ชงกรศ.เคาะ 'พีพีพีอีอีซีฟาสต์แทรค'

ชงกรศ.เคาะ 'พีพีพีอีอีซีฟาสต์แทรค'

เสนอกรศ.เคาะ “พีพีพีอีอีซีฟาสต์แทรค” ปลายเดือนนี้ พร้อมดึงเอกชนลงทุน 3 โครงการใหญ่ สนามบินอู่ตะเภา-ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3-รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าภายในเดือน พ.ค.นี้ทางคณะทำงานพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะเสนอรายละเอียดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานระยะเร่งด่วนในพื้นที่อีอีซี ที่ต้องใช้รูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการของรัฐ (พีพีพี) ให้กับคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) รับทราบก่อนที่จะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายอีอีซี ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้สาระสำคัญของพีพีพีที่จะใช้ในโครงการอีอีซี คือการลดระยะเวลาของโครงการตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงการเปิดประมูลโครงการให้เหลือ 8 -10 เดือน ซึ่งจะเร็วกว่าขั้นตอนของการจัดทำโครงการแบบพีพีพีฟาสต์แทรค ที่ใช้ระยะเวลาประมาณ 24 เดือน

อย่างไรก็ตาม การลดระยะเวลาของพีพีพีในพื้นที่อีอีซีจะไม่ได้ลดระยะเวลาในการศึกษาโครงการเนื่องจากเป็นขั้นตอน ที่มีความจำเป็นและก่อนหน้านี้บอร์ดอีอีซี ก็มีการอนุมัติงบประมาณสนับสนุนการศึกษาโครงการสำคัญในพื้นที่อีอีซีแล้ว แต่ขั้นตอนของพีพีพีฟาสต์แทรคของโครงการอีอีซี จะไปปรับลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ซ้ำซ้อน หรือสามารถดำเนินการไปพร้อมกับขั้นตอนอื่นๆได้ก็จะนำมาผนวกรวมกันเพื่อลดระยะเวลาในการดำเนินโครงการ

ดัน3โครงการเข้าพีพีพีอีอีซีฟาสต์แทรค

สำหรับโครงการสำคัญในพื้นที่อีอีซี ที่จะบรรจุให้เป็นโครงการพีพีพีอีอีซีฟาสต์แทรคประกอบไปด้วย 3 โครงการวงเงินลงทุนรวม 4.46 แสนล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา วงเงิน 2 แสนล้านบาท 2.โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 วงเงิน 8.8 หมื่นล้านบาท และ 3.โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ -ระยอง วงเงิน 1.58 แสนล้านบาท

ทั้งนี้คาดว่าโครงการทั้งหมดจะเริ่มเปิดประมูลได้ภายในต้นปีหน้า เพราะขณะนี้ก็มีการดำเนินการในส่วนของการเตรียมความพร้อมสำหรับการลงทุนไปพอสมควร โดยโครงการสนามบินอู่ตะเภาที่จะต้องสร้างอาคารผู้โดยสารและรันเวย์เพิ่มเติมเป็นโครงการที่อยู่ในพื้นที่ราชการจึงไม่ต้องมีการทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งนอกจากจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติม ทางภาครัฐก็จะจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างแท็กซี่เวย์ภายในสนามบินที่จะเชื่อมโยงระหว่างรันเวย์กับศูนย์ซ่อมอากาศยาน ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ - ระยอง ก็มีการจัดทำอีไอเอแล้ว ส่วนโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ก็อยู่ระหว่างการจัดทำอีไอเอซึ่งมีความคืบหน้าไปมากพอสมควร

“โครงการขนาดใหญ่ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของอีอีซี มีการเตรียมความพร้อมในการก่อสร้างไว้ในระดับหนึ่งแล้ว โดยโครงการที่ต้องมีการทำอีไอเอก็มีการดำเนินการแล้ว เมื่อมีการกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนของขั้นตอนและรูปแบบของพีพีพีในโครงการต่างๆเรียบร้อยแล้วก็คาดว่าในต้นปีหน้าจะสามารถที่จะเปิดประมูลและเริ่มก่อสร้างได้โดยรัฐบาลพยายามที่จะเร่งรัดให้เกิดการลงทุนจริงได้ภายในปีหน้า”นายกอบศักดิ์ กล่าว

เน้นโครงการเร่งด่วนลดขั้นตอน

เช่นเดียวกับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่าโครงการลงทุนเร่งด่วนในอีอีซี ที่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและเอกชน(พีพีพี) หรือโครงการ อีอีซีฟาสต์แทรคพีพีพีที่จะต้องเร่งดำเนินการคือโครงการขยายสนามบินอู่ตะเภา จะมีการลงทุนสร้าง 2 ทางวิ่ง และอาคารผู้โดยสาร ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี วงเงิน 2 แสนล้านบาท และโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ระยอง ที่จะขยายเชื่อมต่อระหว่าง 3 สนามบินหลักของประเทศ ได้แก่ อู่ตะเภา, สุวรรณภูมิ และดอนเมือง มูลค่าลงทุน 1.58 แสนล้านบาท รวมทั้ง 2 โครงการมูลค่า 3.58 แสนล้านบาท

โดยย้ำว่ามาตรการอีอีซีฟาสต์แทรคพีพีพี จะช่วยลดระยะเวลาการดำเนินงานจากเดิมโครงการพีพีพีทั่วไปจะใช้เวลาดำเนินการ 40 เดือน โครงการพีพีพีฟาสต์แทรคอยู่ที่ 20 เดือน แต่โครงการใน อีอีซี ต้องการความรวดเร็วเร่งด่วน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน จึงมีโครงการอีอีซีฟาสต์แทรคจะเหลือระยะเวลาเพียง8- 9 เดือน ซึ่งจะใช้เวลาสั้นที่สุด เชื่อว่าทั้ง 2 โครงการจะได้เอกชนผู้ดำเนินโครงการในปีนี้ และเริ่มก่อสร้างได้ในต้นปี2561

“โครงการอีอีซีฟาสต์แทรคพีพีพี จะใช้กับโครงการยุทธศาสตร์เร่งด่วนเท่านั้น โดยจะลดขั้นตอนการทำงานให้แต่ละขั้นตอน สามารถทำไปคู่ขนานกันได้ แต่ทั้งหมดจะต้องผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐาน พีพีพี ทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำ อีไอเอ หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) อย่างเข้มงวด ส่วนโครงการอื่นๆที่ไม่ได้เร่งด่วนและสำคัญ ก็จะเข้าโครงการพีพีพีแบบปกติ”