กำพล อดิเรกสมบัติ วิพากษ์ 'เศรษฐกิจทั่วโลก'

กำพล อดิเรกสมบัติ วิพากษ์ 'เศรษฐกิจทั่วโลก'

ตราบใดที่เครื่องยนต์ขนาดเล็กอย่าง 'ท่องเที่ยวและลงทุนภาครัฐ' ยังคงทำงานหนักเหมือนเคย โอกาสจะเห็น 'จีดีพี' แตะ 4% ไม่ใช่เรื่องง่าย นักเศรษฐศาสตร์คนใหม่แห่ง บล.กสิกรไทย ตอกย้ำมุมมอง

แม้ 'เครื่องยนต์ขนาดใหญ่' ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดัน 'ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ' (จีดีพี) ของประเทศไทย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 70% ของตัวเลขจีดีพี อย่าง 'ส่งออก' จะมีอัตราการขยายตัว 4.9% คิดเป็นมูลค่า 56,456 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560
แต่เหล่ากูรูบางสำนักยังคงปักใจเชื่อว่า ตัวเลขส่งออกที่เติบโตสูงสุดในรอบกว่า 4 ปี อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว เพราะสินค้าที่ผลักดันส่งออกให้ฟื้นตัวยังกระจุกตัวอยู่ในบางประเภทเท่านั้น ฉะนั้นโอกาสจะเห็น ตัวเลขจีดีพีแตะระดับ 4% ตามการคาดการณ์ของทางการคงไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่นัก ตรงข้ามคงมาไกลสุดแค่ 3.3-3.4% เท่านั้น

สอดคล้องกับความเห็นของ 'ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ' ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย ที่วิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจในประเทศตลอดปี 2560 ให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า แม้ตัวเลขส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของปีจะออกมาดี หลังได้รับอานิสงส์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น น้ำมัน และยางพารา บวกกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีอัตราเติบโตมากขึ้น

แต่ภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกวาดล้างทัวร์ศูนย์เหรียญ บวกกับการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนยังคงไม่กลับมาภายในปี 2560 แต่จะชัดเจนปีหน้า ฉะนั้นย่อมมีความเป็นไปได้ว่า การเติบโตของภาวะเศรษฐกิจไทยคงมีหน้าตาไม่แตกต่างจากปี 2559 เท่าไหร่นัก

วันนี้ยังคงยืนยันเป้าหมาย 'ตัวเลขจีดีพีระดับ 3.3%' เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 3.2% โดยเครื่องจักรที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ยังคงเป็น 'เครื่องยนต์ขนาดเล็ก' เหมือนเดิม นั่นคือ การลงทุนภาครัฐ และท่องเที่ยว ซึ่งการลงทุนของภาครัฐคิดเป็นสัดส่วน 7% ของจีดีพีเท่านั้น
ดอกเตอร์ชิว ตอกย้ำมุมมองที่ว่า หากต้องการเห็นตัวเลขจีดีพีเมืองไทยขยายตัวเฉลี่ย 4% เหมือนในอดีตคงต้องให้ 'เครื่องยนต์ขนาดใหญ่ กลาง และขนาดเล็ก' ทำงานพร้อมเพียงกัน

เหมือนเช่นคำพูดของ 'ธารินทร์ นิมมานเหมินท์' อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสมัยรัฐบาล 'ชวน หลีกภัย 2' ที่เคยเปรียบเทียบภาวะเศรษฐกิจเหมือน 'เครื่องบิน' ที่มีด้วยกัน 3 เครื่องยนต์

ไล่มาตั้งแต่ 'เครื่องยนต์ขนาดใหญ่' คือ ส่งออก และการบริโภคภาคเอกชน คิดเป็นสัดส่วน 75% และ 51% ของจีดีพี ตามลำดับ 'เครื่องยนต์ขนาดกลาง' คือ การลงทุนของภาคเอกชน คิดเป็น 16% ของจีดีพี และ 'เครื่องยนต์ขนาดเล็ก' คือ การลงทุนของภาครัฐ และท่องเที่ยว
นักเศรษฐศาสตร์ เจาะลึกหลากหลายความเสี่ยงที่จะส่งผลให้ตัวเลขจีดีพีปีนี้เติบโตได้เพียงระดับ 'ปานกลาง' ว่า ข้อแรก แม้การลงทุนภาครัฐในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จะมีอัตราเติบโตบน 'ตัวเลขสองหลัก' (การลงทุนของภาครัฐเติบโตติดต่อกันแล้ว 6 ไตรมาส) แต่การลงทุนของภาคเอชนคงยังไม่ฟื้นตัวในปีนี้ นั่นแปลว่า อัตราการเติบโตอาจติดลบเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน หรือเติบโตช้ามาก หลังในช่วงปี 2556-2559 การลงทุนภาคเอกชนมีอัตราเติบโตเฉลี่ยติดลบ 1%

สาเหตุสำคัญมาจาก 'ตัวเลขด้านการผลิตอุตสาหกรรมยังไม่แสดงสัญญาณเชิงบวก' โดยเฉพาะ ตัวเลขเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ,ตัวเลขอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม (CAPU) และตัวเลขอัตราการเติบโตด้านดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เป็นต้น

แม้ที่ผ่านมาภาครัฐจะพยายามเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านภาษี FDI มากขึ้น บวกกับวางแผนจะทำโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ก็ตาม แต่เนื่องจากทางการยังไม่มีการกำหนดกรอบเวลาการลงทุนของโครงการ EEC อย่างชัดเจน ฉะนั้นการฟื้นตัวของเอกชนคงเห็นภาพชัดเจนในปีถัดไป

'สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอียังคงไม่ฟื้นตัวเร็วๆนี้ หลังอัตราหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL ratio) ในกลุ่มสินเชื่อเอสเอ็มอียังอยู่ในระดับสูง' ดร.กำพล มีความเชื่อเช่นนั้น

ข้อสอง ตัวเลขส่งออกอาจอยู่ในลักษณะ 'ฟื้นตัวไม่มีเสถียรภาพ' แม้ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ตัวเลขจะออกมาค่อนข้างดี เนื่องจากการขยายตัวของส่งออกในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ล้วนแล้วกระจุกตัวอยู่ในสินค้าบางประเภท

โดยเฉพาะ 'สินค้าโภคภัณฑ์' เช่น น้ำมัน และยางพารา รวมถึงการเติบโตของ 'สินค้าอิเล็กทรอนิกส์' ซึ่งเป็นสินค้าที่มีการว่าจ้างแรงงานในประเทศระดับต่ำ เป็นต้น เบื้องต้นคาดว่า ตัวเลขส่งออกในปีนี้คงทำได้ดีสุดที่ระดับ 3.5%

จากการเติบโตของสินค้าส่งออกที่มีการว่าจ้างแรงงานในประเทศระดับต่ำ ส่งผลให้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา “ตัวเลขค่าจ้างนอกภาคเกษตร” ติดลบ 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นตัวเลขที่ไม่ค่อยปกติเท่าไหร่นัก

เพราะนับตั้งแต่แบงก์ชาติรายการตัวเลขค่าจ้างนอกภาคเกษตรตั้งแต่ปี 2554 มักเห็นตัวเลขบวกเฉลี่ย 1-3% สถานการณ์เช่นนี้บ่งบอกว่า หลายบริษัทมีการลดโอทีและค่าแรงนับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

'หากตัวเลขค่าจ้างนอกภาคเกษตรยังติดลบต่อเนื่อง ในปีนี้การจับจ่ายใช้สอยของมนุษย์เงินเดือนคงไม่คล่องตัวเหมือนเคย'

ถามต่อว่า มีโอกาสจะเห็นตัวเลขส่งออกของไทยเติบโตมากกว่านี้หรือไม่ เขา ตอบว่า 'มีโอกาส' หากภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวชัดเจน โดยเฉพาะประเทศที่เป็นผู้บริโภคหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา,ยุโรป,ญี่ปุ่น และจีน

แต่ตอนนี้การฟื้นตัวของบิ๊กคอนซูเมอร์ ไม่ได้มีให้เห็นทุกประเทศจะมีเด่นชัดก็เพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ขณะที่ประเทศจีนชะลอตัว ยุโรปกำลังฟื้นตัว แต่ยังไม่เต็มที่ ขณะที่ญี่ปุ่นเติบโตค่อนข้างช้า

ขณะเดียวกันสินค้าส่งออกที่มีการว่าจ้างแรงงานในประเทศมากๆ ต้องเริ่มฟื้นตัวด้วย เช่น ธุรกิจรถยนต์ ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า และธุรกิจเครื่องประดับ เป็นต้น หากปัจจัยเหล่านี้พร้อมใจเกิดย่อมส่งผลบวกต่อส่งออกไทยแน่นอน

ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ ไม่ลืมที่จะแจกแจงทิศทางเศรษฐกิจโลกให้ฟังว่า บล.กสิกรไทย มีมุมมองเดียวกับ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ที่คาดว่า เศรษฐกิจโลกจะเติบโตเฉลี่ย 3.5% หลังราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ตรงข้ามกับในช่วง 2-3 ปีก่อน ที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกอยู่ในยุคขาลงจนฉุดเศรษฐกิจโลก

ขณะเดียวกันเศรษฐกิจประเทศพี่ใหญ่เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาหลังภาพการ ฟื้นตัวมีความชัดเจนมากขึ้น แม้จะไม่มีนโยบายบริหารประเทศใหม่ๆของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีคนที่ 45 ออกมาช่วยก็ตาม

สะท้อนผ่าน 'ตัวเลขอัตราการว่างงาน' ที่ปรับตัวลดลงมาเท่าสมัยเกิดวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ โดยในช่วงเดือนมี.ค.2560 ตัวเลขอยู่ระดับ 4.5% เมื่อเทียบกับปี 2552 ที่อยู่สูงถึงระดับ 10% ซึ่งตัวเลขนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) น่าจะพอใจแล้ว บ่งบอกได้จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน 'ดัชนีราคาบ้านใหม่ใน 20 เมืองใหญ่' กำลังเข้าสู่ช่วงฟื้นตัว จากระดับ 120-130 ในช่วงวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ ปัจจุบันดัชนีขึ้นมาอยู่ระดับ 192 แล้ว (ดัชนีราคาบ้านใหม่เคยขึ้นไปสูงสุดระดับ 206.52 ในปี 2549) นอกจากนั้นยังเริ่มเห็นสัญญาณ แบงก์กล้าปล่อยเงินกู้มากขึ้น
ก่อนหน้านี้ทุกคนคิดว่า หากทรัมป์อัดนโยบายอาจทำให้เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น ขณะที่ดอลลาร์จะแข็ง ค่าบาทจะอ่อน แต่ผ่านมา 4 เดือน สถานการณ์ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ทำให้วันนี้หลายคนมีความคิดเปลี่ยนไปว่า นโยบายทรัมป์ไม่มีอะไรแน่นอน

บางโครงการไม่ได้เกิดขึ้นเร็วอย่างที่คิด อย่างเรื่องลดภาษีนิติบุคคล อาจเกิดเร็วสุดในเดือนส.ค.นี้ ฉะนั้นเม็ดเงินลงทุนคง “ไหลไปมาไหลมา” จากตลาดเกิดใหม่กับตลาดประเทศพัฒนาแล้ว ตามปัจจัยรอบโลก

เมื่อถามถึงทิศทางเศรษฐกิจกลุ่มยูโรโซน กูรูแห่งบล.กสิกรไทย บอกว่า ภาวะเศรษฐกิจได้ “ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว” บ่งชี้จากตัวเลขจีดีพี ,ตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ,ตัวเลขเงินเฟ้อ และท่าทีของธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ที่อาจชะลอมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) หรืออาจหยุดทำในช่วงสิ้นปีนี้

แต่เนื่องจากภายในปี 2560 กลุ่มยูโรโซนกำลังจะมีเลือกตั้งในประเทศใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศเนเธอร์แลนด์ ประเทศฝรั่งเศส และประเทศเยอรมนี ในวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา,วันที่ 7 พ.ค.และวันที่ 24 ก.ย.นี้ ตามลำดับ

ฉะนั้นอาจมีความเสี่ยงทางการเมืองเกิดขึ้นได้ เพราะนโยบายการบริหารประเทศอาจเปลี่ยนแปลงไป หากเปลี่ยนผู้นำประเทศ ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะสร้างความผันผวนให้กับตลาด เรื่องลักษณะนี้นักลงทุนทั่วโลกไม่ค่อยชอบ

แม้ภาพรวมเศรษฐกิจแท้จริงของกลุ่มยูโรโซนจะฟื้นตัวชัดเจนแล้ว แต่คงต้องรอดูท่าทีของตลาดต่อการลดวงเงินอีกครั้ง เขาย้ำ แม้จะเริ่มลดมาตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมาแล้วก็ตาม จาก 80,000 ล้านเหรียญยูโรต่อเดือน เหลือ 60,000 ล้านเหรียญยูโรต่อเดือน

ท่าทีดังกล่าวส่งผลทั้งมุมบวกและลบ ในด้านลบ คือ แรงกระตุ้นจากธนาคารกำลังจะหายไป มุมดี คือ เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว สุดท้ายนักลงทุนจะมองมุมไหนขึ้นอยู่กับจังหวะ แต่เชื่อว่า ตลาดจะกลับไปดูปัจจัยพื้นฐานมากขึ้น

'เยอรมนี ถือเป็นประเทศที่มีภาวะเศรษฐกิจดีที่สุดในกลุ่มยุโรป เพราะไม่มีปัญหาอัตราการว่างงานสูงในช่วง 4-5 ปีก่อน ที่สำคัญมีภาคส่งออกใหญ่ถึง 70% ซึ่งในช่วงที่ค่ายูโรอ่อนเยอรมนีได้ประโยชน์เต็มๆ ส่วนกรีซและโปรตุเกส ถือเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจอ่อนแอสุด เพราะยังต้องการความเหลือจากยุโรปเหมือนเดิม'

ดร.กำพล แสดงความคิดเห็นปิดท้ายบนสนทนา ด้วยการทำนายสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศจีนว่า ปีนี้ทางการจีนยังคงเดินหน้าลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดวางเป้าหมายตัวเลขการเติบโตไว้ระดับ 6.5% หลังในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนเติบโตร้อนแรงบน 'ตัวเลขสองหลัก'
แม้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทางการจีนจะพิสูจน์ได้ว่า สามารถจัดการกับทุกปัญหาที่เกิดขึ้นได้ แต่การมี 'ตัวเลขหนี้รวม' ที่สูงขึ้น จากระดับ 150-160% ของจีดีพี ในปี 2551 เป็น 250-270% ของจีดีพีในปัจจุบัน ทำให้เหล่านักลงทุนเกิดความกังวลว่า จีนจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมากในปีนี้

ส่วนทิศทางเศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมดูดีขึ้น เพียงแต่จากนี้จะดีขึ้นอีกหรือไม่ คงต้องดูท่าทีของทางการต่อไป เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลได้อัดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วค่อนข้างมาก ตอนนี้อาจเริ่มตันแล้ว ฉะนั้นต้องกลับมาดูว่า จะออกมาตรการอะไรอีกหรือไม่

'เป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยปีนี้คงมาไกลสุด 1,570 จุด เพราะเศรษฐกิจไทยไม่ได้ฟื้นตัวเร็วเท่าที่ตลาดคาดการณ์ และนักลงทุนยังมีความกังวลดอกเบี้ยขาขึ้น ฉะนั้นการลงทุนในปีนี้อาจต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น' ดร.กำพล ยืนยันมุมมองเช่นนี้