ส่องโมเดลกฎหมายญี่ปุ่นจัดระเบียบแอร์บีแอนด์บี

ส่องโมเดลกฎหมายญี่ปุ่นจัดระเบียบแอร์บีแอนด์บี

ยังคงเป็นปัญหาแก้ไม่ตกสำหรับรัฐบาลหลายประเทศรวมถึง “ไทย” ในเรื่องการจัดระเบียบธุรกิจเชิงแบ่งปัน (sharing economy) ในกลุ่มเจ้าของบ้านพักที่ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์แบรนด์ระดับโลก อาทิ แอร์บีแอนด์บี โยงเข้าถึงกลุ่มลูกค้า

แต่สำหรับ “ญี่ปุ่น” ประเทศที่กำลังเตรียมรับมือเป็นภาพโอลิมปิกเกมส์ 2020 หรือในปี 2563 ได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ และปรับตัวรับสถานการณ์ดังกล่าว โดยตระหนักว่าการนำบ้านพักเหล่านั้นเข้าระบบ จะช่วยให้มีอุปทานรองรับความต้องการเดินทางที่จะหลั่งไหลกว่า 8.1 ล้านคนในมหกรรมดังกล่าว

ยาซูโตะ คาวาราบายาชิ รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (เจทีเอ : เจแปน ทัวริสซึ่ม เอเจนซี่) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้จัดทำร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปล่อยเช่าที่พักอาศัยเรียบร้อย และส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติไปพิจารณาแล้วตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งกฎหมายใหม่ เพื่อรับมือกับความนิยมของแอร์บีแอนด์บีโดยเฉพาะ และมีจุดประสงค์เพื่อจัดการกับความกังวลเรื่องความปลอดภัย, สาธารณสุข และปัญหารบกวนเพื่อนบ้าน ฯลฯ ได้อย่างเหมาะสม และยังมีขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้สอดคล้องกับการพัฒนาธุรกิจการให้เช่าที่พักซึ่งจะมีความหลากหลายมากขึ้น และหากกฎหมายผ่านการพิจารณา คาดว่าจะนำไปบังคับใช้ได้ในปี 2561 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ แอร์บีแอนด์บี เปิดเผยว่าในปี 2559 มีลูกค้าแอร์บีแอนด์บีที่เป็นชาวต่างชาติเดินทางไปใช้เครือข่ายบ้านพักในญี่ปุ่นกว่า 3.7 ล้านคน อันดับ 1-5 ได้แก่ เกาหลีใต้, จีน, สหรัฐ, ฮ่องกง และไต้หวัน ซึ่งเป็นอัตราเติบโตกว่า 3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2558 ขณะที่การมาเยือนไทยล่าสุด ของผู้บริหารแอร์บีแอนด์บี เปิดเผยว่า มีชาวต่างชาติมาไทยแล้วจองที่พักในเครือข่ายแอร์บีถึง 7.74 แสนคน อัตราเติบโตกว่า 150% มีตลาดหลัก ได้แก่ จีน, อเมริกา, ฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร และเยอรมนี

ตามกรอบกฎหมายที่ญี่ปุ่นวางไว้ ซึ่งถือเป็นต้นแบบแห่งแรกๆ ในเอเชียที่จะมีการจัดระเบียบที่พักแบบแชริ่งอย่างเป็นรูปธรรมนี้ จะกำหนดให้เจ้าของบ้านต้องแจ้งข้อมูลการทำธุรกรรมให้กับรัฐบาลประจำจังหวัด (Prefectural Government) ทราบ เพื่อให้เกิดการตรวจทานดูแลควบคุม คู่ขนานไปกับการร่วมมือกับเอเยนต์ออนไลน์เพื่อทำตลาด ขณะที่เอเยนต์ออนไลน์ที่รับเป็นนายหน้าในการติดต่อลูกค้าให้กับบ้านเช่า ก็ต้องขึ้นทะเบียนกับเจทีเอ เพื่อรับการดูแลควบคุมโดยตรง

ขณะเดียวกัน กรณีที่เป็นการปล่อยเช่าที่กระทำผ่านผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์ ผู้จัดการฯ ต้องขึ้นทะเบียนกับกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยว (MLIT) เพื่อรับการควบคุมดูแลโดยตรง และภายใต้โมเดลที่มี 3 หน่วยงานควบคุมดังกล่าว ได้แก่ เจทีเอ, รัฐบาลท้องถิ่น และ MLIT จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันทั้งหมด เพื่อให้เกิดการดูแลและบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพตามจุดประสงค์ดังที่ได้กล่าวมา

ทั้งนี้ การปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์การท่องเที่ยวระยะกลาง (Mid-term Tourism Strategy of Japan) ที่มีประเด็นสำคัญเรื่อง การขยายจุดดึงดูดด้านการท่องเที่ยวและทรัพยากรท่องเที่ยวใหม่ โดยนอกจากกฎหมายรับมือกับแอร์บีแอนด์บีแล้ว ยังมีการปรับปรุงโครงสร้างเชิงสาธารณประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยว เช่น ปรับปรุงภูมิทัศน์ ภายใต้แผนการจัดการเมืองใหม่ เช่น ซ่อมแซมอนุรักษ์บ้านโบราณ, อำนวยความสะดวกขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง ด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ “ไบโอ-คาร์ทส” ที่จะช่วยให้กระบวนการผ่านแดนเสร็จสิ้นภายในเป้าหมาย 20 นาที หรือลดเวลาลงได้ 2 ใน 3 รวมถึงการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตรวจคนเมืองอีก 168 คนในปีที่ผ่านมา

ภายใต้การปรับปรุงด้านต่างๆ ญี่ปุ่นยังวางไว้เพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายถึง 60 ล้านคนในปี 2573 (ค.ศ.2030) ซึ่งในจำนวนดังกล่าวจะต้องเกิดการกระจายตัวไปท่องเที่ยวและเข้าพักในภูมิภาคที่ห่างไกลไม่ต่ำกว่า 130 ล้านคืน เพิ่มขึ้นราวเท่าตัวจากปี 2563 ที่จะมีการเดินทางเข้าถึงต่างจังหวัดราว 70 ล้านคืน

                กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยนอกรอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย ว่าจะบริหารจัดการธุรกิจที่พักในเชิงแบ่งปันนี้อย่างไร โดยนอกจากญี่ปุ่นแล้ว ก็ยังศึกษาโมเดลของหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย ที่ใช้แนวทางกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมจากราคาขายรายวันได้ ซึ่งยอมรับว่าก่อนจะกำหนดแนวทางของไทย ต้องศึกษาอย่างรอบคอบก่อน พร้อมกับตั้งมาตรฐานว่า ต้องเป็นไปเพื่อการค้าที่เสรีและยุติธรรม ทั้งสำหรับผู้ประกอบการรายเดิมในระบบที่จดทะเบียนอย่างถูกต้อง และรายใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาด

                ขณะเดียวกันต้องพิจารณาให้กฎหมาย สามารถตอบโจทย์เรื่องที่เริ่มเป็นข้อกังวลมากขึ้นในขณะนี้คือ “ความปลอดภัย” ต่อผู้อยู่อาศัยร่วมในโครงการต่างๆ เช่น เพื่อนบ้านในหมู่บ้านจัดสรร, เพื่อนบ้านในอาคารชุด ซึ่งปัจจุบัน การปล่อยเช่าที่พักให้แขกต่างชาติ ทำให้เกิดห่วงใยต่อสวัสดิภาพของสังคมมากขึ้น เริ่มมีข้อร้องเรียนถึงความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย เมื่อมีคนแปลกหน้าหมุนเวียนมาอาศัยในบ้านหรือห้องพักใกล้เคียงกันมากขึ้น

                “ต้องยอมรับว่าการแชริ่งเป็นเทรนด์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ต้องทำให้เกิดแฟร์เทรด หรือการแข่งขันที่ยุติธรรมต่อทุกฝ่าย ตอบโจทย์ในเชิงข้อกังวลของสังคมที่เริ่มเป็นปัญหาใหญ่ โดยเชื่อว่าหากสามารถจัดการให้ดี จะช่วยให้เกิดการกระจายรายได้ลงลึกมากขึ้น เหมือนกับญี่ปุ่น ซึ่งอาจมีภาวะห้องพักไม่พอรองรับกับการเตรียมรับกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ดังนั้นกฎหมายตัวนี้ จะเข้ามาตอบโจทย์ได้พอดี”

                ด้าน สุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย น่าจะเป็นหน่วยงานที่เหมาะสมในการเข้ามาควบคุมดูแลการปล่อยเช่าบ้านพัก ซึ่งถือเป็นแนวโน้มธุรกิจที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ความต้องการของนักท่องเที่ยวย่อมเกิดขึ้นตามนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ควรปล่อยเลยไปโดยไม่มีการควบคุม โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยและสิทธิพื้นฐานของผู้อยู่อาศัยอื่นๆ และการแข่งขันที่ต้องยุติธรรมกับธุรกิจที่จดทะเบียนโรงแรม ที่มีต้นทุนสู