หนึ่งเดียวล้วนเกี่ยวข้อง

หนึ่งเดียวล้วนเกี่ยวข้อง

“มองทะลุให้เห็นเข้าไปถึงตัวตนที่อยู่ข้างใน” ลักขณา คุณาวิชยานนท์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บอกกับเราถึงความนัยที่ศิลปินต้องการสื่อสารกับผู้ชม

จากผลงานภาพถ่ายที่เปิดมุมมองผ่านเส้นผมที่ถักทอแทนเลนส์แว่นสายตาไปยังสถานที่สำคัญทางศาสนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

กล่าวได้ว่าเป็นงานศิลปะที่ชวนเราก้ามข้ามความไม่รู้อีกมากมาย สำหรับนิทรรศการหนึ่งเดียวล้วนเกี่ยวข้อง โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

 

ร่วมกับโครงการปั่นรวมใจไทยและหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครนำเอามามิติของศิลปะ มาเป็นสื่อกลางในการสร้างบทสนทนา ระหว่าง “คนใน” และ “คนนอก” ของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งความไม่รู้ พื้นที่ที่ผู้คนต่างคาดเดากันไปต่างๆนานา ทั้งความรุนแรง ความไม่ปลอดภัย ความน่ากลัว

 

“สืบเนื่องโครงการปั่นรวมใจไทยครั้งที่ 1 เมื่อปี 2558 เป็นกิจกรรมปั่นจักรยานจากเชียงรายไปถึงเบตง ปั่นกันเป็นเดือน ความตั้งใจคือ อยากให้คนที่อยู่นอก 3 จังหวัดได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส และยะลา ได้เห็นความเป็นอยู่ ในพื้นที่

 

ในจำนวนนักปั่น 40 คนมีคนจาก 3 จังหวัดด้วย คนเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นเหมือนทูตวัฒนธรรมของบ้านตัวเอง นำเรื่องที่เกิดขึ้นจริงใน 3 จังหวัดไปบอกกับเพื่อนนักปั่นด้วยกัน แต่ละจุดที่พักก็มีการทำกิจกรรม บอกเล่าเรื่องของตัวเองให้กับชุมชนอื่นๆได้ฟัง

 

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเราได้รับข่าวสารผ่านสื่อ ส่วนมากเป็นภาพความรุนแรง แทบจะไม่มีเรื่องราวจากคนในพื้นที่บอกเล่าเรื่องของตัวเอง หลังจากนั้นทีมผู้จัดมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่ามิติทางการกีฬา มีเรื่องของศิลปวัฒนธรรม ชุมชน สังคม เลยมาเชิญหอศิลปฯมาร่วมงานในมิติของศิลปะชวนศิลปินลงไปในพื้นที่ด้วย”

 

ลักขณา กล่าวถึงที่มาของนิทรรศการศิลปะที่แตกหน่อความคิดมาจาก โครงการปั่นรวมใจไทย ที่มูลนิธิพระดาบส ประสานมือกับภาคประชาชน โดยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ จัดให้มีการปั่นจักรยานจาก อ.แม่สาย จ. เชียงราย ไปยังจุดใต้สุดของประเทศ ณ อ.เบตง จ.ยะลา ระหว่าง วันที่ 25 สิงหาคม ถึง 1 ตุลาคม 2558

 

“ทางหอศิลป์ได้ชวนศิลปินจากภาคกลาง ไปทำงานร่วมกับศิลปินในพื้นที่ มีทั้งศิลปินสายดนตรี อนันต์ นาคคง ศิลปินกวี เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ ช่างภาพ ดาว วาสิกสิริ ร่วมด้วย จักกาย ศิริบุตร และอิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์

 

จุดประสงค์เหมือนเดิม คือเปิดพื้นที่การสื่อสารระหว่างคนข้างใน กับคนข้างนอกเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น กระตุ้นให้เกิดข้อมูลใหม่ๆ คนนอกเข้าพื้นที่ได้ ไม่ได้น่ากลัวอย่างนั้น”

 

และ ชื่อนิทรรศการ หนึ่งเดียวล้วนเกี่ยวข้อง ก็มาจากถ้อยคำในบทกวีที่ เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ เจ้าของรางวัลซีไรต์ (จากเรื่องแม่น้ำรำลึก ปี2547) เขียนขึ้นหลังจากร่วมเดินทางไปใน 3 จังหวัดภาคใต้

 

“เพื่อสื่อสารว่าไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ทุกคนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน มีความสำคัญต่ออีกชีวิตหนึ่ง อยากให้เปิดใจรับรู้เรียนรู้หามุมมองใหม่ๆ

 

ในส่วนของ “ศิลปะก้าวข้ามความไม่รู้” ก็คือ มันมีเรื่องที่เรายังไม่เข้าใจกับ 3 จังหวัดอีกเยอะ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นอีกสื่อหนึ่งที่จะช่วยให้เข้าใจความเป็นอยู่ของผู้คนในแบบลึกๆบ้าง นอกเหนือจากภาพความรุนแรงที่เราเสพกันมาตลอด ก้าวข้ามความไม่รู้มาด้วยกัน โดยผ่านงานศิลปะของศิลปินเหล่านี้” ลักขณา กล่าว

 

ดาว วาสิกสิริ ถ่ายทอดประสบการณ์การเดินทางไปเยือนจ.นราธิวาสในวันฮารีรายอ วันสำคัญของชาวมุสลิมทั่วโลก ถือเป็นวันรื่นเริงประจำปีซึ่งชาวมุสลิมได้เดินทางกลับภูมิลำเนาของตนเอง เพื่อเข้าร่วมประกอบพิธีกรรมทางศาสนาโดยพร้อมเพรียงกัน ได้พบปะสังสรรค์กับเพื่อน ญาติพี่น้องเพื่อขออภัยซึ่งกันและกัน

 

เป็นวันที่ทุกคนจะแต่งตัวสวยงาม มีความหลากหลาย เครื่องแต่งกายแต่ละชุดมีชื่อที่แตกต่างกันไป เป็นภาพถ่ายที่เหมือนเป็นการบันทึกเหตุการณ์สำคัญ

 

ในขณะที่ จักกาย ศิริบุตร นำชุดแต่งกายของคนในพื้นที่มาตัดเย็บบนเครื่องแบบทหาร สื่อให้เห็นถึงสิ่งที่ดำเนินอยู่คู่กันระหว่างชีวิตประชาชนกับความมั่นคง มันแทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน บางทีอยู่บนความขัดแย้ง บางทีอยู่บนมิตรภาพ

 

พิเชษฐ์ เปียร์กลิ่น กล่าวถึงความงามของชีวิตความเป็นอยู่ที่ดำรงอยู่กับสันติภาพด้วยการนำผ้าปาเต๊ะที่แสดงให้เห็นถึงความงามของดอกไม้ที่พลิกด้านหลังจะเห็นเป็นผ้าลายทหาร

 

เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ นำจานข้าวไว้สองแถวคู่กัน ในจานวาดรูปแพะ หอย ปลา กุ้ง ปืน และระเบิด สลับกันไป

 

“เป็นมุมมองของศิลปินในพื้นที่ เป็นชีวิตที่ต้องอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินและอยู่กับความรุนแรงที่เกิดขึ้นรายวัน เป็นมุมที่ต้องอยู่และมีเสิร์ฟทุกวัน แต่เขาทิ้งท้ายว่ายังมีความหวังนะ ไม่ได้มองในมุมลบอย่างเดียวนี่คือความเป็นจริงของคนที่ใช้ชีวิตที่นั่น” ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครอธิบาย

 

ส่วน อิ่มหทัย สุวัฒนศิลป์ เลือกใช้เส้นผมที่ได้รับการบริจาคนำมาถักทอเป็นลวดลายที่ได้มาจากสถาปัตยกรรมทางศาสนา ได้แก่ วัดช้างให้ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และมัสยิดกรือเซะ แล้วนำไปสร้างสรรค์เป็นผลงานภาพถ่าย 2 ชุด

ชุดแรก เป็นภาพถ่ายที่มองทะลุลวดลายไปยังวัดช้างไห้  ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และมัสยิดกรือเซะ

ชุดที่สองถักทอเป็นเลนส์แว่นตาแล้วนำไปให้ประชาชนใน 3 จังหวัดสวมใส่ แล้วบันทึกเป็นภาพถ่าย

 

“มองทะลุให้เห็นเข้าไปถึงตัวตนที่อยู่ข้างใน” คือสิ่งที่อิ่มหทัยอยากจะบอกในฐานะคนนอกที่มีโอกาสเข้าไปสัมผัสกับคนข้างใน

 

ศิลปะได้ทำหน้าที่พาเราก้าวผ่านความไม่รู้ได้อย่างมีชั้นเชิง พร้อมย้ำให้เราตระหนักว่าหนึ่งเดียวล้วนเกี่ยวข้องกัน

 

(หมายเหตุ : นิทรรศการหนึ่งเดียวล้วนเกี่ยวข้องกัน มีโปรแกรมสัญจรไปจัดแสดง ณ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ราวเดือนกรกฎาคม)