สยามพิวรรธน์หนุนธุรกิจโลกมุ่ง‘ลักชัวรี’แนวยั่งยืน

สยามพิวรรธน์หนุนธุรกิจโลกมุ่ง‘ลักชัวรี’แนวยั่งยืน

ในโอกาสที่ไทยได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก หรือ WTTC Global Summit 2017 

เป็นเวทีรวม“ผู้นำ”ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วโลกมาร่วมหารือและแลกเปลี่ยนประเด็นสำคัญในการพัฒนาสำหรับอนาคต 

หัวข้อเสวนา The Traveler of the future – luxury travel ผู้บริหารธุรกิจหญิงหนึ่งเดียวจากไทย ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ได้รับเลือกให้เข้าร่วมเสวนากับผู้บริหารธุรกิจเจาะกลุ่ม“ไฮเอนด์”ชั้นนำจากอีก 4 ธุรกิจระดับนานาชาติ

ชฏาทิพ กล่าวถึงแนวโน้มของการชอปปิงของนักท่องเที่ยวตลาดลักชัวรีว่า จะไม่เพียงแต่เน้นการแสวงหาตัวสินค้าแบรนด์หรูอย่างเดียวอีกต่อไป จะเน้นประสบการณ์เชิงอารมณ์ (Emotional Experience) ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการที่ต้องการเจาะตลาดนี้ต้องสร้างความประทับใจนับตั้งแต่ต้นทางไปถึงปลายทาง ขยายขอบเขตบริการออกไปไม่เฉพาะบริเวณห้างสรรพสินค้าเท่านั้น แต่ต้องพร้อมให้บริการนับตั้งแต่ไปรับลูกค้าถึงหน้าโรงแรม รับฟังความต้องการเพิ่มเติม และให้คำแนะนำที่เหมาะสมเมื่อลูกค้าต้องการเดินทางไปที่อื่นต่อ

ยกตัวอย่างจากแนวทางการต้อนรับลูกค้าวีไอพีของศูนย์การค้าในเครือ ที่จะเน้นตอบโจทย์ให้ประสบการณ์ที่หรูหราด้วยการใช้แนวคิดนำความต้องการของลูกค้าเป็นศูนย์กลาง(Customer Centric) ช่วยประสานการเดินทางให้ราบรื่น หากหลังการชอปปิงต้องการจะไปเที่ยวชมวัด, เข้ารับบริการเชิงสุขภาพ ฯลฯ ต้องมีบริการนำเสนอให้ทันที

อย่างไรก็ตาม ด้วยหัวข้อการประชุมในครั้งนี้ที่มีแนวคิดกระตุ้นให้ภาคการท่องเที่ยว มีส่วนร่วมในการสร้าง “ความยั่งยืน” ให้กับวัฒนธรรม, สังคมชุมชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งระหว่างการเสวนามีการใช้ระบบออนไลน์สอบถามความคิดเห็นของผู้บริหารจากแวดวงท่องเที่ยวทั่วโลกเข้าร่วมฟัง ปรากฎผลกว่า 90% เห็นว่าการท่องเที่ยวตลาดลักชัวรียังไม่ให้ความสำคัญต่อความยั่งยืนมากพอนั้น 

 ชฎาทิพ กล่าวว่าปัจจุบันธุรกิจของสยามพิวรรธน์ เริ่มตระหนักถึงปัจจัยเหล่านี้เช่นกัน จึงนำมาซึ่งการวางแนวคิดของโครงการใหม่ “ไอคอนสยาม” ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในรูปแบบที่ต่างจากเดิมคือ วางนโยบายตั้งแต่ก้าวแรกให้เป็นโครงการที่ผ่านความเห็นชอบร่วมของชุมชน เพื่อโปรโมท “เจ้าพระยา”ในฐานะจุดหมายการเดินทาง แทนที่จะมุ่งสร้างการรับรู้ให้กับตัวโครงการเพียงอย่างเดียว

โดยโครงการร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่แรก ทั้งกลุ่มโรงแรมริมฝั่งเจ้าพระยากว่า 40 แห่ง, พระบรมมหาราชวัง, พื้นที่ที่จดทะเบียนกับยูเนสโก, ผู้บริหารท่าเรือ, บริษัทเดินเรือขนส่งข้ามฟาก, วัดริมแม่น้ำ, สมาคมชุมชนริมเจ้าพระยา และลงลึกไปถึงชุมชนริมรอบคลองอีก 20 สายที่เชื่อมต่อกับเจ้าพระยา เพื่อให้แน่ใจว่า การเกิดขึ้นและเติบโตของการท่องเที่ยวในละแวกแม่น้ำ จะต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตที่เกี่ยวข้องเหล่านั้นให้ดีขึ้น โดยยังคงอนุรักษ์คุณค่าดั้งเดิมที่มีอยู่

"เชื่อว่าการเป็นดินแดนแห่งรอยยิ้ม รวมถึงอัธยาศัยไมตรีที่เป็นเอกลักษณ์ จะยังเป็นจุดเด่นเชิงประสบการณ์ ที่ทำให้ไทยต่างจากที่อื่น”

ด้าน คลีเมนต์ กว๊อก กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฮ่องกง แอนด์ เซี่ยงไฮ้ โฮเทลส์ ซึ่งเป็นเจ้าของกลุ่มโรงแรมภายใต้แบรนด์เพนนินซูล่า ที่ขยายกิจการไปทั่วโลก กล่าวว่า บริษัทเริ่มวางแนวคิด “ยั่งยืน” แล้วเช่นกันผ่านการกำหนด Vision 2020 นำสู่การปฏิบัติไม่ใช่เฉพาะด้านบริการลูกค้า แต่ให้ความสำคัญตั้งแต่การก่อสร้างโรงแรม วางระบบการบริหารจัดการทั้งหมด และคัดเลือกองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องในระบบซัพพลายเชนทั้งหมด ภายใต้แนวคิด “Sustainable Luxury” และมีเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งสื่อออกมาในรูปแบบของรายงานประจำปีให้ตรวจสอบได้ด้วย

“ประเด็นสำคัญคือ การสื่อสารให้ลูกค้าหรือคนทั่วไปรับรู้ถึงแนวคิดเรื่องความยั่งยืนด้วยว่า อะไรเป็นความยั่งยืนหรืออะไรที่ไม่ใช่ โดยในส่วนของลูกค้าก็ต้องเน้นสร้างความประทับใจนับตั้งแต่ต้นทาง จากก้าวแรกที่ออกมาจากสนามบินถึงโรงแรม”

ด้าน มานเฟรดี เลอแฟบวร์ โดวิดิโอ ประธานบริษัทซิลเวอร์ซี ครุยส์ กล่าวว่า แนวโน้มตลาดลักชัวรีที่หันมาใช้ “การล่องเรือสำราญ” หรือ ตลาดครุยส์ เพื่อการท่องเที่ยว เริ่มขยายสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือ“มิลเลนเนียลส์” มากขึ้น ขณะที่คนกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 2 รุ่น ได้แก่ เจเนอเรชั่นเอ็กซ์ และเบบี้บูมเมอร์ ก็ไม่ได้ลดจำนวนลง 

สถานการณ์ดังกล่าวบ่งบอกถึง แนวโน้มที่คนจะแสวงหา“ประสบการณ์” ที่แตกต่าง และสามารถอวดความหรูหราของไลฟ์สไตล์การพักผ่อนได้ผ่าน “สังคมออนไลน์” ที่เข้ามามีบทบาทมากในการส่งเสริมตลาดครุยส์ให้เติบโตอย่างในปัจจุบัน

ขณะที่ ดีภัค โอหริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเลอบัว โฮเทลส์ แอนด์ รีสอร์ทส กล่าวว่า ลูกค้าตลาดลักชัวรีมักเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ พร้อมตอบรับ เข้าใจ และเชื่อมั่นต่อแนวคิดความยั่งยืนที่โรงแรมนำเสนอ สิ่งสำคัญในการดูแลลูกค้ากลุ่มนี้ ไม่ใช่เพียงการให้สินค้าที่หรูหรา แต่ต้องให้ “ประสบการณ์” ที่แสดงถึงความตระหนักต่อปัจจัยแวดล้อม และความยั่งยืน จึงจะทำให้เข้าถึงตลาดนี้ได้ดี