แนะอาเซียนเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหนุนท่องเที่ยว

แนะอาเซียนเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหนุนท่องเที่ยว

นักธุรกิจท่องเที่ยวทั่วโลกใช้เวทีประชุมสุดยอดสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก(World Travel & Tourism Council Global Summit) หรือ WTTC ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่26-27 เม.ย.ที่ผ่านมา

ได้สะท้อนจุดอ่อน “อาเซียน” ซึ่งขาดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอื้อต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยการประชุมวันที่ 2 วานนี้ (27 เม.ย.)  ภายใต้หัวข้อ “Freedom to Travel-can ASEAN lead the way” 

อรัน มิชา ผู้อำนวยการภูมิภาคองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) สำนักงานเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ต้องการให้ประเทศอาเซียนมีการเปิดเสรีน่านฟ้าอย่างเต็มที่ โดยให้รัฐบาลแต่ละประเทศขยายข้อตกลงการใช้ “Seveth Freedom” ในธุรกิจการบินพาณิชย์ระหว่างประเทศซึ่งจะให้สิทธิสายการบินเปิดเส้นทางระหว่างจุดบินหนึ่งไปยังจุดบินหนึ่งในต่างประเทศโดยไม่ต้องใช้หรือผ่านจุดบินภายในประเทศตัวเองที่ทำการจดทะเบียนธุรกิจได้

การขยายข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยยกระดับธุรกิจการบินให้มีความเข้มแข็งเป็นสายการบินระดับภูมิภาคมากขึ้น แข่งขันกับสายการบินนอกภูมิภาค เช่น จีน และตะวันออกกลาง ที่เติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะตะวันออกกลางที่เป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ในปัจจุบัน 

หากมีผู้ให้บริการเพิ่มขึ้นจะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มทำให้ระดับราคาเฉลี่ยลดลง และเข้าถึงนักท่องเที่ยวมากกว่าเดิม”

นอกจากนี้  แต่ละประเทศต้องเร่งพัฒนาท่าอากาศยานรองรับการเติบโตของท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมาภาคเอกชนตื่นตัวในการขยายธุรกิจและเส้นทางบิน แต่จะติดขัดเรื่อง “สล็อต” ที่ไม่เพียงพอในการลงจอดสนามบินต่างๆ เป็นปัญหาใหญ่ของทุกประเทศ

ระหว่างการประชุมดังกล่าว ได้ทำการสำรวจผ่านระบบออนไลน์นักธุรกิจจากทั่วโลกที่เข้าร่วมประชุมภายใต้คำถามว่า “อาเซียนยังต้องการพัฒนาและการลงทุนใดมากที่สุด” ปรากฏว่ามากกว่า 52% ระบุว่าเป็นเรื่อง “การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน” ตามด้วยการลงทุนพัฒนาบุคลากร และการพัฒนากฎระเบียบต่างๆ ที่ถูกยกเป็นประเด็นสำคัญอันดับ 2 เท่ากันที่ 21%

กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า  ประเทศไทยตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวและภาครัฐได้เริ่มวางระบบโครงสร้างด้านคมนาคมรองรับการเติบโตใน2 เส้นทางหลัก คือ ระบบรางจากภาคเหนือลงภาคใต้และสามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศจีนได้  และระบบรางจากภาคตะวันตกถึงตะวันออกที่เชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทั้งสามารถเชื่อมต่ออินเดียและเมียนมาได้ เป็นการเสริมความแข็งแกร่งการขนส่งทางอากาศ ซึ่งปัจจุบันไทยมีเที่ยวบินเชื่อมต่อในอาเซียนแล้ว ได้แก่ เมียนมา 7 เส้นทาง รวม 290 เที่ยว/สัปดาห์  เวียดนาม 4 เส้นทาง 190เที่ยว กัมพูชา 2 เส้นทาง 108 เที่ยว ลาว 4 เส้นทาง 61 เที่ยว

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาที่นำโดยภาครัฐอาจล่าช้าไม่ทันต่อการขยายตัวด้านท่องเที่ยวที่รวดเร็ว ดังนั้น ไทย จึงพร้อมเปิดรับการลงทุนโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและเอกชน (PPP) มากขึ้น ในการพัฒนาระบบคมนาคมทั้งทางบก  น้ำ และอากาศ  มีเป้าหมาย 2 เรื่อง คือ ใช้เงินทุนมาช่วยขับเคลื่อนและได้โนว์ฮาวหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ภาคธุรกิจมีอยู่แล้ว เช่น สายการบิน บริษัทเดินเรือ ที่มีทั้งอากาศยานและเรือ รวมถึงลูกค้าในมือ  ซึ่งจะนำเสนอให้ลงทุนในพื้นที่ใหม่ๆ ให้เกิดการกระจายรายได้ เพื่อกระตุ้นให้สายการบินขยายเส้นทางที่อู่ตะเภาด้วย

การลงทุนภาครัฐอาจไม่เพียงพอและล่าช้า จึงถือโอกาสใช้เวที WTTC  ประกาศว่าไทยพร้อมรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นท่าเรือน้ำลึก ท่าเรือยอชท์ สนามบินในภูมิภาค เช่นกลุ่มแอร์เอเชียที่เริ่มเข้ามาขยายเส้นทางโดยใช้อู่ตะเภาเป็นฮับแล้ว”

 ทั้งนี้ อาเซียน ยังเป็นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโต คาดการณ์ค่าเฉลี่ย 6.5% ต่อเนื่อง10 ปีข้างหน้า ภายใต้ความร่วมมือของ 10 ประเทศ มีแผนส่งเสริมท่องเที่ยวใน 2 มิติ ได้แก่ นำนักท่องเที่ยวระยะไกล (Long Haul) นอกภูมิภาคเข้ามา ด้วยการจับคู่ 2 ประเทศ ภายใต้แนวคิด 2 ประเทศ 1 จุดหมาย (Two Countires One Destination) คู่ขนานกับการส่งเสริมการเดินทางภายในอาเซียนที่มีฐานประชากรกว่า 650 ล้านคน

ปีที่ผ่านมาไทยมีตลาดอาเซียนครองส่วนแบ่งกว่า 27%  จำนวนกว่า 8.6 ล้านคน ส่งเสริมการเดินทางในเชิงเพิ่มความถี่ในฐานะเป็นจุดหมายวันหยุดสุดสัปดาห์

สำหรับการเข้าร่วมประชุม WTTC  ครั้งนี้ กระทรวงมีนัดประชุมหารือการส่งเสริมท่องเที่ยวกับรัฐมนตรีของ 7 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เกาหลีใต้ เม็กซิโก ซีเชลส์ และจาไมกา

อารีฟ ยาห์เฮีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวอินโดนีเซีย กล่าวว่า อินโดนีเซีย ยังต้องการเงินลงทุนจากต่างประเทศเพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆเพราะปัจจุบันพบว่าศักยภาพของการลงทุนภาครัฐมีเพียง 30% ยังขาดการลงทุนจากนอกประเทศอีกกว่า 70% เพื่อขับเคลื่อนโครงการทั้งหมด

แต่อินโดนีเซียยังมีปัญหาเรื่องความง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of doing business) ที่ยังอยู่ในระดับต่ำมากจึงเป็นอุปสรรคสำหรับกลุ่มทุนต่างประเทศที่ต้องการส่งเสริมเข้ามาและทำให้ประเทศต้องปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบอีกมาก”

ทั้งนี้ ประเทศในอาเซียนควรต้องใช้ความเชี่ยวชาญพิเศษของแต่ละประเทศมาส่งเสริม “เพื่อนบ้าน” เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาที่สอดคล้องและได้ประโยชน์ร่วมกัน