ถอดรหัสโต 'เมืองไทยลิสซิ่ง'

ถอดรหัสโต 'เมืองไทยลิสซิ่ง'

สำรวจต้นเหตุ ราคาหุ้น เมืองไทยลิสซิ่ง พุ่ง 137% ในช่วง 2 ปีก่อน ผ่านปากเจ้าของตัวจริง 'ชูชาติ เพ็ชรอำไพ' ตอกย้ำแผน 3 ปี องค์กรแห่งนี้ต้องมี 4 พันสาขา และรายได้ขยายตัว 50%

ผลงานโดดเด่น ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2558-2559) สะท้อนผ่านตัวเลข 'กำไรสุทธิ' ที่ขยับขึ้น จากระดับ 825 ล้านบาท เป็น 1,464 ล้านบาท ส่งผลให้ ราคาหุ้น เมืองไทยลิสซิ่ง หรือ MTLS ผู้ประกอบการธุรกิจให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถ สินเชื่อโฉนดที่ดิน สินเชื่อส่วนบุคคลและนาโนไฟแนนซ์ให้แก่ลูกค้ารายย่อยที่เป็นบุคคลธรรมดาทั่วไปผ่านสาขาของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้วเฉลี่ย 137%

ขณะเดียวกันหุ้น MTLS ยังได้ความสนใจ จากเหล่ากองทุนทั้งในและนอกประเทศมากขึ้น บ่งบอกผ่านการทยอยเข้าถือหุ้นของนักลงทุนหน้าใหม่ ไม่ว่าจะเป็น บมจ.ไทยประกันชีวิต STATE STREET BANK EUROPE LIMITED BRITISH,กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เค มาสเตอร์ พูล ฟันด์ และ HSBC (SINGAPORE) NOMINEES PTE LTD สัดส่วนลงทุน 0.81% 0.71% 0.70% และ 0.56% ตามลำดับ นอกจากนั้นบริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ยังถือหุ้นเพิ่มขึ้นจาก 2.42 % เป็น 4.92% (ตัวเลขวันปิดสมุดทะเบียน 7 มี.ค.2560)

'ชูชาติ เพ็ชรอำไพ' ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เมืองไทยลิสซิ่ง เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า กำไรสุทธิที่ขยายตัวตัวต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนสนใจหุ้น MTLS มากขึ้น ล่าสุดสัดส่วนการเข้าลงทุนของนักลงทุนสถาบันทั้งในและนอกประเทศอยู่ระดับกว่า 10% แตกต่างจากในอดีตที่แทบไม่มีนักลงทุนสถาบันสนใจหุ้น MTLS เลย

ขณะเดียวกันยังมีพันธมิตรต่างประเทศหลากหลายรายชักชวนบริษัทให้เข้าไปดำเนินกิจการในต่างประเทศด้วย ไม่ว่าจะเป็นประเทศเวียดนาม และประเทศพม่า เป็นต้น แต่หลังจากลองศึกษารายละเอียดเบื้องต้นพบว่า ไม่ง่ายหากจะเข้าไปทำธุรกิจสินเชื่อในเวียดนามและพม่า ฉะนั้นหากต้องการรุกตลาดนี้ในต่างแดนจริงๆ คงต้องศึกษาให้รอบคอบกว่านี้

'เดินสายพบนักลงทุนต่างชาติมา 3 ปี นอกจากจะได้เจอนักลงทุนและนักธุรกิจทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าแล้วยังได้รับฟังความคิดเห็นในเชิงลึกจากเหล่านักลงทุนด้วย ทำให้เรารับรู้ว่า มีนักลงทุนสนใจหุ้นเราไม่น้อย'

เจ้าของตัวจริง ยืนว่า แม้ที่ผ่านมาจะมีเหล่านักลงทุนชักชวนบริษัทออกไปลงทุนนอกบ้าน แต่ภายใน 3 ปีข้างหน้า (2560-2562) คงยังไม่เห็นองค์กรแห่งนี้ก้าวขาออกไปโกอินเตอร์ตรงกันข้ามจะเห็นบริษัทรุกงานในประเทศมากขึ้น

นั่นเป็นเพราะการเติบโตของตลาดสินเชื่อประเทศไทยยังมีช่องว่างอีกมาก สะท้อนผ่านกำไรสุทธิในปี 2559 ที่มีอัตราเติบโต 74.76% ที่สำคัญวันนี้บริษัทยังสนุกกับการทำงานในประเทศ ยกเว้นตลาดในประเทศไทยไม่เติบโต หรือขยายตัวเพียง 5-10%

'ตราบใดที่ตลาดในประเทศยังเติบโต และเรายังสร้างการเติบโตได้เฉลี่ย 50%ก็ไม่มีเหตุผลต้องออกไปแสวงหางานในต่างแดน พูดเช่นนี้ไม่ได้ปิดโอกาสตัวเอง เพราะหากผลการศึกษาในเวียดนามและพม่าออกมาดีอาจเห็นเราออกไปทำงานนอกบ้านเป็นครั้งแรกก็เป็นได้' 

เมื่อเจาะลึกสตอรี่ดันฐานะการเงิน นายใหญ่ แจกแจงว่า 'สินเชื่อโฉนดที่ดิน' 1 ใน 6 ผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท ปัจจุบันกำลังมาแรง เนื่องจากลูกค้ากลุ่มเกษตรกรส่วนใหญ่จะเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินขนาดใหญ่

ฉะนั้นหากต้องการเงินไปลงทุนปลูกพืชผลทางการเกษตร ลูกค้าเหล่านั้นจะนึกถึงเมืองไทยลิสซิ่งเป็นแห่งแรก เพราะเราคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ
ผลจากการชิมลางปล่อยสินเชื่อโฉนดที่ดิน ตั้งแต่ 6 เดือนหลังของปี 2558 ถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง หลังสามารถสร้างสัดส่วนรายได้ในระดับ 10% โดยมียอดปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ารายละไม่เกิน 200,000 บาท

ตามแผนงานต้องการผลักดันรายได้ส่วนนี้ขึ้นสู่ระดับ 15-20% ส่วนสินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์ สินเชื่อทะเบียนรถยนต์ และสินเชื่อทะเบียนรถเพื่อการเกษตร รวมถึงสินเชี่อส่วนบุคคล และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ อาจมีสัดส่วนรายได้เฉลี่ย 45% 35% และ 5% ตามลำดับ

เขา เล่าต่อว่า สินเชื่อส่วนบุคคคลและสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาแรงอีกตัว เนื่องจากเป็นบริการสินเชื่อที่มีอัตรากำไรขั้นต้นค่อนข้างสูง แม้จะมีความเสี่ยงสูง เพราะเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน แต่เนื่องจากบริษัทมีระบบคัดกรองลูกค้าที่ดี ส่งผลให้ฐานลูกค้าเพิ่มเติมต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันยังมีการปล่อยสินเชื่อผ่านลูกค้าเก่าที่มีประวัติการชำระคืนเงินที่ดี ยกตัวอย่าง หากลูกค้ารายใดใช้บริการสินเชื่อรถจักรยานยนต์อยู่แล้ว บริษัทจะนำเสนอสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ หรือสินเชื่อส่วนบุคคลต่อทันที

ปัจจุบันสินเชื่อส่วนบุคคคลและสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ถือเป็นสินเชื่อที่มี “หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้” หรือ NPL อยู่ในระดับต่ำสุด เฉลี่ย 0.6% รองลงมา คือ สินเชื่อโฉนดที่ดิน อันดับสาม คือ สินเชื่อรถยนต์ 0.9% ส่วนสินเชื่อที่มีตัวเลขเอ็นพีแอลสูงสุด คือ สินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์ 1.4-1.5%

'จะพยายามคุมเอ็นพีแอลไม่ให้เกิน 1.5% ถือเป็นตัวเลขที่ขยับขึ้นจากปีก่อนที่จะคุมไม่ให้เกิน 1% ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้นำตลาดสินเชื่อเบอร์หนึ่ง สะท้อนผ่านยอดปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ 52 ล้านบาท เมื่อเทียบกับยอดปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ทั้งระบบที่อยู่ระดับ 55 ล้านบาท'

เมื่อถามถึงแผนธุรกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2560-2562) ประธานกรรมการบริหาร เล่าว่า ตั้งเป้าจะมีสาขาทั้งสิ้น 4,000 แห่งทั่วประเทศไทย เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2559 ที่มีสาขาทั้งสิ้น 1,664 แห่ง กระจายอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง และใต้

ส่วนในแง่ของรายได้รวม ตั้งเป้าหมายการเติบโตเฉลี่ย 40-50% ส่วนตัวเชื่อว่า ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะฐานลูกค้าในวันนี้ยังมีขนาดเล็ก ฉะนั้นยังมีช่องว่างขยายตัวอีกมาก ที่สำคัญจุดเด่นขององค์กรแห่งนี้จะเป็นตัวผลักดันให้บริษัทมีฐานะการเงินที่ดีขึ้นต่อเนื่อง

โดยเฉพาะเรื่องบริการที่มีความรวดเร็ว และโปร่งใส ที่สำคัญไม่เอาเปรียบลูกค้า ด้วยการคิดดอกเบี้ยแพงๆ ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะทำให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการใหม่อีกครั้ง ขณะเดียวกันยังจะเกิดการบอกต่อ ทำให้เกิดฐานลูกค้าใหม่ๆ

ผู้ถือหุ้นใหญ่ ทิ้งท้ายว่า ตั้งเป้าหมายเติบโตรายได้ในปี 2560 ไม่ต่ำกว่า 50% ส่วนในแง่ของการปล่อยสินเชื่อจะอยู่ระดับ 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็นลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่เฉลี่ย 30% และ 20% ตามลำดับ ปัจจุบันมีฐานลูกค้าประมาณ 1.2 ล้านราย คิดเป็นมูลค่าพอร์ตปล่อยสินเชื่อทั้งหมด 23,541 ล้านบาท

ขณะเดียวกันยังวางแผนจะเปิดสาขาใหม่เฉลี่ยปีละ 600 แห่งทั่วประเทศ เน้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เนื่องจากตลาดยังมีช่องว่างในการเติบโตอีกมาก ล่าสุดในไตรมาส 1 ปี 2560 บริษัทเปิดสาขาใหม่ไปแล้ว 200 แห่ง คาดว่าปลายปี 2560 จะมีสาขาเพิ่มเป็น 2,200 สาขา
ปัจจุบันบริษัทมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อทางการเงิน 2 ประเภท คือ 1.สินเชื่อทะเบียนรถ ประกอบด้วย สินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์ สินเชื่อทะเบียนรถยนต์ สินเชื่อทะเบียนรถเพื่อการเกษตร

2.สินเชื่ออื่นๆ ประกอบด้วย สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อโฉนดที่ดิน สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ โดยเมื่อปีก่อนสินเชื่อทะเบียนรถและสินเชื่ออื่นๆ สร้างรายได้ในสัดส่วน 82.06% 17.94% ตามลำดับ เทียบกับปี 2558 ที่มีสัดส่วน 94.57% และ 5.43% ตามลำดับ

'สาขาใหม่ในปีนี้จะช่วยผลักดันให้รายได้และกำไรสร้างสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง' 

สองโบรกเกอร์เชียร์ 'ซื้อ' 

บล.ทิสโก้ ปรับประมาณการรายได้ในปี 2560-2561 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 13-24% ตามลำดับ หลังสินเชื่อมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 40% และ 30% ตามลำดับ แม้ปีนี้ต้นทุนเงินอาจเพิ่มขึ้น จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นก็ตาม โดยคาดว่า ต้นทุนการเงินของบริษัทจะเพิ่มเป็น 3.57% และ 4.16% ตามลำดับ

'แนะนำ 'ซื้อ' ราคาเหมาะสม 35 บาท (ปรับเพิ่มราคาเหมาะสมจากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะยืนระดับ 30 บาท)' 

ด้าน บล.ฟิลลิป ระบุว่า ในปี 2560 MTLS จะยังคงนโยบายการเติบโตสูงต่อเนื่อง ผ่านการเปิดสาขาใหม่ โดยสิ้นปีนี้อาจมีสาขาทั้งหมด 2,200 แห่ง เทียบกับปลายปีก่อนที่มีสาขา 1,664 แห่ง

ขณะเดียวกันยังตั้งเป้าเพิ่มการปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นในปีนี้บริษัทอาจมีกำไรสุทธิประมาณ 2,200 ล้านบาท หรือขยับขึ้นประมาณ 51.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

'แนะนำซื้อหุ้น MTLS ราคาเป้าหมาย 35 บาท หลังบริษัทวางแผนจะเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อส่วนบุคคลให้กับลูกค้าเก่าประวัติดีมากขึ้น ซึ่งแผนงานนี้จะช่วยเพิ่มผลตอบแทนสินเชื่อ และทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไม่เปลี่ยนแปลง'