'กลต.'เมินตัดสินไอเฟค

'กลต.'เมินตัดสินไอเฟค

กลต.เมินตัดสิน "ไอเฟค" โยนผู้ถือหุ้นชี้ชะตา รับตรวจสอบข้อร้องเรียนเอแคป

ก.ล.ต.รับไม่มีอำนาจชี้ขาดปัญหาไอเฟค ชี้ผู้ถือหุ้นควรเป็นผู้ตัดสิน ส่วนกรณีเอแคปอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อร้องเรียน ขณะที่“ทวิช”ประกาศไม่เข้าร่วมประชุมบอร์ด พร้อมประกาศไม่คิดขายหุ้น ด้านผู้บริหารเชื่อปล่อยกู้ตามกฎหมาย แจงยอดสินเชื่อล่าสุด 77 ล้านบาท

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า กรณีปัญหาของบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)IFECนั้น ก.ล.ต.ยังให้อำนาจการบริหารจัดการของผู้บริหารไอเฟคเป็นไปตามขั้นตอนของบริษัทจดทะเบียน ในกรณีการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการบริษัทต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น แม้ว่าในปัจจุบันผู้บริหารบริษัททั้ง 2 ฝ่ายยังมีปัญหาขัดแย้งกันอยู่ก็ตาม แต่ก.ล.ต. ก็ไม่มีอำนาจเข้าไปก้าวก่ายเรื่องภายในบริษัท

ทั้งนี้ ก.ล.ต. แนะนำไปยังผู้ถือหุ้นควรจะต้องออกมาใช้สิทธิ์ เพื่อเลือกกรรมการบริษัทที่มีความเหมาะสม ลดปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และ เข้าสู่ขั้นตอนการจดทะเบียนกรรมการกับกระทรวงพาณิชย์

“ก.ล.ต.ไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปปฏิวัติเรื่องภายในของบริษัท เพราะว่าเป็นสิทธิ์ของผู้ถือหุ้นที่จะต้องไปออกเสียงเลือกฝั่งที่ตัวเองคิดว่าเหมาะสม และ นำกรรมการไปจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ตามขั้นตอน แต่หากเรื่องนี้ยังไม่จบกระบวนการทุกอย่างก็จะวนเวียนอยู่แบบนี้ไม่จบก็ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งให้ผู้ถือหุ้นจะต้องพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบ”

สำหรับกรณีของบริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ACAP นั้น ก.ล.ต.ได้รับหนังสือร้องเรียนจากผู้เสียหายแล้ว แต่ขั้นตอนต่าง ๆ ก.ล.ต.ยังไม่ได้เข้าไปตรวจสอบอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ก.ล.ต. ยังรอให้บริษัทดังกล่าวออกมาชี้แจงก่อน ซึ่งขณะนี้ก.ล.ต.ไม่มีอำนาจในการตัดสิน

นายทวิช เตชะนาวากุล ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFECกล่าวว่าโดยส่วนตัวและกรรมการในฝั่งของผู้ถือหุ้นใหญ่จะไม่เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริษัท IFEC เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร IFEC กระทำการหลายอย่างที่ขัดหลักกฎหมาย และขัดหลักธรรมาภิบาล มาโดยตลอดทำให้ไม่ไว้วางใจที่จะเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการ

"ส่วนตัวยินดีเข้าร่วมประชุมกรรมการบริษัทแต่ต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย และยึดหลักธรรมาภิบาล ไม่ใช่ส่งแค่กระดาษแผ่นเดียวเรียกประชุมคณะกรรมการ โดยไม่มีเอกสารประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม ขอยืนยันว่าไม่ต้องการขัดขวางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นใน IFEC เพราะยิ่งสถานการณ์ยืดเยื้อยาวนานออกไป คนที่เสียหายที่สุดคือผู้ถือหุ้นทุกคน และคนที่จะเสียหายหนักที่สุดก็คือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ”

อย่างไรก็ตาม ถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอย่างสำนักงานก.ล.ต  และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องเข้ามาจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้ถือหุ้นเสียงข้างน้อยใช้วิธีการที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการลงคะแนนเสียงแบบ Cumulative Voting จนได้มาซึ่งกรรมการเสียงข้างมาก

นอกจากนี้ตัวเองไม่เคยมีแนวคิดที่จะขายหุ้นไอเฟคออกมา และพร้อมซื้อหุ้นเพิ่มเติม หากนายวิชัยต้องการขายหุ้นในสัดส่วนที่ถืออยู่ออกมาทั้งหมด เพื่อที่จะเดินหน้าแก้ปัญหาและฟื้นฟูกิจการบริษัทให้เป็นไปอย่างราบรื่น และกลับมาแข็งแกร่งดังเดิม

เอแคปปล่อยกู้“โอริออน”ตามกฎ

นางสาวสุกัญญา สุขเจริญไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ACAP กล่าวว่ากรณีที่มีผู้ถือหุ้นบริษัท โอริออน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในภาคตะวันออก ในวงเงิน 300 ล้านบาทนั้น บริษัทขอชี้แจงการปล่อยสินเชื่อนั้น ถูกต้องตามกฎหมาย การทำธุรกรรมนั้นมีผู้ถือหุ้นของบริษัทเข้ามาทำรายการและแสดงหลักฐานก่อนการกู้เงิน

“การปล่อยสินเชื่อในส่วนดังกล่าว บริษัทขอยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบของบริษัทและถูกต้องตามกฎหมาย โดยในการทำสัญญานั้นผู้ถือหุ้นและผู้บริหาร ได้เข้ามาแสดงตัว และรับทราบการทำธุรกรรมและแสดงหลักฐานทุกอย่างให้บริษัทได้พิจารณา”

ทั้งนี้ การปล่อยสินเชื่อนั้นผู้กู้ได้เข้ามาขอสินเชื่อ เพื่อนำไปใช้ก่อสร้างโครงการ โดยมีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเข้ามาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งบริษัทได้ว่าจ้างที่ปรึกษาอิสระเป็นผู้ประเมินและพบว่า ครอบคลุมกับมูลค่าหนี้ที่บริษัทจะดำเนินการปล่อยสินเชื่อให้ โดยในการปล่อยกู้ในเบื้องต้น บริษัทได้ดำเนินการไปแล้ว 77 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินจำนวน 70 ล้านบาท เพื่อชำระให้กับเจ้าหนี้ที่บริษัทนำโฉนดโครงการไปจำนองไว้ และอีก 7 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินงวดแรกสำหรับการดำเนินงานก่อสร้าง โดยสั่งจ่ายไปยังบริษัทซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งทางผู้กู้ได้รับทราบอยู่แล้ว

ภายหลังจากการปล่อยกู้นั้น มีผู้ร้องเรียนไปยังสำนักงานก.ล.ต.ซึ่งได้มีการสอบถามมายังบริษัทและให้ดำเนินการชี้แจงให้กับผู้ถือหุ้นรับทราบแล้ว รวมทั้งบริษัทได้ชี้แจงเรื่องดังกล่าวให้กับก.ล.ต.รับทราบ พร้อมกับชี้แจงข้อมูลผ่านระบบของตลาดหลักทรัพย์มาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของบริษัทหลังจากนี้นั้น คงไม่สามารถปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมให้กับบริษัท โอริออนได้อีกเพราะบริษัทได้ผิดสัญญาที่ได้ทำกับบริษัท โดยสัญญาที่ทำไว้แบ่งเป็น 3 ส่วน คือสัญญากู้เงิน สัญญาจำนอง และสัญญาเกี่ยวกับหุ้น 

หากผิดข้อใดข้อหนึ่งจะถือว่าบริษัทได้ผิดชำระหนี้กับบริษัทเอแคปทันที ซึ่งหลังจากนี้ บริษัทจะดำเนินการยึดทรัพย์สินที่ทางลูกหนี้นำมาค้ำประกันไว้ ส่วนจะต้องตั้งสำรองหรือไม่นั้น บริษัทมองว่าไม่มีความจำเป็น เนื่องจากสินทรัพย์ค้ำประกันมีมูลค่าที่สูงกว่าเพียงพอต่อยอดของหนี้อยู่แล้วจึงไม่กังวล