ป.ป.ช. ค้านตั้ง 'ส.ป.อ.' ปราบทุจริตเอกชน เหตุซ้ำซ้อน

ป.ป.ช. ค้านตั้ง 'ส.ป.อ.' ปราบทุจริตเอกชน เหตุซ้ำซ้อน

ป.ป.ช. ค้านข้อเสนอ "กมธ.พาณิชย์ สนช." ตั้ง "ส.ป.อ." ปราบทุจริตภาคเอกชน เหตุซ้ำซ้อนไม่คุ้มงบประมาณ ด้าน "สิงห์ศึก" ขอป.ป.ช. รับเป็นเจ้าภาพเพิ่มอำนาจจัดการทุจริตเอกชน

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาและรับทราบผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการ (กมธ.)การพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่อง การส่งเสริมสนับสนุนธรรมาภิบาล และการป้องกันปราบปรามการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน โดยที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 รับทราบผลการพิจารณาตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการ

นายกิตติ ลิ้มพงษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้แจงว่า เห็นด้วยกับหลักการของรายงานฉบับนี้ ที่มีเจตนารมณ์ที่ดีกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน แต่หน่วยงานส่วนใหญ่ ยกเว้นกระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่เห็นด้วยกับโครงสร้างของรูปแบบสมมติฐานในการกำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมสนับสนุนธรรมาภิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน หรือคณะกรรมการ ส.ป.อ. รวมถึงการจัดตั้งศูนย์อำนวยการคณะกรรมการ ส.ป.อ. เนื่องจากเห็นว่า ปัจจุบันมีสำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตทั้งในภาครัฐและเอกชน ประกอบกับมีกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่มีมาตรการฐานส่งเสริมสนับสนุนการป้องกันปราบปรามการทุจริตอยู่แล้ว หากจะมีการจัดตั้งหน่วยงานดังกล่าวที่มีอำนาจหน้าที่ซ้ำซ้อนและไม่คุ้มค่ากับทรัพยากรหรืองบประมาณในการดำเนินการ

ด้าน พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร สนช. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน กล่าวว่า จากการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ พบว่า การทุจริตนั้นสามารถเกิดได้จากข้าราชการ นักการเมือง และภาคเอกชน แต่ข้าราชการ และนักการเมือง มี ป.ป.ช. ป.ป.ท. ดูแลเรื่องการทุจริต เมื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการป้องกันการทุจริต เห็นด้วยกับหลักการของกฎหมายนี้ออกมา แต่ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งองค์กรใหม่ ทางคณะกรรมาธิการฯ จึงอยากให้ ป.ป.ช. รับเป็นเจ้าภาพเรื่องนี้ได้หรือไม่ โดยการเพิ่มอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับดูแลการทุจริตในภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ขณะที่ พล.อ.ดนัย มีชูเวท สมาชิก สนช. กล่าวเสริมว่า แม้ว่าจะให้เหตุผลว่า การจัดตั้งหน่วยงานใหม่ ทำให้เสียงบประมาณและทำงานซ้ำซ้อนกัน แต่ ป.ป.ช. ป.ป.ท. และ ก.ล.ต. ยังมีการทำงานแยกกันอยู่ ดังนั้น จะทำอย่างไรให้มีการประสานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการบูรณาการปราบปรามและป้องกันการทุจริตที่เกิดจากภาครัฐ ภาคการเมือง และภาคเอกชน หรือจะดำเนินการอย่างไรให้ไปตามมาตรฐานนี้โดยไม่ต้องตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่
นายกิตติ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า บทสรุปทุกหน่วยเห็นชอบตรงกันให้มีกฎหมาย แต่ในส่วนที่มีปัญหาคือกระบวนการจัดการของหน่วยงาน ขณะนี้ป.ป.ป.เองก็ได้มีการปรับแก้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 3 และเพิ่มเติมในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 4 ที่เพิ่มเกี่ยวกับภาคเอกชนในบางส่วน แต่การที่จะให้ป.ป.ช.รับผิดชอบโดยตรงนั้นจะรับความเห็นนี้ไปเสนอต่อคณะกรรมการป.ป.ช.เพื่อทราบ เบื้องต้นจากการพูดคุยเห็นตรงกันว่า กฎหมายที่มีอยู่มีความครอบคลุมแล้ว แต่อาจจะขาดในส่วนการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน

จากนั้นที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้รับทราบผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน เรื่อง การส่งเสริมสนับสนุนธรรมาภิบาล และการป้องกันปราบปรามการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน