เชียร์ 'ลงทุนหุ้น' รับมือดอกเบี้ย ‘ขาขึ้น’

เชียร์ 'ลงทุนหุ้น' รับมือดอกเบี้ย ‘ขาขึ้น’

รับมือดอกเบี้ยขาขึ้น "ซีไอเอ็มบี" เชียร์ลงทุนหุ้น

ภาพรวมการลงทุนในปีนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูง จากปัจจัยทางการเมืองระหว่างประเทศรวมถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ที่ส่งผลต่อสินทรัพย์การลงทุนในขณะนี้ จุมพล สายมาลาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด ประเมินสถานการณ์ในตลาดโดยรวมว่าด้วยแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดที่คาดว่าจะปรับขึ้นอีก 2 ครั้ง ทำให้การลงทุนในตราสารหนี้แต่เพียงอย่างเดียวอาจจะลดความน่าสนใจลง ดังนั้นหากมองในระยะยาวแล้วสินทรัพย์เพื่อการลงทุนจะอยู่ในสินทรัพย์ประเภท “หุ้น” ที่มีโอกาสเพิ่มน้ำหนักการลงทุนได้

อย่างไรก็ตามปัญหาความไม่สงบทางการเมืองระหว่างประเทศโดยเฉพาะคาบสมุทรเกาหลีอาจจะทำให้เกิดความผันผวนในตลาดโลกมากขึ้น โดยเฉพาะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่เชื่อว่าจะเป็นเหตุการณ์ระยะสั้น

ในแง่ของนักลงทุนที่ต้องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ขอแนะนำให้นักลงทุนประเมินความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเอง และมุ่งเน้นการลงทุนแบบ Income Theme หรือการลงทุนในกองทุนที่สร้างผลตอบแทนสม่ำเสมอ ความผันผวนไม่สูงจนเกินไป เช่นกองทุน CIMB-Principal Strategic Income Fund ที่มีการลงทุนทั้งในตราสารหนี้ และกองทุนอสังหาริมทรัพย์หรือกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Reit) ซึ่งเป็นกองทุนที่เหมาะกับนักลงทุนทั่วไป ที่รับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้มากกว่าตราสารหนี้เพียงอย่างเดียว

ขณะเดียวกันหากเป็นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงขึ้นอาจมองความผันผวนช่วงสั้นนี้เป็นโอกาส เช่นการลงทุนในกองทุนหุ้นทั้งต่างประเทศและในประเทศ

“เฟด คงขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ส่วนดอกเบี้ยไทยครึ่งแรกคงยังไม่ขึ้น ส่วนครึ่งหลังก็มีโอกาส แต่ต้องดูเงินเฟ้อและการเบิกจ่ายภาครัฐด้วย โดยเฉพาะเมกะโปรเจค เช่นรถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพ-โคราช หากออกมาจริง ครึ่งหลังเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยอาจขยับขึ้นได้เล็กน้อย และกดดันตราสารหนี้ในระยะสั้น ดังนั้นหากมองในระยะยาวยังให้น้ำหนักกับการลงทุนหุ้นมากกว่าตราสารหนี้”

จุมพล บอกว่า โจทย์ของบริษัทคือทำอย่างไรให้นักลงทุนสามารถเลือกสรรการลงทุนที่หลากหลาย ดังนั้นในช่วงที่เหลือของปีการออกกองทุนจะเน้นหุ้น ไตรมาส 2 จะออกกองทุนหุ้นทั่วโลก โดยมีธีมการลงทุนที่ชัดเจนด้วยการทำงานร่วมกับกลุ่ม Principle Financial ที่มีทีมการลงทุนในภูมิภาคทำงานร่วมกันกับมาเลเซียและสิงคโปร์เป็นทีมเดียวกัน มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกัน ส่งผลให้กองทุนของบริษัทที่ได้การประเมินสูงสุด 5 ดาวจากมอร์นิ่งสตาร์ถึง 7 กองทุนด้วยกัน (จากข้อมูลการประเมินผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 31 มี.ค. 2560)ครบทุกกลุ่มหลักทรัพย์ ทั้งกองทุนหุ้น ตราสารหนี้ และการลงทุนทางเลือก

นอกจากนี้บริษัทยังมีกองทุนประเภท Long term Thematic Play อย่าง CIMB-Principal Global Infrastructure Fund ที่ลงทุนในกองต่างประเทศที่เน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เน้นลงทุนธุรกิจที่มีคู่แข่งน้อยราย (Oligopoly) มีรายได้สม่ำเสมอ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความผันผวนต่ำ ซึ่งผลตอบแทนย้อนหลังของกองทุนนี้ ถือว่าสร้างผลตอบแทนได้ดีทั้งที่ลงทุนในหุ้นที่ผันผวนต่ำ และยังมีกองทุน CIMB-Principal Global silver age เป็นการลงทุนหุ้นทั่วโลกที่เกี่ยวเนื่องสังคมผู้สูงอายุ สามารถสร้างผลตอบแทน ได้ค่อนข้างดี

 จุมพล บอกด้วยว่า  ปัจจุบันบริษัทมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารหรือเอยูเอ็ม 1.1 แสนล้านบาท และทำให้เอยูเอ็มของบริษัทเพิ่มขึ้นจากต้นปี 2557 ที่มีเพียง 2.5 หมื่นล้านบาท ถือว่าเติบโตค่อนข้างเร็วในช่วง 3 ปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนรวม ผ่านช่องทางขายของธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย โดยในปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตที่ระดับ 23% หรืออยู่ที่ 1.38 แสนล้านบาท

ทั้งนี้เอยูเอ็มของบริษัทมาจากกองทุนรวม 6 หมื่นล้านบาท อีก 5 หมื่นล้านบาทมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีอัตราการเติบโตค่อนข้างดี โดยบริษัทมีกองทุน Target Date Provident Fund ซึ่งเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ปรับมาจากกลุ่มพรินซิเพิล ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ได้รับการตอบรับที่ดี โดยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมากองทุนดังกล่าวเติบโตจาก 600 ล้านบาทมาอยู่ที่ กว่า 2,000 ล้านบาทในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นกองทุนที่สามารถปรับพอร์ตลงทุนให้เหมาะสมกับอายุผู้ถือหน่วยอัตโนมัติ โดยผู้จัดการกองทุนจะเป็นผู้จัดส่วนผสมของพอร์ตลงทุนตามความเสี่ยงของแต่ละช่วงอายุที่ลูกค้ากำหนดไว้

ลูกค้าจะเกษียณอายุปีไหนก็เลือกนโยบายการลงทุนที่ตรงกับอายุ และผู้จัดการกองทุนก็จะจัดสรรการลงทุนให้อัตโนมัติ โดยที่ผู้ถือหน่วยไม่ต้องเลือกเอง ข้อดีคือสะดวกกับพนักงาน และสร้างรายได้ที่เหมาะสมกับอายุ ซึ่งสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ด้านการลงทุนมากพอจึงมักจะเลือกกองทุนตราสารหนี้เป็นหลัก ซึ่งในระยะยาวกองทุนตราสารหนี้มีโอกาสที่จะแพ้เงินเฟ้อ และเมื่อถึงวัยเกษียณเงินอาจไม่เพียงพอ”