เอกชนแห่ประมูลซื้อข้าวเสื่อมเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม

เอกชนแห่ประมูลซื้อข้าวเสื่อมเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม

"กระทรวงพาณิชย์" เผยผลประมูลข้าวเสื่อมเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม 1.03 ล้านตัน เบื้องต้นมีเอกชนเสนอซื้อครบทุกราย ชี้เหลือข้าวอีกเพียง 4 ล้านตัน

นายกีรติ รัชโน รองกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า จากผู้ที่ผ่านคุณสมบัติสามารถเข้าร่วมยื่นซองประมูลข้าวเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ ครั้งที่ 1/2560 ปริมาณ 1.03 ล้านตัน จำนวน 21 ราย จากการเปิดซองประมูลเบื้องต้นพบว่าจากข้าว 157 คลัง 34 จังหวัด มีผู้เสนอซื้อครบทุกคลัง กิโลกรัมละ 2-3 บาท ทำให้มูลค่าการประมูลครั้งนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท โดยภาคเอกชนที่เสนอซื้อส่วนใหญ่วันนี้เป็นบริษัทผู้ผลิตเอทานอล, เชื้อเพลิงชีวภาพ, กระแสไฟฟ้าและไบโอดีเซล

อย่างไรก็ตาม จากการเสนอซื้อวันนี้จะต้องนำข้อมูลทั้งหมดเสนอคณะทำงานระบายข้าวและผ่านคณะอนุกรรมการระบายข้าวเบื้องต้นระหว่างวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ เพื่อพิจารณาผู้ชนะการประมูลก่อนนำเสนอให้ประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) พิจารณาอนุมัติขายต่อไป โดยข้าวที่นำออกมาเปิดประมูลครั้งนี้เป็นข้าวที่มีอายุการเก็บรักษาตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป เป็นข้าวที่ไม่ตรงตามมาตรฐาน ผิดไปจากมาตรฐาน ผิดชนิดข้าว ที่ไม่สามารถนำไปปรับปรุงเพื่อมาบริโภคได้ทั้งคนและสัตว์

สำหรับการเปิดประมูลข้าวในส่วนที่เหลืออีกประมาณ 4 ล้านตันนั้น กลุ่มแรกเป็นข้าวเพื่อการบริโภค 1.72 ล้านตัน จะเปิดประมูลเดือนพฤษภาคม และกลุ่ม 2 เป็นข้าวที่ไม่ใช่การบริโภคของคน 2.15 ล้านตัน จะเปิดประมูลเดือนมิถุนายน และน่าจะสามารถระบายได้ทั้งหมดภายในปีนี้อย่างแน่นอน

ส่วนการส่งออกข้าว ล่าสุดวันที่ 1 มกราคมถึงวันที่ 26 เมษายน สามารถส่งออกได้แล้ว 3.87 ล้านตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 56,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.76 โดยการส่งออกข้าวที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจากราคาข้าวไทยสามารถแข่งขันในตลาดได้และประเทศผู้ซื้อมั่นใจคุณภาพข้าวไทยมากขึ้น โดยแนวโน้มราคาข้าวไทยขณะนี้เห็นว่าค่อนข้างสดใส เนื่องจากการผลิตข้าวของไทยมีการดูแลไม่ให้มีผลผลิตส่วนเกินมากเกินไป โดยปีนี้ราคาข้าวไทยในตลาดโลกมีแนวโน้นดี แยกเป็นข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ยอยู่ที่ 387 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ข้าวหอมมะลิเฉลี่ยอยู่ที่ 670 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ส่วนการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) นั้น ยังคงมีหลายประเทศให้ความสนใจเข้าไทย ทั้งจีน ศรีลังกา และโมซัมบิก โดยจีนยังอยู่ระหว่างการเซ็นสัญญาตาม MOU เดิมและจะเร่งส่งมอบให้เร็วที่สุด