กสทช.ถก“เฟซบุ๊ค-ยูทูบ”เล็งเคาะเกณฑ์คุมโอทีที ก.ค.นี้ 

กสทช.ถก“เฟซบุ๊ค-ยูทูบ”เล็งเคาะเกณฑ์คุมโอทีที ก.ค.นี้ 

คณะอนุฯโอทีที เตรียมถกผู้ให้บริการโอทีที 30 มิ.ย.นี้ หลังหารือกลุ่มนักวิชาการนิเทศศาสตร์ เล็งคลอดหลักเกณฑ์ทั้งควบคุมดูแลและส่งเสริมโอทีทีชัดเจน ก.ค.นี้  

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ “โอทีที” แถลงความคืบหน้า การกำหนดแนวทางดูแลธุรกิจที่ใช้กระบวนการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ผ่านโครงข่ายอื่นที่มิใช่โครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (Over The Top : OTT) โดยเมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้เชิญนักวิชาการสื่อสารมวลชนกว่า 30 คน มาประชุมหารือแลกเปลี่ยนความเห็น โดยนักวิชาการมีความเห็นควรมีการกำกับดูแล โดยสร้างความสมดุลการสร้างสรรค์ และส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ที่อยู่บนโอทีที

ทั้งนี้ หลังจากรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการแล้ว สัปดาห์หน้า จะรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการแพร่ภาพกระจายเสียงรายเดิม และรับฟังความเห็นจากผู้ประกอบการโอทีที จากนั้นคณะอนุกรรมการฯ จะสรุปแนวทางดูแลที่เหมาะสมเพื่อนำมาใช้ในการดูแลต่อไป

คาดก..60ได้แนวทางกำกับ

พ.อ.นที กล่าวว่า สำหรับหลักเกณฑ์การดูแลเนื้อหาที่อยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊คและยูทูบ คงต้องมีการพูดคุยกันต่อไปว่าควรจะมีแนวทางอย่างไร ซึ่งจากการพูดคุยเบื้องต้นทั้งเฟซบุ๊ค และยูทูบรับทราบถึงปัญหาเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม 

ทั้งนี้ สัปดาห์หน้าจะเปิดเวทีรับฟังผู้ประกอบกิจการรายเดิม ที่เป็นผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์หลักว่า มีความเห็นเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง จากนั้นจะรับฟังผู้ประกอบการแพลตฟอร์มโอทีที ทั้งประเภทเก็บค่าบริการเป็นรายครั้ง รายเดือน และรายปี ที่มีประมาณ 10 ราย และเวทีของผู้ประกอบการที่ไม่เก็บเงินโฆษณา 

รวมถึงกลุ่มที่สร้างคอนเทนท์ได้เอง เช่น เฟซบุ๊ค ไลน์ ยูทูบ ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ที่มีรวมประมาณ 20 ราย ในเดือนมิ.ย.นี้ โดยเมื่อหารือกับทุกกลุ่มแล้ว น่าจะเห็นรูปแบบที่เป็นไปได้ในการดูแล ก่อนออกเป็นแนวทางในการดูแลประมาณเดือน ก.ค.60 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่สำนักงาน กสทช. จัดให้มีการประชุมชี้แจงการประกอบกิจการแพร่ภาพและเสียง โอทีที ในหัวข้อเรื่อง “รู้จัก เข้าใจ ความเป็นไปของโอทีทีในประเทศไทย” แก่คณาจารย์และนักวิชาการ เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์โอทีที ได้นำเสนอรายงานแนวทางการกำกับดูแลบริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายอื่นที่มิใช่โครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ที่จัดทำโดยบริษัท ไทม์ คอนซัลติ้ง จำกัด ต่อที่ประชุมฯ

นักวิชาการแนะสร้างสมดุล

โดยการประชุมครั้งดังกล่าว คณาจารย์และนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และสื่อสารมวลชน เห็นพ้องกันว่า ควรมีการเข้าไปดูแลการดำเนินงานของโอทีทีเพื่อมิให้เกิดผลกระทบทางลบ โดยได้นำเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะแนวทางการกำกับดูแลโอทีที ดังนี้ 

1. เสนอแนะให้มีการสร้างความสมดุลในการดูแลการประกอบกิจการ เพื่อมิให้กระทบต่อการสร้างสรรค์และการเกิดขึ้นของการให้บริการกระจายเสียงและโทรทัศน์ใหม่บนแพลตฟอร์มโอทีที

2. เสนอแนะให้มีการกำกับดูแลโฆษณาที่ไม่เหมาะสมในบริการโอทีที โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

3. เสนอแนะให้มีการกำหนดตัวชี้วัดและหลักเกณฑ์ว่า บริการโอทีทีใดที่มีอิทธิพลต่อสาธารณะในวงกว้าง 

4. เสนอแนะให้มีการกำกับดูแลผ่านแพลตฟอร์มที่ให้บริการ โดยให้แพลตฟอร์มมีหน้าที่เบื้องต้นในการกลั่นกรองบริการให้เหมาะสมก่อนที่จะมีการเผยแพร่ไปยังผู้รับชม 

5.เนื้อหาที่สำคัญบนโอทีที คือ เนื้อหาจากสื่อเดิม ซึ่งต้องมีการกำกับดูแลในลักษณะเดียวกัน มิใช่เนื้อหาแบบเดียวกันนำเสนอบนสื่อเดิมไม่ได้ แต่สามารถนำเสนอบนสื่อใหม่ได้ 

6.ควรคำนึงถึงประเด็นการละเมิดลิขสิทธิ์ การขัดต่อศีลธรรมอันดี และประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน 

7.เสนอแนะให้ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อแก่ประชาชน เพื่อให้สามารถแยกแยะระหว่างข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงและความเห็นส่วนตัว