โออิชิทุ่ม2พันล้านผุดโรงงานใหม่เชื่อมค้าอาเซียน

โออิชิทุ่ม2พันล้านผุดโรงงานใหม่เชื่อมค้าอาเซียน

ไทยเบฟ สานวิชั่นผู้นำเครื่องดื่มเอเชียปี 2563 ส่ง“โออิชิ” ธงนำรุกตลาดเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ ล่าสุดทุ่ม 2 พันล้าน เปิดโรงงานใหม่ ป้อนดีมานด์ในประเทศ-ส่งออกซีแอลเอ็มวีเดินหน้า 4.0 ตั้งบริษัทเบฟเทค รุกใช้หุ่นยนต์ผลิตสินค้า

ครึ่งทางวิสัยทัศน์2563 ของเครือไทยเบฟเวอเรจ ธุรกิจของเจ้าสัวเบียร์ช้าง เจริญ สิริวัฒนภักดี เร่งผลักดันรายได้ผ่านบริษัทลูก นำโดย “โออิชิ” หัวหอกบุกตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อาเซียนผุดโรงงานผลิตชาเขียวแห่งใหม่ นอกจากจะเป็น“ด่านหน้า”รักษาฐานตลาดอันดับ1 เครื่องดื่มชาเขียวพร้อมดื่มในไทยแล้ว โรงงานแห่งนี้ยังจะผลิตชาเขียวพร้อมดื่มส่งออกไปทำตลาดเพื่อนบ้านสานเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้ตลาดต่างประเทศที่ 50%

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และรองประธานกรรมการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันในธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์(นอนแอลกอฮอล์)ทำให้บริษัทเดินหน้าทุ่มงบลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อเปิดโรงงานผลิตชาเขียวโออิชิ อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี (มีพื้นที่ 1,486 ไร่ นำมาพัฒนาเบื้องต้น 184 ไร่)กำลังการผลิต 360 ล้านขวดต่อปีโดยนำนวัตกรรมการผลิตและบรรจุเย็นแบบปลอดเชื้อไลน์ที่4 (CAF4)มาใช้ถือเป็นเทคโนโลยีการผลิตเครื่องดื่มที่ทันสมัยสุดในภูมิภาค

เดินหน้า4.0รุกใช้หุ่นยนต์ผลิต

นอกจากนี้ ในแง่บุคลากร โรงงานดังกล่าวจ้างงานทั้งสิ้น105คน และไฮไลท์อยู่ที่การนำ “หุ่นยนต์” มาใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้ามากขึ้น ขณะเดียวกันยังลดการเผชิญภาวะขาดแคลนแรงงานในไทย

โดยหุ่นยนต์ที่ใช้ภายในโรงงานพัฒนาโดยบริษัท เบฟเทค (BevTech) ในเครือไทยเบฟซึ่งก่อตั้งเมื่อเดือนธ.ค.2559โดยมีทุนจดทะเบียน200ล้านบาท โดยในอนาคตบริษัทจะพยายามยกระดับการผลิตสินค้าในโรงงานให้เป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด (Fully automatic)

ส่วนการทำงานของบุคลากร จากนี้ไปจะทำให้มีความเชื่อมโยง สื่อสารกัน ใช้ทักษะองค์ความรู้มากขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันสูงสุด สร้างความได้เปรียบในเชิงการแข่งระดับโลก เพื่อผลักดันและส่งออกสินค้าแบรนด์คนไทยไปสู่เวทีโลก

รองรับกระจายสินค้าอาเซียน

“การลงทุนครั้งนี้เป็นการเตรียมพร้อมรองรับการขยายตัวด้านการขนส่งและกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม หรือ CLMV หลังจากที่ผ่านมารัฐบาลมีการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน สร้างถนนผ่านจังหวัดสระบุรี เชื่อมระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกสู่ตะวันตก แสดงว่าเส้นทางขนส่งสินค้าในอนาคตจะเชื่อมไปสู่ตลาดอินโดจีน ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา ลาว กระทั่งเวียดนามมากขึ้น โดยฐานการผลิตไทยจะเป็นศูนย์กลางในการป้อนสินค้าสู่ตลาดภูมิภาค”

นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค โดยที่ผ่านมาภายใต้บริษัทไทยดริ้งค์ ได้ผลิตเครื่องดื่มสมุนไพร “จับใจ” จากนี้ไปก็จะมีสินค้าเหล่านี้มากขึ้นโออิชิ ก็จะผลิตชาเพื่อสุขภาพ น้ำตาลน้อย รับกับกระแสสุขภาพ

ส่วนการปรับโครงสร้างและเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ ด้วยการแต่งตั้งนางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล เป็นกรรมการผู้จัดการคนใหม่ของบมจ.โออิชิ เชื่อว่าเป็นคนมีความรู้ความเข้าใจถึงทิศทางการขับเคลื่อนโออิชิอยู่แล้ว เพราะที่ผ่านมาเป็นคนที่เคยช่วยงานส่วนอื่นในกลุ่มไทยเบฟ ดังนั้นเมื่อเข้ามาเป็นแม่ทัพเชื่อมั่นว่ารู้ลึกเกี่ยวกับการดำเนินงานในโออิชิอย่างดี

ครึ่งทางวิสัยทัศน์2563

ส่วนความคืบหน้าเป้าหมายวิชั่น 2563 ของไทยเบฟที่ต้องการเป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มในเอเชียโดยมีโออิชิเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญ ขณะนี้เดินทางถึง “ครึ่งทาง” (ปี2557-2563) การขยายโรงงานแห่งใหม่ก็ถือเป็นการสะท้อนความเชื่อมั่นถึงการเติบโตของตลาดเครื่องดื่มในไทยและอาเซียน

ปัจจุบันโออิชิมีแบรนด์ชาเขียวโออิชิเป็นเบอร์1ในไทย มาเลเซีย และยังมีแบรนด์อีกมากมายภายใต้3บริษัท (โออิชิ เสริมสุข ไทยดริ้งค์) มีสินค้าน้ำดื่มช้าง น้ำดื่มครัสตัล ฯ ซึ่งตลาดในไทยจะทำหน้าที่เชื่อมโยงกับตลาดภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง

นอกจากการทำตลาดเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ในตลาด CLMV บริษัทยังสนใจตลาดฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียเพิ่มเติมด้วย แต่ขณะนี้ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

ชี้กำลังซื้อไตรมาส2ส่อฟื้น

นายฐาปนยังกล่าวถึงแนวโน้มกำลังซื้อครึ่งปีหลังว่ามีทิศทางปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคครึ่งปีหลังสูงขึ้น และรัฐกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานราก อีกทั้งทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นระดับ31.9-32บาทต่อดอลลาร์ ก็สะท้อนเศรษฐกิจระยะยาวจะดีขึ้น แต่ปัจจัยดังกล่าวอาจกระทบต่อภาคการส่งออกบ้าง

ด้านนายเจษฎากรณ์ โคชส์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า เพื่อสานวิชั่น 2563 ตามนโยบายของบริษัทแม่อย่างไทยเบฟ ด้วยการผลักดันยอดขายสินค้าเครื่องดื่มให้มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเป็น 50% บริษัทจึงกลับมาฟื้นการรุกทำตลาดต่างประเทศมากขึ้น ทั้งในอาเซียน ตะวันออกกลาง และยุโรป ด้วยการเดินหน้าไปร่วมงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มระดับโลกเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานอนูก้า(Anuga) งานเทรดแฟร์สินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เยอรมนี งานแสดงสินค้านวัตกรรมอาหารเซียล(Sial) เป็นต้น

“โออิชิกลับมาฟื้นการส่งออกเครื่องดื่มอีกครั้ง หลังจาก4ปีก่อนบริษัทให้ความสำคัญกับการทำตลาดในไทย เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง แต่ตอนนี้จะไปมุ่งออกงานเทรดแฟร์อาหารและเครื่องดื่มทั่วโลกมากขึ้น เพื่อสร้างคอนเน็คชั่น"

ทั้งนี้ หลังจากบริษัทกลับมาบุกตลาดต่างประเทศและส่งออกมากขึ้น คาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากตลาดต่างประเทศให้แตะระดับ20%ภายในปีนี้ (สิ้นปีบัญชี ก.ย.60) เทียบกับ 4 ปีก่อนอยู่ที่1%เท่านั้น

“เมื่อมีสินค้าของเฟรเซอร์แอนด์นีฟ(เอฟแอนด์เอ็น)เข้ามา ก็จะจัดช่องทางให้ชัดว่าจะไปทางไหน ซึ่งทางทีมงานพร้อมลุยตลาดต่างประเทศจากประสบการณ์ในธุรกิจเครื่องดื่มมาเกิน10ปี การมองเกมการตลาด ตัดสินใจได้เร็ว ตอนนี้ชาเขียวโออิชิเป็นเบอร์1ในไทย มาเลเซีย กัมพูชา ลาว ส่วนเมียนมายังไม่ได้ไปขณะที่ในยุโรปจะเป็นเพียงการทำเทรดดิ้งยังไม่มีการทำตลาด โดยรวมบริษัทส่งออกสินค้ากว่า50ประเทศทั่วโลกแล้ว”