ชไนเดอร์แนะภาคการผลิต ดึง ‘ไอไอโอที’ เสริมเขี้ยวเล็บ

ชไนเดอร์แนะภาคการผลิต ดึง ‘ไอไอโอที’ เสริมเขี้ยวเล็บ

เทคโนโลยีจำลองภาพเสมือนจริง สามารถจำลองภาพโรงงาน และการทำงานได้สมจริงช่วยพัฒนาทักษะการรับมือสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด

‘ชไนเดอร์’ ชี้ อุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้ระบบออโตเมชั่นพัฒนาก้าวกระโดด เหตุ 'ไอไอโอที" ตัวเร่งภาคการผลิตปฏิรูปสู่ดิจิทัล แนะผู้ประกอบการเร่งปรับตัว

นายแมทธิว กอนซาเลซ รองประธาน หน่วยธุรกิจอุตสาหกรรม ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทย กล่าวว่า เทรนด์หลักไอไอโอที (Industrial Internet of Things) ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยุคปัจจุบัน เทรนด์แรก คือ การวิเคราะห์ขั้นสูง ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ และเครื่องจักรที่เรียนรู้ได้ จะเห็นองค์กรธุรกิจนำแพลตฟอร์มธุรกิจอัจฉริยะ และระบบอัจฉริยะด้านการผลิต มาใช้สืบหาสาเหตุ และทำความเข้าใจถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น

ปัจจุบันไอไอโอที ทำให้ผู้ประกอบการด้านการผลิตสามารถนำการวิเคราะห์ขั้นสูง รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ และการเรียนรู้ของเครื่องจักรกล หรือแมชชีน เลิร์นนิ่ง มาสนับสนุนโซลูชั่นการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ สามารถนำเสนอทางเลือก พร้อมคาดการณ์ผลลัพธ์ที่จะตามมา ด้วยการเชื่อมต่อข้อมูลจากสมาร์ทเซ็นเซอร์ อุปกรณ์ และสินทรัพย์อื่นๆ ที่มีอยู่เดิมเข้ากับแอพพลิเคชั่น รวมถึงระบบวิเคราะห์เชิงคาดการณ์บนคลาวด์ เพิ่มศักยภาพเชิงกลยุทธ์ ที่ไอไอโอทีช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการผลิตได้

เทรนด์ถัดมา คือ ฝาแฝดดิจิทัล (digital twins) ไอไอโอที และความเป็นดิจิทัลช่วยให้บริษัท สร้างสำเนาหรือตัวก็อปปี้ของสินทรัพย์ให้อยู่ในรูปของดิจิทัล หรือที่เรียกว่าฝาแฝดดิจิทัล เพื่อใช้จำลองสถานการณ์ และนำมาใช้งานบนสภาพแวดล้อมระบบเสมือนให้เหมาะสมก่อนจะใช้ทรัพยากรจริง ตัวแทนเสมือนของสินทรัพย์ที่จับต้องได้ยังครอบคลุมถึงการทำสำเนาและจัดเก็บ (Archive) ข้อมูลแบบเรียลไทม์ รูปวาด โมเดล ใบเสร็จของสิ่งต่างๆ การวิเคราะห์เชิงมิติและวิศวกรรม ข้อมูลการผลิตและข้อมูลการการดำเนินงานที่ผ่ามมา สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐาน เพื่อวัดมาตรฐานด้านประสิทธิภาพการทำงาน

ในทำนองเดียวกัน ข้อมูลเรียลไทม์จากการรวบรวมของเซ็นเซอร์ หรือแหล่งข้อมูลจากภายนอกองค์กร สามารถนำมาใช้วิเคราะห์ เช่น การตรวจสอบเงื่อนไข คาดเดาสาเหตุความล้มเหลว ตลอดจนวิเคราะห์เชิงคาดการณ์ และวิเคราะห์เพื่อหาทางเลือก คาดการณ์ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น

ความรู้ต่างๆ เหล่านี้ สามารถเพิ่มคุณค่าให้อายุการใช้งานของสินทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปรับปรุงประสิทธิภาพ คาดการณ์ล่วงหน้าเพื่อป้องกันความล้มเหลว ช่วยปรับปรุงส่วนงานผลิตและออกแบบให้ดำเนินการได้ต่อเนื่อง

นายกอนซาเลซ กล่าวด้วยว่า อีกเทรนด์ที่น่าสนใจ คือ ไอไอโอที ช่วยให้ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเสมือน ไม่ว่าจะเป็น เออาร์ (AR) และวีอาร์ (VR) การฝึกอบรมด้วยโปรแกรมจำลองสถานการณ์ให้กับพนักงานใหม่ อาจเป็นแนวทางที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีในการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับโรงงาน

เทคโนโลยีที่ใช้งานร่วมไอไอโอที เช่น เกมต่างๆ เออาร์ วีอาร์ เทคโนโลยีจำลองภาพเสมือนจริงที่ใช้เป็นอุปกรณ์สวมใส่ สามารถจำลองภาพโรงงานและหน้าที่การทำงานได้สมจริง ช่วยให้การเรียนรู้ดีขึ้น ช่วยพัฒนาทักษะรับมือสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดที่เกิดขึ้นในโรงงาน รวมถึงเพิ่มความมั่นใจให้คนทำงานทั้งเรื่องการทำงาน และการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน

นอกจากนี้ การปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ที่แข็งแกร่ง เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดความกังวลในการนำไอไอโอที เข้ามาใช้ในภาคการผลิต

นายกอนซาเลซ แนะว่า ผู้ใช้ปลายทางและผู้ประกอบการด้านการผลิต ควรให้การตอบรับไอไอโอที แทนการต่อต้าน เพราะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ไม่ว่าจะเป็น การบริหารจัดการสินทรัพย์ ช่วยหลีกเลี่ยงการเกิดดาวน์ไทม์

ขณะที่ ซัพพลายเออร์ด้านระบบออโตเมชั่นจะต้องช่วยลูกค้าคำนวณเรื่องการคืนทุน ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญสำหรับการลงทุนโซลูชั่นไอไอโอทีใหม่ๆ เหล่านี้ ส่วนสินทรัพย์เดิมจะยังคงเป็นส่วนหนึ่ง และจะถูกรวมอยู่ในโซลูชั่นเทคโนโลยีไอไอโอทีเท่าที่จะเป็นไปได้