รองเท้าอีแต๋น ดีไซน์ขายวัฒนธรรม

รองเท้าอีแต๋น  ดีไซน์ขายวัฒนธรรม

รถอีแต๋นสีสันสดใสพร้อมลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ จุดประกายให้คนรุ่นใหม่หยิบวัฒนธรรมและวิถีถิ่นสร้างงานดีไซน์ที่จับต้องได้ เกิดเป็นรองเท้าแบรนด์ ฮอร์สเลกมาร์คคิง (Horselegmarking) สื่อความเป็นไทยไปสู่ตลาดโลก หวังสร้างงานออกแบบที่หนุนชุมชนแบบยั่งยืน

“ชาลิสา พรมุตตาวรงค์” มุ่งมั่นที่จะบอกเล่าวัฒนธรรมไทยไปทั่วโลก ด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่จึงอยากประยุกต์ให้วัฒนธรรมสามารถเล่าเรื่องราวของตนเองผ่านผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในชีวิตประจำวันอย่างกลมกลืน ในขณะเดียวกันก็เป็นการทำเพื่อสังคมไทย (ซีเอสอาร์) เพื่อความยั่งยืน

อีแต๋นสร้างลวดลาย

“ดิฉันชอบรองเท้าอยู่แล้ว จึงคิดว่าน่าจะใช้เป็นสื่อกลางสนการสื่อสารได้ บวกกับเป็นสิ่งของที่คนเราต้องใช้อยู่ทุกวัน และใช้แทบจะเหมือนๆ กันทั่วโลก ฮอร์สเลกมาร์คคิง จึงเกิดขึ้น” ชาลิสากล่าว

เมื่อได้รูปแบบการสื่อสาร ชาลิสาจึงเริ่มมาคิดถึงวัฒนธรรมที่จะบอกเล่า โดยจึงหยิบรากเหง้าพื้นถิ่นที่เป็นคนชัยภูมิมาเป็นโจทย์ ด้วยเป็นจังหวัดที่ผลิตรถอีแต๋นจำหน่าย โดยมีจุดเด่นคือ การประกอบมือแทบทั้งคัน การใช้สีและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ รวมถึงการใช้งานในสังคมเกษตรกรรม ทำให้รถอีแต๋นเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตคนชัยภูมิ

แต่การทำงานออกแบบไม่ใช่แค่การลอกลายมาใช้ ชาลิสาศึกษารูปแบบและลวดลาย แล้วตีความออกมา ทั้งเรื่องของสีรถที่ชัดเจน ลวดลายที่มีการวางสมมาตร การใช้ทรงเรขาคณิตและลายที่ใช้บ่อยทั้งทรงเพชร ที่สื่อถึงความคงทน นกอินทรีย์ตัวแทนความคล่องตัว และผีเสื้อที่นำเสนอความอุดมสมบูรณ์ เกิดเป็นคอลเลคชั่นแรกในชื่อ อีแต๋น ‘E-Taen’ ที่เน้นสีสดอย่างเหลือง ชมพูบานเย็น และฟ้าสด เป็นพื้น พร้อมลวดลายที่ออกแบบจากการตกผลึกคอนเซปต์ของรถ อย่าง Triangle Hawk, Rectangular Diamond และ Circular Butterfly&Flowers

นอกจากนี้ ตัวรองเท้าก็ต้องได้มาตรฐาน เช่น การพัฒนารองเท้าหุ้มข้อ ทรงรองเท้าต้องเหมาะกับสรีระ ใส่แล้วขาต้องดูเรียว จึงต้องพัฒนาการออกแบบทรงรองเท้าที่ตอบโจทย์ ในขณะเดียวกันก็ต้องใส่สบาย โดยมีการนำยางพาราที่มีความยืดหยุ่นและผ้าคอตต้อน 100% ที่ระบายอากาศได้ดี โดยใช้เวลากว่า 2 ปีในการพัฒนาแนวคิดและผลิตภัณฑ์

กลุ่มเป้าหมายที่ชาลิสาวางเอาไว้สำหรับฮอร์สเลกมาร์คคิง เมื่อตอนเริ่มต้นสร้างแบรนด์คือ ผู้ที่ชื่นชอบแฟชั่นและมีทัศนคติที่ใส่ใจในเรื่องความยั่งยืน ไม่ใช่แค่สิ่งแวดล้อมแต่รวมถึงเศรษฐกิจและสังคมด้วย

“มองกลุ่มเป้าหมายในเชิงจิตวิทยา เพราะแนวโน้มของคนที่จะเลือกซื้อแบรนด์นี้ต้องมีความโดดเด่น กล้าที่จะเล่นกับศิลปะและแฟชั่นที่แปลกใหม่และมีคุณภาพ” เธอกล่าวและว่า ทำให้ 3 ปีที่ผ่านมา นอกจากลูกค้าที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ยังมีแฟนคลับที่ตามสะสมรองเท้าทุกแบบ ทำให้แม้ตลาดเล็ก แต่ก็มีแฟนคลับเหนียวแน่น

จากการได้รับโอกาสไปจัดแสดงในงานแฟร์ที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2557 ฮอร์สเลกมาร์คคิงที่อยู่ในช่วงตั้งไข่เริ่มเป็นที่รู้จัก และได้รับเลือกเข้าไปวางขายในร้าน The Selected ที่สยามเซนเตอร์ จนปัจจุบันมีจุดจำหน่ายมากขึ้น และลูกค้าก็เพิ่มตามไปด้วย

ตลาดเพื่อความยั่งยืน

ทั้งนี้ ปัจจุบัน 40% ของลูกค้าเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวในไทย ทำให้เธอมองตลาดต่างประเทศอีกช่องทางหนึ่ง แต่ต้องใช้เวลาสร้างการรับรู้ของแบรนด์ในไทยก่อน เพื่อให้ภาพลักษณ์ชัดเจน ดิสทริบิวเตอร์ที่เข้ามาก็ต้องสามารถบอกเล่าสตอรี่ของแบรนด์ได้ มองภาพไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มที่ญี่ปุ่นและยุโรปก่อน

คอนเซปต์ของรถอีแต๋นยังเป็นแนวคิดหลักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ชาลิสา กล่าวว่า ได้ออกแบบรองเท้าในรูปแแบบซีรี่ย์ย่อยของคอลเลคชั่นอีแต๋นอีกกว่า 10 แบบ ทั้งรองเท้าผ้าใบหุ้มข้อ รองเท้าผ้าใบหุ้มส้น ฯลฯ และจะยังคงมีดีไซน์ใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญ มีแผนจะหยิบวัฒนธรรมไทยอื่นๆ มาพัฒนาเป็นแนวคิดการออกแบบคอลเลคชั่นใหม่อีกด้วย

“หลังจากคอลเลคชั่นอีแต๋นออกสู่ตลาด การออกงานแฟร์ต่างๆ ทำให้ต้องนำรถอีแต๋นจริงๆ ไปจัดแสดง ส่งผลให้หลายหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนนำไปใช้งาน เกิดการสร้างงานในชุมชน ซึ่งตรงกับสิ่งที่แบรนด์ตั้งใจที่จะนำเสนอวัฒนธรรมด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย จับต้องได้ ที่สำคัญคือ เอื้อให้เกิดความยั่งยืนในชุมชน” ชาลิสากล่าว