มนุษย์งานหลบไป AIกำลังมา

มนุษย์งานหลบไป AIกำลังมา

วันแรงงานแห่งชาติปีนี้ พักเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำไว้ในฐานที่เข้าใจ แล้วมามองไปในข้างหน้าว่าโลกกำลังจะพามนุษย์งานไปทางไหน

“งาน 5 ล้านตำแหน่งกำลังจะหายไปในปี 2020” ไม่ได้เป็นการคาดการณ์ที่เกินจริงของสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF) แต่เป็นการวิเคราะห์ที่ใกล้เคียงความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีตัวเลขการนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI และหุ่นยนต์ เข้ามาทำงานแทนในหลายสาขาอาชีพเป็นดัชนีที่ชี้ให้มนุษย์พึงตระหนัก

ในยุคสมัยที่เรียกว่า ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4’ แรงงานซึ่งส่อเค้าว่าจะตกขบวนไม่ได้มีแค่กรรมกรในโรงงาน คำเตือนนี้ยังถูกส่งไปยังพนักงานรับโทรศัพท์ นักบัญชี ทนายความ นักข่าว พนักงานรักษาความปลอดภัย ไปจนถึงวงการแพทย์ นั่นหมายความว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นแรงงานไร้ฝีมือ หรือไวท์ คอลลาร์ หากไม่มีความพร้อม ภาวะตกงานก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ในมุมมองของกรรมการสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ รองคณบดีฝ่ายการนักศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ใช่แค่คลื่นระลอกใหม่ แต่จะเร็วและแรงไม่ต่างจากพายุทอร์นาโด ซึ่งแรงงานไทยภายใต้นโยบาย ‘ไทยแลนด์ 4.0’ ต้องตั้งรับให้ดี เช่นเดียวกับภาครัฐที่ต้องปรับตัวให้ทัน

อยากให้ขยายภาพสถานการณ์แรงงานยุคไทยแลนด์ 4.0 ว่ากำลังเดินไปในทิศทางไหนและต้องเผชิญกับอะไรบ้าง

อย่างที่ทราบว่าประเทศไทยเรามีปัญหาเรื่องกับดักรายได้ปานกลางอยู่ คือเรามีรายได้ระดับปานกลางมายาวนานมากแล้ว อย่างน้อย 70 ปี แล้วเราก็ไม่หลุดออกจากตรงนี้สักที รัฐบาลก็อยากผลักดันให้เราเป็นประเทศที่มีรายได้สูง เหมือนประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย เพราะฉะนั้นก็เลยขับเคลื่อนนโยบายที่เรียกว่า ไทยแลนด์ 4.0 ขึ้นมา เป้าหมายของรัฐบาลก็คือพยายามทำให้สามารถก้าวข้ามจากกับดักรายได้ปานกลางออกมาได้ภายใน 15 ปี ซึ่ง 15 ตรงนี้หมายความว่า เราจะต้องโตเฉลี่ยประมาณ 5% ต่อปี ซึ่งตรงนี้มันค่อนข้างยากลำบากพอสมควร ถ้าเทียบกับปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 3 %

ทีนี้จะทำอย่างไรให้ไปถึงจุดนั้น ด้านหนึ่งก็ต้องเพิ่มคุณภาพของแรงงานให้ได้ แรงงานต้องมีทักษะมากขึ้น สามารถอัพเกรดตัวเองได้ ขณะเดียวกันก็มีการเพิ่มเทคโนโลยีเข้าไปด้วย เพราะฉะนั้นการที่จะไปไทยแลนด์ 4.0 ได้ประสบความสำเร็จตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ แรงงานต้องพัฒนาทักษะ รัฐบาลต้องแก้จุดนี้

ข้อจำกัดหลักๆ ของการขับเคลื่อนนโยบายนี้ก็คือทุนมนุษย์ที่มีอยู่จำกัดในเรื่องของทักษะ ผู้ประกอบการอยากได้แรงงานที่มีคุณภาพ แต่ปรากฎว่าหาไม่ได้ ในขณะเดียวกันเราก็ผลิตคนอีกกลุ่มหนึ่งออกมาล้นเกิน ไม่มีงานทำ กลายเป็นว่าเกิดปรากฎการณ์สองอย่างพร้อมกัน ก็แสดงว่าเราผลิตคนที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ต้องแก้จุดนี้ว่าจะทำอย่างไรให้ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา มาร่วมมือกันจับมือกันสร้างคนออกมาอย่างเหมาะสม

ความไม่สมดุลตรงนี้ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากค่านิยม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจบปริญญาตรี หรือภาพลบของอาชีวศึกษา คิดว่ามันเป็นกับดักอย่างหนึ่งของสังคมไทยหรือไม่ แล้วจะออกจากวังวนนี้อย่างไร

ที่ผ่านมาก็ดูเหมือนไม่ค่อยมีใครอยากเรียนอาชีวศึกษา ทั้งที่ผู้ประกอบการต้องการเหลือเกิน พวกช่างเทคนิคแขนงต่างๆ ทีนี้เราคงต้องมาพิจารณากัน ถ้าเป็นเรื่องค่านิยม วัฒนธรรมก็คงเปลี่ยนยากนิดนึง เราต้องไปเปลี่ยนในลักษณะของแรงจูงใจ ค่าตอบแทน ถ้าเขาเห็นว่าเรียนอาชีวะแล้วดี มีนายจ้างมารับไปทำงานเลย ได้ค่าตอบแทนดี ก็คิดว่าน่าจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ เพราะฉะนั้นโครงสร้างเงินเดือนอะไรต่างๆ ต้องปรับตามไปด้วย ไม่ใช่มองเขาเป็นช่างแล้วก็ให้ค่าตอบแทนเขาน้อย

เนื่องจากเป็นนักเศรษฐศาสตร์เราก็จะมองเรื่องกลไกราคา เรื่องแรงจูงใจ ถ้าแรงจูงใจมันเกิดขึ้นได้ แล้วก็สร้างสถาบันที่ไม่ใช่ให้นักเรียนมาตีกัน พ่อแม่ไม่ต้องเป็นห่วงลูกถ้าจะส่งไปเรียนอาชีวะ มันก็จะมีทางเลือกมากกว่าที่ผ่านมา ครูแนะแนวก็น่าจะมีส่วนให้คำแนะนำ ไม่จำเป็นว่าเส้นทางชีวิตที่ดีคือต้องผ่านเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น ไปอาชีวศึกษาก็ได้ ได้งานเหมือนกันแล้วงานดีด้วย มีเกียรติด้วย ได้เงินเดือนดีด้วย คิดว่าโครงสร้างเงินเดือนต้องปรับ กระทรวงแรงงานก็ต้องไปสร้างมาตรฐาน มีการทดสอบฝีมือ แล้วก็ให้ประกาศนียบัตรว่าเขามีทักษะฝีมือตรงนี้นะ เงินเดือนต้องเป็นเท่านี้นะ ก็จะทำให้โครงสร้างเงินเดือนหรือแรงจูงใจชัดเจนมากขึ้นซึ่งน่าจะแก้ปัญหานี้ไปได้

ซ้อนทับกับปัญหาเดิมๆ ยังมีแนวโน้มที่ว่าเอไอหรือหุ่นยนต์จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์ เรื่องนี้น่ากังวลขนาดไหน

ถ้าเราดูแนวโน้มในปัจจุบัน งานรูทีน (routine) ทั้งหลายมีโอกาสทดแทนได้โดยหุ่นยนต์ สมัยก่อนแรงงานถูกทดแทนด้วยเครื่องจักร แต่ตอนนี้หุ่นยนต์มีความฉลาดมากขึ้น มันสามารถทำงานอะไรที่ซับซ้อนขึ้น เพราะฉะนั้นงานบางอย่างก็จะถูกทดแทนได้ เช่น งานบัญชีที่คิดตัวเลขเดบิต เครดิต งานขายของทางโทรศัพท์ หรืองานบางลักษณะของทนายความ คือมันไม่ใช่แค่เฉพาะแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว พวกพนักงานออฟฟิศก็สามารถที่จะถูกทดแทนได้เหมือนกัน แม้แต่คุณหมอเอง เช่นกรณีหมอทั่วๆ ไป หุ่นยนต์ก็ทำแทนได้

ขณะเดียวกันก็จะเกิดงานรูปแบบใหม่ๆ เนื่องจากข้อมูลในปัจจุบันข้อมูลมีอยู่เยอะมากที่เราเรียกว่า Big Data เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราขาดแน่นอนคือ คนที่จะวิเคราะห์ข้อมูล ก็จำเป็นต้องมีพวกนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) ที่จะมาวิเคราะห์ข้อมูล จัดระเบียบข้อมูล นอกจากนี้งานพวกบริหารจัดการ บริหารทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นอะไรที่ซับซ้อน งานที่ต้องวิเคราะห์ งานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ งานที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์อะไรต่างๆ เป็นงานที่หุ่นยนต์ยังทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่จำเป็นต้องมีทักษะพวกนี้ Critical Thinking, Creative, Innovative

งานต่อไปในอนาคต มีการวิเคราะห์ว่าอีก 65 % มันยังไม่เกิดในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นเราไม่ทราบเลยว่าอนาคตจะมีอาชีพอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง ด้วยอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น มันจะพลิกโฉมของโลกไปมากมาย หนึ่งในสามของทักษะที่ใช้ในปัจจุบันมันจะเอาท์เดท ทีนี้แล้วทักษะอะไรล่ะที่คนรุ่นนี้จะต้องรู้ ก็คือทักษะในการวิเคราะห์ การที่จะต้องปรับตัว เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เพราะฉะนั้นความรู้พื้นฐานสำคัญมาก เขาจะต้องมีกรอบความคิดอะไรต่างๆ เพื่อจะไปเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้

คนไทย แรงงานไทยมีเวลาในการปรับตัวมากน้อยแค่ไหน

จากข้อมูลที่ประเทศอื่นเขาทำ ประเทศไทยเป็นประเทศที่เอาหุ่นยนต์มาใช้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ ด้วยซ้ำไป แต่เราอาจจะยังไม่เห็นเท่านั้นเอง หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่โดยส่วนตัวคิดว่ามันมาแล้วจะมาแบบพายุเลย คือเป็นทอร์นาโดที่เข้ามาแบบรวดเร็วมากๆ โลกมันกำลังเปลี่ยนไปอย่างมากเลย คือจริงๆ แล้ว ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ เวลาจะลงทุนเขาเริ่มคิดแล้วว่าจะใช้แรงงานดีมั้ย หรือจะเปลี่ยนมาใช้หุ่นยนต์แทน ซึ่งก็ต้องดูว่าแรงงานที่มีอยู่มีปริมาณพอมั้ย คุณภาพได้มั้ย ถ้ามาดูในประเทศไทยเราถือว่าขาดแคลนแรงงาน แล้วคุณภาพก็ไม่ค่อยได้ด้วย หุ่นยนต์มันดีกว่าตรงที่ว่า ถึงแม้จะแพง แต่มันไม่เคยป่วย ไม่เคยเจ็บ ไม่นอน ไม่พัก ไม่ลาบวช ไม่ลาคลอด เพราะฉะนั้นนี่คือความน่ากลัวที่กำลังจะเข้ามาแล้วเราต้องตั้งรับให้ได้

ขณะเดียวกันก็ต้องมองมันเป็นโอกาสด้วย เพราะไม่ใช่การเข้ามาแทนที่อย่างเดียว แต่จะมีงานอื่นๆ เกิดใหม่ไปพร้อมกันด้วย เพราะฉะนั้นมันมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ด้านบวกตรงนี้ถือว่าเป็นความท้าทายของคนรุ่นใหม่ เราจะต้องอยู่ให้ได้ งานที่จะเกิดขึ้นใหม่ๆ เราต้องเข้าไปอยู่ตรงนั้นให้ได้

ถ้ามองจากมุมนี้ลักษณะการจ้างงาน รูปแบบการทำงานย่อมต้องแตกต่างไปจากเดิมมาก?

ด้วยอุตสาหกรรม 4.0 ที่กำลังเข้ามามันจะเปลี่ยนโฉมหน้าของตลาดแรงงานไปอย่างมาก ต่อไปเนื่องจากมีบล็อกเชน (Blockchain) เราก็จ่ายเงินระหว่างกันได้เลย ไม่ต้องมีตัวกลางหรือธนาคารมาทำหน้าที่ตรงนี้แล้ว เรามีข้อมูลระหว่างบุคคล แล้วก็อาศัยระบบการตรวจสอบข้อมูลที่ทั่วโลกสามารถไว้วางใจกันได้

ยกตัวอย่างเช่น แอร์บีเอ็นบีที่เข้ามา มันก็เป็นเพราะเงื่อนไขเหล่านี้แหละ เราสามารถเปิดบ้านให้คนเข้ามาอยู่เพราะว่าเราไว้ใจ มันมีเรตติ้งมีอะไรต่างๆ อยู่ คนที่จะมาพักกับเราก็ไว้ใจ เพราะมีข้อมูลอะไรต่างๆ ฉะนั้นมันเริ่มจะไม่ใช่การซื้อสินค้าแล้ว เป็นการซื้อบริการ อูเบอร์ก็เหมือนกัน อุตสาหกรรมในแบบนี้มันเป็นลักษณะของ Sharing Economy ก็คือแบ่งกันใช้ ไม่ต้องเป็นเจ้าของ

สำหรับตลาดแรงงานมันหมายความว่ายังไง ก็หมายความว่าต่อไปคนก็ไม่ต้องถูกจ้างงานโดยบริษัทแล้ว คนจะมีลักษณะเป็นฟรีแลนซ์มากขึ้น คือการจ้างงานก็จ้างโดยตรงเลย อาจารย์มีทักษะตรงนี้อยู่ อยากจะให้ทำงานก็ติดต่อโดยตรงเลย ไม่ต้องมีสัญญาการจ้างงานแบบบริษัท หมดคอนแทคก็จบกัน การมีบริษัทก็คือมีตัวกลางนั่นแหละ เพราะเมื่อก่อนเราหาตัวไม่เจอว่าคนไหนที่ทำงานอันนี้ได้บ้าง แต่ต่อไปลักษณะการจ้างงานจะไม่เป็นแบบนี้แล้ว แรงงานจะต้องมีสกิลอะไรบางอย่างที่คนจะวิ่งมาหา เพราะฉะนั้นตลาดแรงงานจะไปในทิศทางนั้น

แรงงานเองก็ต้องปรับตัว หาทักษะของตัวเองให้ได้ว่าจะทำอย่างไรให้เราอยู่ในตลาดได้ มีคนอยากมาจ้างงานเรา ถ้าเราเก่งงานทุกอย่างก็จะเทมาหาเรา ถ้าเราไม่เก่งงานก็จะไม่วิ่งหาเรา เมื่อก่อนเราอาจจะอยู่ได้ด้วยชื่อของบริษัท ถ้าบริษัทดีมีชื่อเสียงงานก็จะเข้ามาหาเราด้วย แต่ต่อไปทุกอย่างมันเปลี่ยน และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะมันไม่ต้องมีตัวกลางแล้ว ทุกอย่างวิ่งหาสิ่งที่ดีที่สุดหมดเลย เพราะฉะนั้นต้องเข้มแข็ง ต้องแข็งแกร่ง

แรงงานต้องเพิ่มทักษะ หาอะไรที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้ เราต้องเก่งกว่าหุ่นยนต์ แต่ก่อนมีเครื่องจักรมาเราก็ไปกดปุ่ม แล้วปล่อยมันทำงานไป ตอนนี้หุ่นยนต์มันกดปุ่มตัวมันเองได้แล้ว วิเคราะห์ข้อมูลประมวลผลรวมถึงซ่อมตัวเองได้แล้ว เพราะฉะนั้นแรงงานก็ต้องทำอะไรที่ไปไกลกว่าหุ่นยนต์ให้ได้ถึงจะอยู่รอดได้

อะไรคือความท้าทายของภาครัฐท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนี้คะ

คือพอโลกมันเปลี่ยน ระบบการศึกษา แรงงาน หรือแม้แต่กระบวนการยุติธรรมก็ต้องเปลี่ยนบทบาทไปอย่างมาก ต่อไปการศึกษาอาจจะไม่ใช่รูปแบบในปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการก็ต้องเปลี่ยน อาจจะเป็นลักษณะว่างานนี้ต้องการทักษะอะไรบ้าง เขาก็จะลิสต์มา สมมติว่า 5 ทักษะ ถ้าคุณได้ประกาศนียบัตร 5 ทักษะนี้คุณก็เป็นได้ รูปแบบการศึกษาก็จะไม่ได้อยู่ในลักษณะของคณะวิชา ต้องสอนอย่างนี้ ต้องจบภายในสี่ปี ต่อไปอาจเป็นว่าคุณไปเรียนยังไงก็ได้ เทคคอร์สที่ไหนก็ได้ แค่ต้องมาทดสอบมาตรฐานให้ครบตามข้อกำหนดของใบอนุญาตทำงาน หรือตามที่บริษัทต้องการ คุณก็ทำงานได้แล้ว

แล้วกระทรวงแรงงานทำอะไร กระทรวงแรงงานควรจะทำหน้าที่ออกมาตรฐานตัวนี้ให้ได้ ทดสอบให้ได้ว่าคนนี้มีทักษะด้านนี้จริงๆ ออกใบอนุญาต ทดสอบมาตรฐานที่เชื่อถือได้เป็นมาตรฐานสากล รวมถึงทำหน้าที่ช่วยเหลือด้านการฝึกอบรมให้แรงงานมีทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาด

ถ้ามองรัฐบาลในภาพใหญ่ว่าควรทำอะไร ก็ควรทำสถาบันให้มันดี กฎหมายมีความยืดหยุ่นเหมาะกับโลกปัจจุบัน ลดในเรื่องของการคอรัปชั่นลง จัดการด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เข้มแข็ง คือสร้างเด็กให้เป็นเด็กที่เรียนรู้ได้ตลอดเวลา อันนี้คือแรงงานที่กำลังจะออกมา เขาจะต้องมีความพร้อม ปรับตัวที่จะเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ถือเป็นความท้าทายของรัฐบาล กระบวนการยุติธรรมเป็นขั้นพื้นฐานที่ต้องเข้มแข็ง แข็งแกร่ง ให้ความเป็นธรรมกับคนได้

อีกส่วนหนึ่งก็คือเรื่องการศึกษา เราจะสร้างนวัตกรรมได้อย่างไรถ้าเด็กเรายังคิดเองไม่ได้ ก็ต้องปฏิรูปการศึกษาอย่างมากๆ อย่างอื่นๆ ถ้าทำให้สิ่งแวดล้อมเหล่านี้ดี รัฐบาลไม่ต้องยุ่งอะไร พอการศึกษาดี โอกาสของคนเริ่มเท่ากัน หลังจากนั้นเอกชนทำเองได้ ผู้ประกอบการเมืองไทยเขาทำได้อยู่แล้ว

ในภาวะที่พายุแห่งการเปลี่ยนแปลงใกล้เข้ามาแล้ว อาจารย์มีคีย์เวิร์ดอะไรที่จะแนะนำให้แรงงานไทยใช้ในการพยุงตัวเองให้รอดปลอดภัย

3 คำที่ควรจะเป็นทักษะของแรงงานในอนาคตก็คือ Critical Thinking, Creative, Innovative คิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่จำเป็นที่จะต้องช่างคิดวิเคราะห์ ไม่ใช่คิดอะไรฟุ้งๆ นะ ช่างตั้งคำถาม ต้องเป็นคนที่รู้จักตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็น มีความคิดสร้างสรรค์ซึ่งเป็นพื้นฐานในการสร้างนวัตกรรม

ถึงตอนนี้แรงงานไทยต้องเตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เช่นเดียวกับทุกครั้งของการปฏิวัติอุตสาหกรรม เราต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและเรียนรู้ตลอดชีวิต