‘ไอเอ็มเอฟ’ห่วงสังคมสูงวัยกดดันศก.ระยะกลาง

‘ไอเอ็มเอฟ’ห่วงสังคมสูงวัยกดดันศก.ระยะกลาง

“ไอเอ็มเอฟ” เผยรายงานฉบับล่าสุด มองเศรษฐกิจไทยปีนี้โตชะลอเหลือ 3% เตือนรับมือปัญหาสังคมสูงวัย-ผลผลิตตกต่ำ ชี้เป็นแรงกดดันต่อเศรษฐกิจระยะกลาง

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ฉบับล่าสุด เมื่อวานนี้ (9 พ.ค.) ว่า เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการเติบโตของเศรษฐกิจโลก มีแนวโน้มที่จะเติบโตในระดับ 5.5% ในปีนี้ ก่อนจะลดลงเล็กน้อยขยายตัว 5.4% ในปี 2561 แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมทั่วโลก ที่ไอเอ็มเอฟคาดว่า จะเติบโตราว 3.5% ในปี 2560 และ 3.6% ในปีหน้า

มองเศรษฐกิจไทยปีนี้โต3%

รายงาน ประเมินด้วยว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวราว 3.0% ในปีนี้ ลดลงจากเมื่อปีที่แล้ว 0.2% และเติบโต 3.3% ในปี 2561 ส่วนอินโดนีเซียคาดว่าจะเติบโต 5.1% ในปีนี้ และ 5.3% ในปีหน้า ใกล้เคียงกับมาเลเซีย ที่มีแนวโน้มขยายตัว 4.5% และ 4.7% ในปี 2560 และ 2561 ตามลำดับ

ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดของเอเชีย อย่าง จีน นั้น ไอเอ็มเอฟคาดว่า จะเติบโตลดลงมาอยู่ที่ 6.6% ในปีนี้ และ 6.2 % ในปีหน้า ผลจากตลาดที่อยู่อาศัย ที่ชะลอความร้อนแรงลงมา

อย่างไรก็ตาม รายงานชี้ว่า ในการที่เอเชียจะรักษาเสถียรภาพการขยายตัวระยะยาวไว้ให้ได้นั้น จำเป็นต้องมีการปฏิรูปโครงสร้าง เพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ จากการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ และเพิ่มผลิตผล

รายงาน ระบุด้วยว่า จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทย ซึ่งมีจำนวนประชากรวัยทำงานลดลง ในแง่ของสัดส่วนต่อจำนวนประชากรโดยรวมของประเทศ มีแนวโน้มที่จะมีสัดส่วนประชากรสูงวัยต่อประชากรโดยรวม สูงสุดในโลก ภายในปี 2593

เตือนรับมือสังคมสูงวัย

พร้อมกันนี้ ยังเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ในเอเชียเรียนรู้จากประสบการณ์ของญี่ปุ่น และเตรียมพร้อมแต่เนิ่นๆ เพื่อรับมือกับจำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเตือนว่า บางประเทศในภูมิภาคนี้ มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่สังคมสูงวัย ก่อนที่จะขยับไปสู่สถานะชาติร่ำรวย

หลายทศวรรษที่ผ่านมา เอเชียได้ประโยชน์จากการปันผลทางประชากร หรือการได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการเปลี่ยนแปลงทางประชากรของประเทศหนึ่งๆ แต่จำนวนผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้น มีแนวโน้มที่จะทำให้ “ภาษี” ประชากร เพิ่มสูงขึ้น

ไอเอ็มเอฟ ประเมินว่า อัตราการเติบโตของประชากรเอเชีย จะร่วงลงไปแตะระดับ 0% ภายในปี 2593 และสัดส่วนประชากรวัยทำงาน ที่อยู่ระดับสูงสุดในปัจจุบัน จะลดลงไปในหลายทศวรรษหน้า และสัดส่วนประชากรสูงวัย ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปี จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และสูงกว่าจำนวนประชากรสูงวัยในปัจจุบันถึง 2 เท่าครึ่ง ในอีก 33 ปีข้างหน้า

“การปรับตัวสู่สังคมสูงวัย จะเป็นปัญหาที่มีความท้าทายเป็นพิเศษสำหรับเอเชีย เพราะในหลายพื้นที่ของภูมิภาคนี้ มีประชากรที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยรายได้ต่อหัวประชากรในระดับที่ค่อนข้างต่ำ กำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว ทั้งบางประเทศกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัย ก่อนจะเป็นชาติร่ำรวยด้วย”

จี้เพิ่มศักยภาพการคลังรับมือ

สถานการณ์ข้างต้น สะท้อนว่า ปัญหาประชากรศาสตร์ จะทำให้เศรษฐกิจโลกมีอัตราการขยายตัวลดลง 0.1% ในช่วง 3 ทศวรรษข้างหน้า และเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาที่ใหญ่เป็นพิเศษสำหรับญี่ปุ่น ที่ต้องเผชิญทั้งประชากรสูงวัย และจำนวนประชากรลดลง โดยในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ญี่ปุ่นมีจำนวนประชากรวัยทำงาน ลดลงไปมากกว่า 7%

ไอเอ็มเอฟยังเรียกร้องให้ประเทศเอเชียเรียนรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น และหาวิธีรับมือ เช่น จัดทำแผนเพิ่มศักยภาพทางการคลังที่ได้ผล สนับสนุนให้ผู้หญิงและผู้สูงวัยเข้าสู่ตลาดแรงงาน และปรับปรุงระบบเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม

‘กอบศักดิ์’ย้ำไร้สัญญาณโตชะลอ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้ไอเอ็มเอฟจะประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโตชะลอลงเหลือ 3.0% จากปีที่ผ่านมาที่เติบโต 3.2% แต่ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ในกรอบ 3.5 – 4% และมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะมีกว่าปีที่ผ่านมา เห็นได้จากตัวเลขที่ออกมาในไตรมาสที่ 1 โดยเฉพาะการส่งออกที่ขยายตัวเฉลี่ย 8 – 9% สูงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวจากเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ ปัจจัยภายในประเทศเศรษฐกิจยังคงขับเคลื่อนไปตามแผนงานทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในโครงการสำคัญๆ อย่างรถไฟฟ้า หรือรถไฟทางคู่ที่จะทยอยเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) การบริโภคที่ฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงปลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนก็คาดว่าจะเห็นตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะการลงทุนจากต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

“ยังไม่เห็นสัญญาณอะไรที่จะบอกว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะดีน้อยกว่าในปีที่ผ่านมา การคาดการณ์ของเรายังมองว่าเป็นไปได้มากที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ในกรอบ 3.5 – 4% และจะยังคงตัวเลขนี้ไว้จนถึงช่วงกลางปีซึ่งจะมีการประเมินกันอีกครั้ง การที่ไอเอ็มเอฟปรับจีดีพีของเราลงเชื่อว่าในการประเมินครั้งต่อไปจะปรับเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน”นายกอบศักดิ์กล่าว

‘ทีดีอาร์ไอ’มองโต3.3-3.5%

นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ทีดีอาร์ไอ ยังคงมองเศรษฐกิจไทยปีนี้ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยประเมินว่าจะขยายตัวได้ในกรอบ 3.3-3.5% ซึ่งปัจจัยที่ขับเคลื่อนหลักๆ ยังเป็นการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยมีแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการส่งออกที่ดีขึ้น

ส่วนการบริโภคในปีนี้ มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นบ้าง จากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับช่วงไตรมาส 4 ปี 2559 การบริโภคของไทยอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากเป็นช่วงที่คนไทยอยู่ในภาวะเศร้าโศกทำให้ฐานของการบริโภคในปีที่ผ่านมาค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้ตัวเลขในปีนี้ดีขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตามยังมีการลงทุนภาคเอกชนที่ยังค่อยดีนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกำลังการผลิตของหลายภาคอุตสาหกรรมยังค่อนข้างต่ำ โดยต่ำกว่าระดับ 60% ทำให้ความจำเป็นที่จะลงทุนเพิ่มน้อยตามไปด้วย

“โดยภาพรวมเรายังมองว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เพราะหลายปัจจัยเริ่มกลับมาดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออก หลังจากที่ตลาดหลักเริ่มฟื้นตัว ซึ่งเรามองว่าในเชิงมูลค่าปีนี้จะขยายตัวได้ 4% จากราคาสินค้าหลายตัวที่เริ่มดีขึ้น ส่วนในเชิงปริมาณจะขยายตัวประมาณ 1%”

สำหรับเป้าหมายของภาครัฐที่ต้องการเห็นเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ 4% นั้น นางสาวกิริฎา กล่าวว่า ต้องหวังให้การส่งออกและการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งมีสัดส่วนต่อจีดีพีที่ค่อนข้างสูง ขยายตัวได้มากกว่านี้ หากทั้งสองตัวดีขึ้นก็มีโอกาสเห็นที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ภาครัฐตั้งเอาไว้