ตรังผลิตหมอนยางพารา ช่วยพยุงราคาน้ำยางสด

ตรังผลิตหมอนยางพารา ช่วยพยุงราคาน้ำยางสด

สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก อ.รัษฎา จ.ตรัง เร่งผลิตหมอนยางพาราคุณภาพดี ช่วยผยุงราคาน้ำยางสดในพื้นที่ ประชาชนมีงานทำ

(3 พฤษภาคม 2560) ที่สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก หมู่ที่ 8 ต.หนองปรือ อ.รัษฎา จ.ตรัง นายสายัณห์ อินทรภักดิ์ รองผู้ว่าราชการจ.ตรัง นำคณะเยี่ยมชมกระบวนการผลิตหมอนยางพารา และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับยางพารา ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 ภายใต้โครงการเพิ่มมูลค่ายางพารา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ ไม่ให้ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง

โดยการเปิดรับซื้อน้ำยางสดวันละไม่ต่ำกว่า 9,000 กิโลกรัม มาแปรรูปเป็นหมอนและที่นอนยางพารา ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก จำนวน 12,250,000 บาท และยังเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านที่มีรายได้จากการเย็บปลอกหมอนขายให้กับสหกรณ์ฯ ซึ่งหมอนยางพารา 1 ใบจะใช้น้ำยางสดในกระบวนการผลิตประมาณ 2 กิโลกรัม ขายราคาใบละ 450 - 500 บาท

ซึ่งในแต่ละวันสามารถผลิตได้ประมาณ 400 ใบ และกำลังต่อยอดผลิตเป็นที่นอนขนาดเล็กความหน้า 2 นิ้วครึ่ง หมอนข้างและที่นอนเด็กอ่อน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการดำเนินงาน 1 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาน้ำยางสดในพื้นที่ไม่ลดลงต่ำกว่า 60 - 65 บาทต่อ 1 กิโลกรัม และมีรายได้จากการขายหมอนยางพาราแล้วกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งสหกรณ์ฯ ยังเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์หมอนยางพาราเป็นหมอนชาร์โคล มีทั้งแบบผิวเรียบและแบบหนามทุเรียน เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด และเพื่อสุขภาพของลูกค้า ซึ่งได้รับการตอบรับและการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ จนสามารถส่งไปขายยังประเทศจีนและลาวได้มากขึ้น

โดยในปีนี้วางแผนเจาะตลาดแถบยุโรป ญี่ปุ่นและอเมริกา พร้อมพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแนวโน้มยังไปได้ดี ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราไม่หวั่นวิตกกับราคายางที่ตกต่ำในอนาคตอันใกล้ ส่วนปัญหาที่พบคือ ในช่วงที่มีฝนตกหนัก เกษตรกรไม่สามารถกรีดยางพาราได้หรือในช่วงฤดูกาลปิดกรีด ทำให้สหกรณ์ฯ มีน้ำยางสดไม่เพียงพอในการผลิตหมอนยางพารา จึงแก้ปัญหาด้วยการสั่งซื้อมาจากจังหวัดต่าง ๆ ที่มีน้ำยางสดอยู่ในพื้นที่ ทำให้สหกรณ์ฯ สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 ซึ่งนายมนัส หมวดเมือง ผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านหนองครก กล่าวว่า สหกรณ์ได้รับซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกรวันละไม่ต่ำกว่า 9,000 กิโลกรัม กำลังการผลิต 400 ใบต่อวัน สามารถส่งไปขายได้ทั้งในและต่างประเทศ โดยเจาะตลาดใหม่ได้ล่าสุดคือ ประเทศลาว และกำลังจะขยายไปยังตลาดแถบยุโรป ญี่ปุ่น และอเมริกาด้วย โดยแบบที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดคือ แบบหมอนทุเรียน ซึ่งตลาดประเทศจีนต้องการสูงมาก

ทั้งนี้ นอกจากเป็นการรับซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกรในพื้นที่ ช่วยเหลือเกษตรกรให้พื้นที่ด้วยการนำน้ำยางสด มาทำเป็นผลิตภัณฑ์จากยางพาราที่มีคุณภาพแล้ว เป็นการเพิ่มช่องทางการระบายปริมาณน้ำยางสดในพื้นที่ ช่วยผยุงราคาน้ำยางสดแล้ว ยังทำให้ประชาชนในพื้นที่มีงานทำ และกลุ่มแม่บ้านก็ยังมีอาชีพที่มั่นคงด้วย คือ การเย็บปลอกหมอนจำหน่ายให้แก่สหกรณ์ โดยหมอนยางพารามีผลกำไรปีที่ผ่านมาจำนวน 20 ล้านบาท ส่วนแนวโน้มของกตลาดก็ยังดีมาก ซึ่งจะต้องเจาะกลุ่มตลาดต่างประเทศต่อไป