‘DifferSheet’ เป็นคนเก่งง่ายๆและสนุก

‘DifferSheet’  เป็นคนเก่งง่ายๆและสนุก

การเขียนบันทึกหัวใจของมันคือความคิด และไม่ว่ามันจะเป็นลายมือหรือพิมพ์ก็ตาม มันเป็นการกลั่นออกมาจากความคิด

“เด็กก็คืออนาคตของชาติ” แนวคิดนี้ก็คือแพชชั่นสำคัญที่ทำให้เกิดสตาร์ทอัพการศึกษา สมุดบันทึกดิจิทัลที่ชื่อว่า “DifferSheet”


ซึ่งมันก็คือ แพลตฟอร์มสำหรับเขียนบันทึกในรูปแบบโซเชียลเน็ตเวิร์ค เพื่อให้เด็กนักเรียนได้เขียนไดอารี่ หรือทำ Scrapbook โดยไม่จำกัดจำนวนเรื่อง และเด็กสามารถดาวน์โหลดอุปกรณ์ตกแต่งฟรีโดยไม่จำกัดอีกด้วย ทั้งสติ๊กเกอร์ ,กรอบรูป ,สติ๊กกี้โน้ตและรูปแบบสมุด เด็กจะได้ใช้จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ และทำให้การเขียนบันทึกมีความสนุกมากยิ่งขึ้น


ถามว่าการเขียนบันทึกดีอย่างไร? เมื่อได้ลองค้นในหลายๆแหล่งข้อมูลพบว่ามีคุณประโยชน์มากมายหลายอย่าง สอดคล้องกับที่ “ธกรกฤษ ธนธราโภคิน” (ฟรี) ผู้ก่อตั้ง DifferSheet อธิบายให้ “กรุงเทพธุรกิจ” ฟังว่า นอกจากการฝึกทักษะในด้านการเขียน การอ่าน การเล่าเรื่องแล้ว การเขียนบันทึกช่วยในเรื่องของการฝึกสมาธิ เสริมสร้างการจดจำที่ดี มีการคิดที่เป็นระบบระเบียบ ช่วยให้รู้จักตนเอง เข้าใจตนเองมากยิ่งขึ้น ฯลฯ


ความเป็นจริงนั้น ธกรกฤษพัฒนา DifferSheet ขึ้นมาตั้งแต่ยังสมัยที่เขายังเรียนวิศวะ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ แต่ตอนนั้นใช้ชื่อว่า Diary Social Network และเป็นผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศด้านไอซีที แอพพลิเคชั่นจากการส่งผลงานเข้าร่วมแข่งขันซอฟท์แวร์ อินโนเวชั่น คอนเทสต์ ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ The 2nd ICT International Student Project Conference 2013


ตัวเขาเองมีการพัฒนามันมาอย่างต่อเนื่อง และได้เปิดให้คนทั่วไปทดลองใช้เพื่อฟังฟีดแบ็ค จนที่สุด DifferSheet ก็สามารถเปิดตัวสู่ตลาดโรงเรียนเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา...ทำไมต้องโฟกัสลูกค้ากลุ่มโรงเรียน ซึ่งเป็นธุรกิจในรูปแบบ “บีทูบี”


"ผมมองว่าบีทูบีเป็นอะไรที่ดี หนึ่งมันจะทำให้เด็กผลักดันเด็ก เปรียบเทียบที่เราชอบเล่นไลน์ก็เพราะมีเพื่อน เลยคิดว่าต้องเริ่มทีห้องเรียนก่อน เด็กจะรู้สึกถึงการแข่งขัน ทำให้เกิดแรงจูงใจในการพัฒนาตัวเอง และมันยังทำให้เราสร้างผลงานที่เห็นได้อย่างชัดเจน ดังนั้นเราจึงไม่คิดทำบีทูซีตั้งแต่แรกเพราะมองว่าถ้าเด็กทำคนเดียวคงรู้สึกเคว้งคว้าง และไม่เกิดผล ตัวผู้ปกครองเองก็คงตั้งคำถามว่าทำไปเพื่ออะไร"


แผนของเขาก็คือ การนำเสนอ DifferSheet ให้เป็นโครงการนอกเวลาของแต่ละโรงเรียน เช่นเดียวกับโครงการรักการอ่านซึ่งเป็นนโยบายของทางกระทรวงศึกษาธิการ โดยจะเริ่มต้นกับโรงเรียนเอกชนที่เปิดสอนระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 เพราะคิดว่ามีความเหมาะสม และในอนาคตก็วางแผนว่าจะขยายไปถึงเด็กโตด้วยเช่นกัน ซึ่งต้องรอเวลา รอความพร้อม ทั้งในเรื่องของเงินทุน และจำนวนคนทำงานในทีมก็ต้องมีเพิ่มขึ้น


อย่างไรก็ดี ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนักในการเดินเข้าไปแนะนำสรรพคุณ DifferSheet กับทางผู้บริหาร หรืออาจารย์ของทางโรงเรียน ธกรกฤษบอกว่าเขาทำทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นการส่งจดหมาย การโทรศัพท์ การแฟกซ์ แม้แต่การทำเป็นใจดีสู้เสือก็คือเดินดุ่มๆเข้าไปโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า และที่ผ่านมายังมีการปรับแนวทางในการพรีเซนต์เพื่อทำให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่ายและรวดเร็วที่สุดอีกด้วย


"ตอนแรกเราจะเล่ายาวเลยว่าแพลตฟอร์มของเราดีอย่างไร มันต่างไปจากวิธีอื่นอย่างไร แต่ตอนนี้เรามีการย่อข้อความสื่อสารให้สั้นกระชับ หลักๆเราจะชี้ไปถึงประโยชน์ของเด็กที่จะได้รับ และรวมไปถึงมุมมองที่ว่าถ้าเด็กพัฒนาตัวเองดีขึ้น ผลดีก็จะเกิดขึ้นกับทางโรงเรียนด้วยเช่นกัน"


นอกจากนั้นยังมีการจัดโปรโมชั่นจูงใจ คือให้เด็กๆของแต่ละโรงเรียนได้ใช้แพลตฟอร์มฟรีเป็นระยะเวลา 1 เทอม (แต่เดือนพฤษภาคมนี้จะลดเวลาเหลือ 3 เดือน เนื่องจากเด็กๆของโรงเรียนที่ได้ทดลองใช้ก่อนหน้ามีพัฒนาการอย่างเห็นได้ชัด)


" การเขียนบันทึกหัวใจของมันคือความคิด และไม่ว่ามันจะเป็นลายมือหรือพิมพ์ก็ตาม มันเป็นการกลั่นออกมาจากความคิด ซึ่งเด็กบางคนอยากจะเล่าเรื่องแต่ลายมือไม่สวย ก็เลยขึ้เกียจเขียน แต่เรามีเครื่องมือที่เร่งเร้าทำให้เขาเห็นว่ามันสนุกโดยไม่ต้องเขียนก็ได้ เราจะดึงให้เด็กที่ไม่โอเคให้โอเค และเด็กที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น อยากให้เป็นอย่างนั้น"


เขาบอกว่าเวลานี้การเข้าไปนำเสนอกับโรงเรียนต่างๆ เริ่มง่ายขึ้นเพราะผลงานที่สร้างเป็นที่ประจักษ์ อีกทั้งมีโรงเรียนสุขฤทัย และพัฒนวิทย์ที่นำร่องตัดสินใจเซ็นสัญญาแล้ว ซึ่งเปรียบเป็นเหมือนตราประทับที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับ DifferSheet ได้เป็นอย่างดี


สมุดบันทึกดิจิทัล DifferSheet มีเคล็ดลับอยู่ตรงหน้าแรกที่จะโชว์ผลงานของเด็กที่ทำเจ๋งทำได้ดี ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจ ในเวลาเดียวกันเด็กที่อยู่ในแพลตฟอร์มทั้งหมดก็จะได้เห็นและอยากทำได้บ้างเช่นกัน


"แต่ละสัปดาห์เราจะมีการกำหนดหัวข้อ ล่าสุดก็คือสงกรานต์แสนสนุกเพื่อให้เด็กเขียนว่าเขาไปทำอะไรกันมาบ้าง พอคุณครูตรวจว่าใครเขียนดีคนนั้นก็จะได้รับรางวัลเป็นมงกุฏไปสะสมในโปรไฟล์เหมือนกับการเล่นเกม ทำให้เด็กอยากจะพัฒนาตัวเอง อยากจะเขียนได้ดีขึ้น และถ้าเขาเห็นว่าเพื่อนเก่งได้มงกุฎเยอะ เขาก็ต้องอยากทำให้ได้บ้าง มันจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบทำในสิ่งที่ดีๆโดยไม่ต้องมีใครไปบังคับ"


ประการสำคัญ DifferSheet จะมีระบบประเมินผลการเขียนของเด็กๆว่าเขาอยู่ในระดับใด เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของเด็กในระดับชั้นเดียวกัน และทำเป็นรายงานเพื่อให้ครูและผู้ปกครองได้ทราบพัฒนาการทักษะการเขียนของเด็ก


" เราจะมีการคำนวนหาค่าเฉลี่ยในหลายๆจุด ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพในการเขียน ความถี่ในการทำงาน ดูจำนวนเรื่อง เวลาใช้เขียน จำนวนคำที่ใช้เขียน รางวัลที่เขาได้รับ เด็กใช้เวลาจดจ่อกับงานนานเท่าไหร่ ซึ่งสมุดบันทึกธรรมดา ๆทั่วไปทำไม่ได้"


สำหรับโรดแมพที่วางไว้นั้น ธกรกฤษยอมรับว่าในวันนี้เขามีแต่แผนระยะสั้น ไม่ได้คิดยาวมากเพราะที่ผ่านมามักพบเจอกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ที่คิดไว้ก็คือ ภายในปีนี้จะรุกเดินหน้าเข้าหาโรงเรียนต่างๆอย่างต่อเนื่อง และในปีนี้จะต้องมีโรงเรียน 10 แห่งที่ตกลงเซ็นสัญญาใช้แพลตฟอร์ม รวมไปถึงจะพยายามขยายไปสู่ตลาดบีทูซีด้วย


“เป้าหมายของเราก็คือ อยากเข้าไปทุกๆโรงเรียนในประเทศไทย และค่าใช้จ่ายที่เราคิดก็คือ 350 บาทต่อคนต่อเทอมมันถือว่าถูกมาก การจะสร้าง นักคิด นักเขียน นักอ่านขึ้นมานั้นจะหาราคาที่ถูกกว่านี้คงไม่มีอีกแล้ว แม้แต่การเรียนพิเศษก็ยังต้องใช้เงินมากกว่านี้

ธุรกิจไม่เท่ แข่งน้อย


ถามว่ามีคู่แข่งมากน้อยแค่ไหน คำตอบก็คือ การแข่งขันนั้นดูเบาบางมาก ด้วยเขามีเหตุผลว่า เพราะธุรกิจนี้เป็นอะไรที่ไม่เท่ คนส่วนใหญ่มองว่าน่าเบื่อ ทั้งยังมองว่าการทำธุรกิจกับโรงเรียนก็เป็นเรื่องยาก


“เรามองว่ามันเป็นตลาดใหม่ และเราเองก็ไม่ได้หยุดความคิด ไอเดียของเรามีอยู่ตลอด ถ้ามีคนเข้ามาแข่งก็จะเป็นได้แค่ผู้ตาม แต่แน่นอนว่าการก้อบปี้ในธุรกิจย่อมหนีไม่พ้น แต่คนที่ก้อบปี้ธุรกิจการศึกษาน่าจะถูกมองว่าเป็นคนไม่ดี เราคิดอย่างนั้น”


จุดแข็งอีกอย่างคงเป็นความ “ถึก” เพราะเป็นโนบอดี้ไม่ได้รวยทรัพย์ ดังนั้นจึงเพียบพร้อมมากในเรื่องของความอดทน


“เรามีคิดถึงเรื่องการระดมทุน และคุยแล้วกับหลายกองทุน รวมไปถึงนักลงทุนที่เป็นแองเจิ้ลที่สนใจด้านการศึกษา ก็ไม่ได้ฟิกว่าต้องเป็นกองทุนแบบไหน แต่จะดูเงื่อนไขและเป้าหมายเพราะเราทำเรื่องการศึกษาถ้ากองทุนมองเรื่องเงินเป็นหลักไม่มองเรื่องของเด็กเลยก็คงไม่ได้”


แม้ในใจนั้นอยากจะได้ทุนมาเพื่อจะเร่งขยาย DifferSheet ให้รวดเร็วยิ่งขึ้้น เพราะแทนที่เด็กๆ จะได้มีโอกาสได้เขียนบันทึกในปีนี้ ถ้าช้าพวกเขาก็อาจต้องรอไปถึงปีหน้าซึ่งเป็นการเสียโอกาส เพราะสุดท้ายแล้วสำหรับเขาแล้วจะคิดถึงเด็กเป็นหัวใจหลักอยู่เสมอ