เล็งชง 'กพช.' ไฟเขียวลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน

เล็งชง 'กพช.' ไฟเขียวลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน

"กฟผ." เตรียมเสนอ "กพช." ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 2,000 เมกะวัตต์ ยันการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินยังมีความจำเป็น

นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.เตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนถึง 2,000 เมกะวัตต์ โดยในปีนี้ กฟผ.เตรียมเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลโครงการลงทุนระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) งบลงทุนหลายร้อยล้านบาท ใน 2 พื้นที่ คือ อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ขนาด 16 เมกะวัตต์ และอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ขนาด 21 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับปริมาณไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่จะเข้าสู่ระบบมากขึ้น

โดยหากจะปรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มเป็น 40% ตามแนวนโยบายที่นายกรัฐมนตรีให้ไว้ เบื้องต้น กฟผ. ต้องลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนถึง 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งต้องเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ปรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ใหม่ด้วย

"แต่ กฟผ. และกระทรวงพลังงานก็ต้องเร่งชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพื่อจ่ายไฟเข้าระบบนั้นยังไม่มีเสถียรภาพ ขาดความแน่นอน จึงจำเป็นต้องลงทุนระบบควบคุมและระบบสำรองพลังงานด้วย ดังนั้นอาจทำให้ค่าไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 6 บาทต่อหน่วย ขณะเดียวกัน กฟผ. ต้องปรับโครงสร้างองค์กร เพิ่มการแต่งตั้งตำแหน่งรองผู้ว่าการด้านพลังงานทดแทนขึ้นมาบริหารงานโดยตรงด้วย" นายกรศิษฏ์ กล่าว

ทั้งนี้ แม้การจัดสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนของเอกชนจะถูกบรรจุอยู่ในแผนพีดีพี แต่ กฟผ. อาจต้องหารือกับกระทรวงพลังงานว่าพื้นที่ใดจำเป็นหรือไม่จำเป็นต้องมีสายส่ง เพราะการสร้างต้องใช้งบลงทุนสูง และขัดต่อทิศทางพลังงานของไทยในอนาคต ที่มุ่งสร้างการสำรองไฟฟ้ารายภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาก็ยังมีความจำเป็น เพราะในอีกไม่กี่ปีข้างหน้ากำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้จะน้อยกว่าความต้องการใช้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งล่าสุดยังไม่มีความคืบหน้าจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าจะให้เดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่หรือไม่