ธปท.หนุนใช้เงินท้องถิ่นชำระสินค้าลดพึ่งดอลลาร์

ธปท.หนุนใช้เงินท้องถิ่นชำระสินค้าลดพึ่งดอลลาร์

"ธปท." ขานรับข้อเสนอให้ประเทศในเอเชียลดพึ่งพาเงินดอลลาร์ หนุนใช้เงินท้องถิ่นชำระค่าสินค้ามากขึ้น หลังญี่ปุ่นเดินหน้าทำสวอปค่าเงินแบบทวิภาคีไทยและขยายข้อตกลงกับอาเซียน

หลังจากที่ญี่ปุ่นได้ยื่นข้อเสนอกรอบการดำเนินงาน ที่จะเปิดทางให้ 10 ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) สามารถถอนเงินสูงสุดถึง 40,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินขึ้น ระหว่างการหารือ 2 ฝ่ายนอกรอบการประชุมธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ในเมืองโยโกฮามา นั้น นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ข้อเสนอนี้ยังอยู่ในระยะเริ่มแรก และยังมีเรื่องที่ต้องหารือกันอีกมาก

อย่างไรก็ดี เขาระบุว่า ยินดีอย่างมากสำหรับการริเริ่ม ที่ประเทศอาเซียน และรัฐบาลญี่ปุ่นกำลังทำงานร่วมกัน เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายความปลอดภัยทางการเงินภายในภูมิภาค

“ถ้าหากคุณมองดูพัฒนาการต่างๆ ของเศรษฐกิจนอกเอเชียแล้ว จะเห็นว่ามีความไม่แน่นอนอยู่มากมาย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการไหลเข้าออกของเงินทุนภายในภูมิภาคของเรา ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะต้องมีการสร้างเครือข่ายความปลอดภัยทางการเงินในระดับภูมิภาคขึ้นมา เพื่อช่วยจัดหาภูมิต้านทานต่อความไม่แน่นอนเหล่านี้ ผมคิดว่า การริเริ่มในขณะนี้ ที่มุ่งตรงไปสู่การใช้สกุลเงินเอเชีย สกุลเงินท้องถิ่น เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างมาก”

นายวิรไท ยังระบุว่า การใช้เงินเยนเพิ่มขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งบริษัทไทย และญี่ปุ่น

“เงินเยนเป็นสกุลเงินสากล และเป็นตลาดที่พัฒนาไปค่อนข้างดีในไทย ทั้งในไทยก็มีบริษัทญี่ปุ่นอยู่เป็นจำนวนมาก กรอบการทำงานของตลาดพัฒนาไปมาก และเป็นไปในเชิงลึก เรากำลังมองหาความเป็นไปได้ที่จะทำให้เงินเยนได้รับการยอมรับมากขึ้น และใช้ทำข้อตกลงการค้า และการลงทุนในวงกว้าง ระหว่างไทย กับญี่ปุ่น”

ผู้ว่าการธปท. กล่าวเสริมด้วยว่า ธปท. ได้มีการพูดคุยกับกลุ่มธนาคารญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจอยู่ในไทย ถึงวิธีที่จะทำให้มีการใช้เงินเยนเป็นวงกว้างในประเทศไทย

ทั้งนี้ ชาติสมาชิกอาเซียนมีความกระตือรือร้นที่จะแก้ไขการพึ่งพาเงินดอลลาร์อย่างมาก นับแต่ที่เกิดวิกฤติการเงินเอเชียขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 90 แต่เพิ่งจะมีความคืบหน้าอย่างจริงจังเมื่อเร็วๆ นี้ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ เริ่มปรับนโยบายการเงินให้กลับสู่ภาวะปกติ

ในปี 2558 เวียดนามได้กำหนดอัตราดอกเบี้ย 0% สำหรับเงินฝากสกุลเงินดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นให้มีการใช้เงินสกุลอื่นๆ ส่วนอินโดนีเซีย ก็ได้กำหนดให้การชำระเงินต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในเขตแดนของตัวเอง ต้องใช้เฉพาะเงินรูเปี๊ยะห์เท่านั้น

ส่วนไทย หนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักสุดจากวิกฤติการเงิน ดำเนินมาตรการต่างๆ ของตัวเอง ด้วยการประกาศกรอบการชำระเงินด้วยสกุลเงินท้องถิ่น กับมาเลเซีย เมื่อปีที่แล้ว ทั้งยังได้ทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับอินโดนีเซีย ในเรื่องเดียวกันนี้

ลดความเสี่ยงเงินดอลลาร์ผันผวน

นายวิรไท ชี้ว่า การทำข้อตกลงดังกล่าว ถือเป็นการจำกัดความเสี่ยงจากความผันผวนของเงินดอลลาร์ ที่มีต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เหลือน้อยที่สุด และเพื่อส่งเสริมการใช้เงินท้องถิ่นด้วย
เขาบอกด้วยว่า การผลักดันให้เกิดข้อตกลงทางการเงิน ในรูปสกุลเงินท้องถิ่น ยังเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเอเชีย จากการที่ทำให้ค่าใช้จ่ายของการทำข้อตกลงลดลง

“ผมว่า เรามองเห็นความสนใจกันมากขึ้น จากการหารือของรัฐมนตรีคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่มอาเซียน ในเรื่องที่ว่า เราควรสนับสนุนให้มีการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในเอเชียมากขึ้น โดยรวมแล้ว เป้าหมายคือ การทำให้ค่าใช้จ่ายในการทำข้อตกลงการเงินในภูมิภาคลดลง”

ผู้ว่าธปท. ย้ำว่า การเชื่อมต่อทางการเงิน ไม่ได้ช่วยพัฒนาเฉพาะการเชื่อมโยงระหว่างประเทศในเอเชียเท่านั้น แต่ยังช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของบริษัทต่างๆ ในเอเชีย

“ในขณะนี้ เรามองเห็นการพัฒนามากมายในด้านการค้า และกระแสการลงทุนโดยตรง การเชื่อมต่อทางการเงิน จะช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานลงมาอย่างเป็นรูปธรรม”

หนุนใช้เงินท้องถิ่นเพิ่มทางเลือกการค้า

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์องค์กร ธปท. ในฐานะโฆษก ธปท. กล่าวว่า สิ่งที่ ธปท. ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา คือ การส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อเป็นทางเลือกในการชำระการค้าและการลงทุนในภูมิภาค ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมที่เป็นเงินตราต่างประเทศ และส่งเสริมให้เกิดการค้าการลงทุนในภูมิภาคมากขึ้น

“สิ่งที่ ธปท. คาดหวังคือ การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการใช้สกุลเงินท้องถิ่นรวมทั้งเงินบาท ถือว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ภาคธุรกิจสามารถเลือกใช้ได้”

ประโยชน์ของการใช้สกุลเงินท้องถิ่น คือมีความผันผวนน้อยกว่าเงินดอลลาร์ เพราะค่าเงินภูมิภาคโดยมากจะเคลื่อนไหวไปทิศทางเดียวกัน ทำให้เมื่อตั้งราคาเป็นเงินสกุลท้องถิ่นแล้ว เมื่อแปลงค่ากลับมาเป็นเงินบาทก็จะไม่ผันผวนมากนัก

ขณะเดียวกัน หากผู้ประกอบการไทยยินดีที่จะจ่ายเป็นเงินสกุลท้องถิ่นให้กับคู่ค้าแล้ว ก็อาจใช้เงื่อนไขนี้ไปต่อรองราคาที่สูง หรือ ขอส่วนลดได้ เพราะเท่ากับช่วยให้คู่ค้าลดต้นทุนการแลกเปลี่ยนเงินและปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

โดยสิ่งที่ ธปท. ได้ดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้มีการใช้สกุลเงินท้องถิ่นและเงินบาทเพิ่มขึ้นก็คือ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้มีความพร้อม ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเห็นถึงประโยชน์ของการใช้เงินสกุลท้องถิ่น โดยที่ผ่านมา ธปท. ได้ผลักดันและร่วมมือกับธนาคารกลางต่างๆ เช่น การทำข้อตกลง Bilateral Swap Arrangement (BSA) หรือการจัดตั้งการ RMB Clearing Bank ในไทย”

ไตรมาส1/60ใช้ดอลล์ชำระสินค้าเหลือ 77%

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ธปท. ได้ผ่อนกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการควบคุมแลกเปลี่ยนเงิน เพื่อลดข้อจำกัดของการใช้เงินบาทในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการค้าชายแดนหรือการค้าในแถบซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) และจีนตอนใต้

รายงานข่าวจาก ธปท. เปิดเผยว่า ไตรมาสแรกปี 2560 สัดส่วนการใช้เงินดอลลาร์ในการชำระค่าสินค้าออกอยู่ที่ 77.1% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อยู่ที่ 78.2% ส่วนการใช้เงินบาทในการชำระค่าสินค้าออกช่วงไตรมาสแรกปี 2560 มีสัดส่วนที่ 13.5% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 12.6% ขณะที่เงินเยน อยู่ที่ 4.4% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 4.6% เงินยูโร อยู่ที่ 2.6% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 2.4%