เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาคดีตายายเก็บเห็ด!!

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาคดีตายายเก็บเห็ด!!

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับเต็ม แจงทุกข้อสงสัย ทำไมศาลต้องจำคุกตายายเก็บเห็ด!!

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับเต็ม แจงทุกข้อสงสัย ทำไมศาลต้องจำคุกตายายเก็บเห็ด!!

คดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดกาฬสินธุ์ โจทก์ นายอุดม ศิริสอน จำเลยที่ 1 นางแดง ศิริสอน จำเลยที่ 2

เรื่อง ความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ ,ความผิดต่อ พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ

จำเลยทั้งสอง ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2553 จำเลยทั้งสอง ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ ร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในการทำไม้ในป่าดงระแนง ตำบลคลองขาม อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งอยู่ในแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ คิดเป็นเนื้อที่ 72 ไร่ และใช้อุปกรณืเครื่องมือใดไม่ปรากฏชัดตัดและโค่นไม้สัก ไม้กระยาเลย ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ออกจากต้น 700 ต้น อยู่ในเขตที่ดินป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเป็นป่าตามกฎหมายโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่ได้รับสัมปทานหรือได้รับยกเว้นใดๆตามกฎหมายให้ทำไม้ได้ อันเป็นการกระทำด้วยประการใดๆ ทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันมีไม้สักกับไม้กระยาเลยอันยังไม่ได้แปรรูป อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. จำนวน 1,148 ท่อน รวมปริมาตร 65.69 ลูกบาศก์เมตร คิด เป็นเงินค่าภาคหลวง 552,160 บาท โดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวง หรือ รอยตรารัฐบาลขายไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาต

เหตุทั้งหมดเกิดที่ตำบลคลองขาม อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์

เจ้าพนักงานตรวจยึดไม้สักกับไม้กระยาเลยที่ยังไม่ได้แปรรูปจำนวน 1,148 ท่อนเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ.2484 , พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507,ประมวลกฎหมายอาญา ริบของกลางทั้งหมด และให้จำเลยทั้งสองออกจากป่าสงวนแห่งชาติ

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิด พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 , พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ.2484 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานร่วมกันบุกรุก แผ้วถาง ทำไม้ ยึดถือครอบครอง หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ เป็นการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันบุกรุก แผ้วถาง ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุกคนละ 11 ปี ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป จำคุก คนละ 19 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 15 ปี ริบของกลางทั้งหมด ให้จำเลยทั้งสองออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เข้าไปครอบครอง

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันบุกรุก แผ้วถาง ทำไม้ ยึดถือครอบครอง หรือ กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันทำไม้ตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุกคนละ 11 ปี และฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังไม่ได้แปรรูป จำคุกคนละ 19 ปี ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ฐานร่วมกันทำไม้ คงจำคุกคนละ 5 ปี 6 เดือน ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังไม่ได้แปรรูป คงจำคุกคนละ 9 ปี 6 เดือน รวมจำคุกคนละ 14 ปี 12 เดือน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมประชุมปรึกษาแล้ว ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง จำเลยทั้งสองหลงเชื่อบุคคลภายนอกว่ารับสารภาพแล้วศาลจะปรับจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 เคยประสบอุบัติเหตุโดยถูกรถยนต์ชนสลบไปประมาณ 2 วัน ถึง 3 วัน โดยอุบัติเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่จำเลยทั้งสอง จะถูกดำเนินคดีนี้ หลังจากที่จำเลยที่ 1 ประสบอุบัติเหตุแล้ว จำเลยที่ 1 มีอาการลมออกหูและประสาทไม่ดี พูดจารู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง จำเลยที่ 1 ได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ หลังจากนั้นได้มารักษาตัวที่คลินิกหมอเปตรง เขียนแม้น แต่จำเลยที่ 1 ก็ยังอาการไม่ดีขึ้นมีอาการงงๆ พูดจาไม่ค่อยรู้เรื่อง การที่ศาลชั้นต้นถามจำเลยทั้งสองว่าได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ จำเลยที่ 1 ไม่ค่อยจะได้ยิน ศาลถามหลายครั้ง จำเลยที่ 1 ก็ก้มหัวเท่านั้น ศาลก็เลยบอกว่าจำเลยที่ 1 รับสารภาพ แล้วศาลถามคำให้การของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ก็บอกว่าให้การทำนองเดียวกับจำเลยที่ 1 ความจริงแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ได้สมัครใจให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณานั้น

เห็นว่า ข้ออ้างอาการป่วยของจำเลยที่ 1 ตามฎีกา เป็นการกล่าวอ้างเพิ่มขั้นในชั้นฎีกาแตกต่างกับข้ออ้างในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองที่กล่าวอ้างแต่เพียงว่า มีคนบอกจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเสียค่าปรับแล้วกลับบ้านได้ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จำเลยทั้งสองจึงให้การรับสารภาพ แต่ถึงอย่างไรจำเลยทั้งสองก็ยอมรับว่าจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของศาลขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ

นอกจากนี้อาการป่วยของจำเลยที่ 1 ตามข้ออ้างในฎีกายังขัดแย้งกับใบรับรองแพทย์ โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ และใบสรุปการรักษาพยาบาลจำเลยที่ 1 ของนายแพทย์เปตรง จำเลยที่1 เป็นผู้ป่วยใน ระหว่างวันที่3-10 ต.ค.2554 ด้วยประวัติเกิดอุบัติเหตุขับรถจักรยานยนต์ชนกับรถจักรยานยนต์ประมาณ 1 วัน ก่อนมาโรงพยาบาล มีอาการสลบชั่วครู หลังจากฟื้นมีอาการปวดศีรษะและเวียนศีรษะได้เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง พบว่า มีเลือดออกในสมอง กระโหลกศีรษะร้าว มีลมรั่วเข้าไปในสมอง หลังจากออกจากโรงพยาบาลมีอาการปวดและเวียนศีรษะเป็นบางครั้ง ซึ่งอาการป่วยเจ็บของจำเลยที่ 1 เกิดขึ้นภายหลังวันที่ 26 กันยายน 2554 ที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ต่อศาลชั้นต้น และได้ความว่า จำเลยทั้งสองเข้ามอบตัววันที่ 27 พ.ย. 2553 ไม่ปรากฏว่าก่อนที่จำเลยที่ 1 จะถูกดำเนินคดีนี้ในปี 2553 จำเลยที่ 1 เคยประสบอุบัติเหตุรถยนต์ชนจนสลบไป 2 -3 วันแต่ประการใด คงมีแต่อุบัติเหตุช่วงเดือนตุลาคม 2554 เท่านั้น

ดังนี้ ส่อแสดงว่า จำเลยทั้งสองพยายามปรุงแต่งข้ออ้างอาการป่วยเจ็บของจำเลยที่ 1 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยบิดเบือนไปให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพโดยไม่สมัครใจ แต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงว่า เรื่องที่จำเลยกล่าวอ้างมานั้นขัดแย้งกันเองทั้งสิ้น จึงเป็นพิรุธรับฟังเป็นความจริงไม่ได้

อีกทั้งจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการและจำเลยทั้งสองก็ลงลายมือชื่อไว้ด้วย เมื่อทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสองไม่สมัครใจแต่อย่างใด และเป็นความเข้าใจผิดของจำเลยทั้งสองเองไม่อาจยกเป็นข้อต่อสู้ได้ ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า ข้ออ้างของจำเลยทั้งสองเป็นพิรุธรับฟังเป็นความจริงไม่ได้

คดีจึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองสมัครใจให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นโดยชอบแล้ว ที่จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณา ศาลย่อมพิพากษาโดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปได้ ที่จำเลยสองฎีกาว่า ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้องจึงขัดกับคำให้การในชั้นพิจารณาของจำเลยทั้งสอง

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปว่า การดำเนินการสอบสวนของพนักงานสอบสวนไม่ชอบเพราะไม่ได้แจ้งพฤติการณ์และรายละเอียดในการกระทำความผิดตามฟ้องให้จำเลยทั้งสองทราบ การสอบสวนจึงไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองนั้น เห็นว่า พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยทั้งสองทราบโดยชอบแล้ว ซึ่งจำเลยทั้งสองก็ให้การปฏิเสธอันแสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อกล่าวหาเป็นอย่างดีแล้วนั่นเอง การสอบสวนจึงชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

ส่วนปัญหาประการสุดท้ายที่จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น ได้ความว่า ในวันเกิดเหตุคณะเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าร่วมกันออกตรวจปราบปรามผู้กระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ พบกลุ่มบุคคลประมาณ 3-4 คน กำลังช่วยกัน ใช้มีดแผ้วถางไม้ขนาดเล็กและตัดโค่นไม้สักล้มลงเป็นจำนวนมาก เมื่อกลุ่มบุคคลนั้นมองเห็นเจ้าหน้าที่ จึงพากันวิ่งหลบหนีเข้าป่าไป และมีพยานเห็นจำเลยทั้งสองวิ่งหนีออกจากที่เกิดเหตุ ซึ่งจำเลยทั้งสองก็ให้การในชั้นสอบสวนยอมรับว่า ขณะอยู่ในพื้นที่ป่าเกิดเหตุได้ยินเสียงคนร้องเอะอะโวยวาย หันไปมองดูพบเห็นชายไทย2-3 คน วิ่งเข้าไปในป่า ด้วยความตกใจกลัว จำเลยทั้งสองจึงได้วิ่งหนีเข้าป่าไป และได้ความว่า พื้นที่เกิดเหตุเป็นแปลงปลูกสวนป่า มีการตัดโค่นไม้สักกับไม้กระยาเลย ที่กำลังโตอยู่รอบๆ บริเวณที่ถูกตัดหลายแปลง โดยมีลักษณะเป็นการกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลหลายฝ่ายร่วมกัน เป็นขบวนการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าโดยแบ่งหน้าที่กันทำ เพื่อให้พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ กลายเป็นป่าไม่สมบูรณ์ และหวังผลให้ทางราชการดำเนินการนำพื้นที่ที่ถูกบุกรุกดังกล่าวมาจัดสรรแบ่งปันให้แก่ชาวบ้าน ซึ่งมีกลุ่มบุคคลที่ร่วมขบวนการเดียวกันได้รับประโยชนืด้วยอันเป็นการกระทำที่ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง โดยจำเลยทั้งสองร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการดังกล่าวด้วย ตามพฤติการณ์แห่งคดีเชื่อได้ว่า บุคคลที่เป็นกลุ่มนายทุนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดตามฟ้องโดยตรง ยังมิได้มีการขยายผลและติดตามจับกุมมาดำเนินคดีทั้งหมด คงมีแต่จำเลยทั้งสองเ่านั้นที่ยอมเข้ามอบตัวเพื่อให้ดำเนินคดีต่อไปและสมัครใจให้การรับสารภาพตามฟ้อง กรณีมีเหตุสมควรกำหนดโทษที่ลงแก่จำเลยทั้งสองให้น้อยลงเพื่อให้เหมาะสมแก่รูปคดี แต่ตามพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองส่งผลกระทบต่อสภาพความสมดุ,ของระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยากแก่การฟื้นฟูให้กลับคืนดีดังเดิม ส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนโดยรวม ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยทั้งสอง

พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันทำไม้สักซึ่งเป็นไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 4 ปี ฐานร่วมกันมีไม้สักซึ่งเป็นไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองจำคุกคนละ 6 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 5 ปี