ทางเลือก...สูงวัยไม่โดดเดี่ยว

ทางเลือก...สูงวัยไม่โดดเดี่ยว

รัฐควรมีทางเลือกให้คนสูงวัยมากกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่ ลองหาคำตอบ


“ตอนนี้อย่าเพิ่งคิดเลย เดี๋ยวเครียด รอให้แก่ก่อน ดีกว่า ถ้าถึงตอนนั้นจะเป็นยังไง ก็ช่างมัน ” นก เจ้าของธุรกิจเล็กๆ วัย40 กว่า แต่งงานแล้ว ไม่มีลูก กล่าว
นกเป็นตัวอย่างหนึ่ง ไม่ต่างจากหลายล้านคนที่ไม่ได้เตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัยใดๆ เลย

ในงานวิจัยการเตรียมตัวสังคมสูงวัยไทย พบว่า ประชากรไทยร้อยละ 10 คือ กลุ่มคนที่ไม่คิดไม่เตรียมความพร้อมด้านการออมเลย และร้อยละ 30 คือกลุ่มคนที่คิด แต่ไม่ออม รวมๆ แล้วร้อยละ 40 ไม่มีการเตรียมความพร้อมด้านเงินไว้ในยามแก่เฒ่า

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนที่มองการณ์ไกล เตรียมความพร้อม และอยากได้รับบริการที่มีคุณภาพจากภาครัฐ
“เมื่อถึงเวลาที่สมรรถนะของร่างกายของดิฉันเริ่มถดถอย (เทียบได้กับวัยของนักเรียน) ดิฉันไม่ควรขับรถทางไกล ไม่ควรเดินทางไกลคนเดียว ไม่ควรปีนขึ้นที่สูง ดิฉันยังอยู่คนเดียวพอได้ แต่การดำรงชีวิตประจำวันเริ่มเป็นภาระ” นวพร เรืองสกุล นักเขียนและอดีตผู้บริหารทางการเงิน เขียนเรื่อง ปฏิทินแห่งความหวังของผู้สูงอายุ ไว้ในบล็อกของเธอ

หากวันหนึึ่งสูงวัย และช่วยเหลือตัวเองได้น้อย เธอก็อยากมีตัวช่วย
“ดิฉันอยากจะได้บริการที่มีคนแวะเวียนมาทำงานหนักๆ ที่ทำเองไม่ไหวให้ เช่น มีคนรับไปเที่ยว หรือ พาไปซื้อของจำเป็นประจำสัปดาห์ ดิฉันอยากได้การทำกิจกรรมเป็นกลุ่มมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ดิฉันคิดและมีเพื่อนคุย เพราะเพื่อนร่วมรุ่นเริ่มล่วงลับไป ยิ่งมีเด็กๆ อยู่ในกลุ่มหรือในละแวกใกล้เคียงด้วยยิ่งดี
ดิฉันขอให้มีระบบเตือนผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ในกรณีที่ดิฉันประสบอุบัติเหตุหรือป่วยกะทันหัน เมื่ออยู่คนเดียว หากดิฉัมนป่วยไข้ไม่สบายและไม่มีคนดูแล อยากจะมีที่ให้ดิฉันได้ไปอยู่ชั่วคราวที่ดิฉันไม่ต้องมีภาระดูแลการกินการอยู่ของตนเอง ถ้าไม่มีญาติหรือชุมชนดูแล”

...........................
แม้คนส่วนใหญ่จะหวังว่ายามแก่ชราจะได้พึ่งพิงลูกหลาน แต่โครงสร้างสังคมที่เปลี่ยนไป ลูกหลานก็พึ่งพิงได้ยาก และระบบการดูแลผู้สูงวัยในไทยก็ยากที่จะเหมือนญี่ปุ่น ยุโรปหรือสิงคโปร์ ปัจจุบันรัฐยังไม่มีระบบการดูแลผู้สูงวัยที่เป็นทางเลือกให้ประชาชนเลย ขณะที่เราเข้าสู่สังคมสูงวัยตั้งแต่ปี 2548 และอีก 4 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ คือ มีประชากรสูงวัยร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ

1.
เมื่อถึงตอนนั้น (ปี 2564 ) ปัญหาผู้สูงวัยจะคุกรุ่นเพียงใด ลองคิดดู ทั้งเรื่องสูงวัยไม่มีเงินใช้ สูงวัยไม่มีคนดูแล และสูงวัยป่วยไข้สารพัดโรค
แม้หลายหน่วยงานที่ทำงานด้านนี้จะพยายามเสนอแนวคิดเรื่องผู้สูงวัยในหลายมิิติ แต่การขับเคลื่อนก็ต้องอยู่ที่ภาครัฐ

“ผมพยายามขับเคลี่อนให้ผู้สูงวัยมีงานทำ ผมเองตอนนี้อายุ 92 ก็ยังทำงานอยู่ และผมยังอยู่กับครอบครัวและลูกๆ สามคน ผมคิดว่าแม้เราจะอายุมากขึ้น ก็ต้องทำงาน ประกอบสัมมาอาชีพ ทำงานไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น และงานนั้นต้องมีรายได้มากกว่ารายจ่าย คนเราต้องมีเงินออมตั้งแต่ทำงาน “ คุณหมอบรรลุ ศิริพานิช ประธานคณะทำงาน มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าว

ในสังคมไทย จะมีสักกี่ร้อยกี่พันคนที่ผู้สูงวัยแล้วมีสุขภาพแข็งแรง มีคุณภาพชีวิตที่ดี เฉกเช่น คุณหมอบรรลุ ด้วยเหตุผลดังกล่าว คนในสังคมต้องตระหนักรู้ว่า ปัญหาผู้สูงวัยเป็นเรื่องใหญ่ เพราะในปี2558 ประชากรสูงวัยของประเทศไทยติดอันดับสองของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ มีจำนวนผู้สูงวัย 11 ล้านคน หรือร้อยละ16

ในปี 2574 ประเทศไทยจะมีจำนวนผู้สูงวัยร้อยละ 28 และกลายเป็นสังคมสูงวัยระบบสุดยอด

2.
โครงสร้างสังคมที่เปลี่ยนไป เมื่อมีประชากรสูงวัยมากขึ้น ประชากรวัยทำงานก็ต้องลดลง ปัจจุบันสัดส่วนระหว่างวัยทำงานต่อผู้สูงอายุ คือ 4 ต่อ1 และใน20 ปีข้างหน้าจะเหลือประชากรวัยทำงานต่อผู้สูงอายุประมาณ 1.7 ต่อ1

ถ้าอย่างนั้น รัฐต้องมีมาตรการที่หลากหลายรูปแบบเพื่อดูแลผู้สูงวัย ที่มีทั้งผู้สูงวัยที่อยู่คนเดียว ผู้สูงวัยอยู่เป็นคู่ไม่มีลูก ,ผู้สูงวัยอัลไซเมอร์,ผู้สูงวัยอยู่กับเพศเดียวกัน ผู้สูงวัยไม่มีเงิน ผู้สูงวัยถูกลูกหลานทอดทิ้ง ฯลฯ

“ผมคิดว่าน่าจะมีองค์กรที่เคลื่อนที่เร็ว อาจเป็นอาสาสมัคร หรือกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม องค์กรไม่แสวงหากำไร ดีไซน์ระบบบริหารจัดการที่เป็นกึ่งทางการเข้ามาช่วยกลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้ ซึ่งมีความหลากหลายปัญหา”ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวในเวทีเรื่อง สังคมสูงวัย ก้าวไปด้วยกัน ของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
อาจารย์วรเวศม์ มองว่า รัฐไม่ควรใช้มาตรการเดียวทั้งประเทศ เพื่อแก้ปัญหาผู้สูงวัยที่แตกต่างกัน และไม่ควรดำเนินการแบบปากกัดตีนถีบด้วยรูปแบบสถานสงเคราะห์คนชราอย่างเดียว

“ผมมีคำถามว่า หากลูกไม่ใช่แหล่งรายได้ของพ่อแม่ที่สูงวัย ในอนาคตผู้สูงอายุจะทำไง จะทำงานต่อ หรือออม หรือพึ่งพิงรัฐ ปัจจุบันเราพบว่า คนวัยทำงานร้อยละ 40 ไม่เคยเตรียมความพร้อมเลย ถ้าอย่างนั้นจะทำยังไงให้ประชากรวัยทำงานที่ใกล้สูงวัย และเกษียณแล้ว ได้ทำงานต่อ เพราะบางคนมีความสามารถ สุขภาพยังดีอยู่ ตรงนี้สำคัญ แต่ก็อยู่ที่นายจ้าง ซึ่งการขยายอายุเกษียณ ประเทศไทยจะฝ่าด่านตรงนี้ยังไง”

ในอนาคต ผู้คนจะอายุยืนมากขึ้นเรื่อยๆ และเลือกที่จะมีลูกน้อยลง หรือไม่มีลูกเลย นั่นหมายถึงประชากรวัยทำงานจะลดลง ขณะที่ประชากรสูงวัยก็มากขึ้นเรืื่อยๆ กรณีนี้ อาจารย์วรเวศม์ บอกว่า รายได้สำคัญของครอบครัวก็จะหายไป แม้รัฐจะมีระบบบำนาญ แต่ถ้าผลักภาระให้รัฐร้อยเปอร์เซ็นต์ รัฐก็ต้องใช้เงินงบประมาณมากขึ้น (ปี2558 เบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุ61,577ล้านบาท )
"ในอนาคตคนไม่มีลูกหรือญาติดูแล คนเหล่านั้นจะมีทางเลือกอื่นไหม ” อาจารย์วรเวศม์ ตั้งคำถาม

3.
หากคิดตามสูตรการดูแลผู้สูงวัยแบบเดิม คือ มีสถานสงเคราะห์ หรือบ้านพักคนชรา สำหรับผู้สูงอายุรายได้น้อย ส่วนคนมีฐานะก็สามารถจ้างคนมาดูแลที่บ้าน หรืออยู่บ้านพักคนชราของภาคเอกชน

“ถ้าอย่างนั้นคนที่รวยครึ่งๆ กลางๆ หรือคนเมือง ที่เปิดหน้าต่างออกไปแล้วถามว่า ชุมชนฉันอยู่ไหน เมื่อไม่มี พวกเขามีทางเลือกไหม จะทำยังไงให้เกิดการดูแลแบบในชนบท เพราะคนอยู่ในเมืองไม่ได้มีรายได้เยอะ ถ้ามีพ่อแม่สูงวัยจะจ้างคนมาดูแล ก็คงไม่ไหว” อาจารย์วรเวศม์ ตั้งคำถาม และบอกว่า ปัจจุบันรัฐพยายามส่งเสริมให้มีระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน หลายพื้นที่ประสบความสำเร็จ และหลายพื้นที่เพิ่งเริ่มต้น

“ในอนาคตผมมองว่า จะมีผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายในสังคม อย่างผู้สูงอายุเพศเดียวกันอยู่ด้วยกัน น่าจะมีองค์กรหรือหน่วยงานที่ไม่ใช่ภาครัฐมาสนับสนุนการทำงาน เพื่อผู้สูงอายุที่มีความแตกต่างหลากหลาย อาจให้พวกเขาดูแลกันเอง แต่รัฐบาลมักจะใช้นโยบายเดียว ก็ยิ่งตอบสนองความต้องการได้ยากขึ้นเรื่อยๆ "

แม้ที่ผ่านมา รัฐบาลจะมีระบบลดหย่อนภาษีลูกกตัญญู หรือการประกันสุขภาพลดหย่อนภาษี การช่วยเหลือลักษณะนี้ อาจารย์วรเวศม์ มองว่า ยังไม่มีคุณภาพมากพอที่จะช่วยเหลือผู้สูงอายุ ถ้าอย่างนั้นในอนาคตนายจ้างจะอนุญาติให้ลูกจ้างที่ต้องดูแลพ่อแม่ที่อยู่ในสภาวะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ มีโอกาสลางานเหมือนลาคลอดได้ไหม

“ การแก้ปัญหาผู้สูงวัย คงไม่ใช่แค่รัฐอย่างเดียว ถ้าเป็นไปได้ น่าจะมีการรวมกลุ่มอาสาสมัคร เข้ามาช่วยแก้ปัญหาคนสูงวัยที่มีความหลากหลาย อาจทำเป็นสตาร์อัพทางสังคม หรือทำเป็นมูลนิธิ ตอนนี้แม้จะมีการรวมตัวกันอยู่ แต่กระจัดกระจาย ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม ยกตัวอย่างการดูแลผู้สูงอายุอัลไซเมอร์ ก็ต้องมีคนที่มีความรู้ความเข้าใจ เราต้องสร้างองค์กรแบบนี้ขึ้นมา เพื่อช่วยให้คนสูงวัยก้าวไปด้วยกัน ”



(ล้อมกรอบ)
สถานการณ์ประชากรสูงวัย ปี 2558
-นิยามของผู้สูงวัย หากเป็นองค์กรสหประชาชาติ ใช้อายุ 60ปีขึ้นไป ส่วนประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่ใช้ฐานอายุ 65 ปีขี้นไป
-ประชากรโลก 7,349 ล้านคน มีผู้สูงอายุ 901 ล้านคน ราวๆ ร้อยละ 12 ของประชากรทั้งหมด ปัจจุบันประชากรโลกจึงเข้าสู่เกณฑ์สังคมสูงวัยแล้ว
-ทวีปที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัยมากที่สุด คือ ทวีปยุโรป (ร้อยละ24)
-ทวีปที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัยน้อยที่สุด คือ ทวีปแอฟริกา (ร้อยละ5)
-ทวีปเอเชีย แม้จะมีสัดส่วนประชากรสูงวัยสูงเป็นอันดับ4 (ร้อยละ12) รองจากทวีปยุโรป (ร้อยละ24) อเมริกาเหนือ (ร้อยละ21) และโอเชียเนีย (ร้อยละ17) แต่มีจำนวนประชากรสูงวัยมากที่สุดราว 508 ล้านคน
-ในอาเซียน ประชากรทั้งหมด 633 ล้านคน มีประชากรสูงวัย 59 ล้านคน สิงคโปร์มีประชากรสูงวัยมากที่สุด ร้อยละ 18รองลงมาคือไทย ร้อยละ16 ตามด้วยเวียดนาม ร้อยละ 10
-ปี 2562 จะเป็นครั้งแรกที่มีประชากรสูงอายุจะมากกว่าประชากรเด็ก

...............
จากหนังสือสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2558(มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย)