอกตลาดหลักทรัพย์ ตลอดรวมจนถึงสถาบันการเงิน และบริษัทระหว่างประเทศ ที่สนใจใช้ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นสถานที่ก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานใหญ่ ทั้งหมดล้วนมีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับการเข้าร่วมเสนอราคา ทั้งในแง่ของความเข้มแข็งทางการเงินและความมีชื่อเสียง

นอกเหนือจากการตั้งอยู่บนทำเลชั้นดีของถนนสาทร รูปแปลงที่ดินที่มีลักษณะสีเหลี่ยมผืนผ้า หน้ากว้างติดถนนประมาณ 70 เมตรและลึกประมาณ 160 เมตร เป็นหนึ่งในจุดเด่นสำคัญที่ผู้สนใจซื้อให้คุณค่ามากที่สุดกับที่ดินแปลงนี้ เนื่องจากทำให้โครงการอสังหาริมทรัพย์ใดๆ ที่จะสร้างขึ้นบนที่แปลงนี้ จะสามารถได้รับประโยชน์สูงสุดจากผังเมืองของกรุงเทพมหานคร ซึ่งกำหนดให้สาทรเป็นพื้นที่ประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก และอนุญาตให้สร้างอาคารสูงในอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (Floor Area Ratio: FAR) สูงเต็มเพดาน 10 ต่อ 1

การเสนอขายที่ดินแปลงดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยใช้วิธีเปิดให้ผู้สนใจซื้อยื่นเสนอราคา และมีกำหนดปิดรับข้อเสนอในเดือนมิถุนายนนี้

นางสุพินท์ กล่าวว่าหลังการปิดรับข้อเสนอ จะมีขั้นตอนอื่นๆ ตามมาอีก อาทิ การคัดกรองผู้เสนอราคา การเจรจาข้อตกลงการซื้อขาย การจัดเก็บเงินมัดจำ และการตรวจสอบสินทรัพย์ เป็นต้น ดังนั้นจึงคาดว่า ธุรกรรมการซื้อขายจะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งจะเป็นการยืนยันด้วยว่าบริษัทใดเป็นผู้ชนะการเสนอซื้อในครั้งนี้