ส่องนักช้อปออนไลน์ดัน‘เอ็มคอมเมิร์ซ’บูม

ส่องนักช้อปออนไลน์ดัน‘เอ็มคอมเมิร์ซ’บูม

ข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(องค์การมหาชน)หรือ ETDA  สำรวจธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในไทยปี 2559 มีมูลค่า 2.52 ล้านล้านบาท เติบโต 12.42% โดยมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้ 

แพน จรุงธนาภิบาล ผู้จัดการแผนกคอนซูเมอร์ อินไซต์ กรุ๊ปเอ็ม ประเทศไทย กล่าวว่าการสำรวจ “2017 Thailand eCommerce Outlook” ของกรุ๊ปเอ็มพบว่าการพัฒนาเทคโนโลยีปัจจุบัน รวมทั้งอัตราการขยายตัวของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ นับเป็นปัจจัยสำคัญกระตุ้นการเติบโตตลาดอีคอมเมิร์ซไทย เฉลี่ยปีละ 10-20%

ปัจจัยที่ทำให้อีคอมเมิร์ซอยู่ในทิศทาง“ขาขึ้น” มาจากผู้บริโภคเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก ส่งผลให้รับรู้ข้อมูลมากขึ้น ปัจจุบันผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือเป็นหลัก ดังนั้นช่องทางการใช้อีคอมเมิร์ซของผู้บริโภคเปลี่ยนจากคอมพิวเตอร์เป็น“มือถือ” จึงเป็นยุคที่เรียกว่า“โมบาย คอมเมิร์ซ”(เอ็ม คอมเมิร์ซ) 

โดยเฉพาะผู้บริโภคต่างจังหวัดที่มีประสบการณ์ใช้อินเทอร์เน็ตครั้งแรกผ่านมือถือ ปัจจุบันกลายเป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์ซื้อสินค้าผ่านมือถือครั้งแรกเช่นกัน ต่างจากคนกรุงเทพฯ ที่เริ่มซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านพีซี ก่อนจะเปลี่ยนเป็นโมบาย แพลตฟอร์ม

"การใช้โมบาย แพลตฟอร์ม ทำให้วันนี้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป จากการเปิดดูเว็บไซต์แล้วคลิกซื้อสินค้า มาสู่ยุคเอ็ม คอมเมิร์ซ ที่ทำให้เกิดการใช้จ่ายได้ทุกเวลาทุกสถานที่"

หากวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคในยุคเอ็ม คอมเมิร์ซ ได้แบ่งนักช้อป ออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย

กลุ่มนักช้อปล่องหน  จากพฤติกรรมที่ไม่ต้องการแสดงตัวเพื่อซื้อสินค้าในช่องทางค้าปลีกทั่วไป เนื่องจากสินค้าที่ต้องการซื้อ เป็นลักษณะใช้งานเพื่อพัฒนาตัวเอง หรือแก้ไขความผิดปกติ เช่น น้ำยาปลูกผม ผู้บริโภคจึงไม่ต้องการไปซื้อสินค้าร้าน เพราะรู้สึกอายและไม่มั่นใจ อีกทั้งการซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์ สามารถหาข้อมูลเปรียบเทียบราคา และสั่งซื้อเองได้

กลุ่มที่ชอบความล้ำเทรนด์ นิยมชอบปิง ออนไลน์ผ่านมือถือ เพราะได้สิ่งของที่ไม่สามารถหาซื้อได้ในร้านค้าทั่วไป โดยต้องการเป็นผู้นำทางสังคมจึงพยายามมองหาสิ่งใหม่ ล้ำเทรนด์ตลอดเวลา เพื่ออัพสเตตัสบนโลกออนไลน์ จากการใช้สิ่งของใหม่ๆ ก่อนคนอื่น ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์บนโลกออนไลน์

กลุ่มที่เน้นความคุ้มค่า พบมากที่สุดในกลุ่มครอบครัว เลือกซื้อสินค้าที่ความคุ้มค่ามีการวางแผนที่ดี ดังนั้นการซื้อสินค้าแต่ละครั้ง ต้องทำให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด นิยมสั่งซื้อสินค้าออนไลน์แพ็คใหญ่เพื่อให้ได้ราคาถูก

กลุ่มวัยรุ่นเอาแต่ใจ จะเลือกซื้อสินค้าที่ตัวเองชื่นชอบ ราคาไม่แพงแต่มีความถี่ในการซื้อสูงเพื่อนำเทรนด์ เป็นการซื้อสินค้าที่ตอบสนองความต้องการ“ไม่ใช่ที่โปรดักท์” แต่ซื้อจากความพอใจ"

แพน กล่าวว่าจากการสำรวจกลุ่มนักช้อปออนไลน์ พฤติกรรมที่เหมือนกัน คือการใช้จ่ายเงิน ที่ไม่ใช่รูปแบบเงินสดอีกต่อไป โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ที่ใช้เงินรูปแบบบัตรเครดิต และสมาร์ทการ์ดบริการต่างๆ  ที่ช่วยลดความยุ่งยากในการใช้ชีวิตประจำวันจากการใช้เงินสดลง ขณะที่คนต่างจังหวัด บอกว่าเงินของพวกเขาอยู่ในมือถือ ที่เป็นกระเป๋าเงิน ผ่านโมบาย แบงกิ้ง และแอพต่างๆ

รูปแบบตลาดที่เปลี่ยนไป จากเงินที่ถูกเปลี่ยนให้เป็น“อีมันนี่”อยู่ในมือถือและบัตรต่างๆ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจับจ่าย ที่ไม่จำเป็นต้องไปเดินจ่ายตลาด เพราะช่องทางค้าปลีกวันนี้ ไม่ได้มีสินค้าทุกอย่างที่ผู้บริโภคต้องการ ขณะที่“ชอปปิง ออนไลน์”มีสินค้าให้เลือกหลากหลายและพร้อมจ่ายตลอดเวลาจากเงินที่อยู่ในมือถือ