Langham London : 152 ปี ลมหายใจยังสง่างาม

Langham London : 152 ปี ลมหายใจยังสง่างาม

เปิดตำนานโรงแรมที่ได้ชื่อว่าเป็นโรงแรมหรูหราระดับ grand hotel แห่งแรกของยุโรป มีระบบน้ำร้อน-น้ำเย็น โทรศัพท์ ลิฟต์ไฮดรอลิก..เป็นแห่งแรก มีบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์เข้าพัก เป็นฉากในวรรณกรรม เป็นฉากถ่ายทำภาพยนตร์ ฯลฯ

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สถานที่แห่งนี้บันทึกหน้าประวัติศาสตร์สำคัญและชวนตื่นเต้นไว้มากมาย เมื่อทั้งนักเขียนชื่อดังแห่งยุค มาร์ก ทเวน, ออสการ์ ไวดล์ หรือแม้แต่รัฐบุรุษชาวอังกฤษผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรสองสมัย(ค.ศ.1940-1945 และค.ศ.1951-1955) ผู้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคสงครามของศตวรรษที่ 20 เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล เคยเดินไปเดินมาและใช้เวลาเข้าพักยังสถานที่แห่งนี้ รวมทั้งราชวงศ์ยุโรปและคนดังอีกหลายต่อหลายคน

หรือแม้กระทั่งได้รับการเขียนใช้เป็น ‘ฉาก’ ในวรรณกรรมชื่อดัง เมื่อนักเขียนและแพทย์ชาวสก็อต เซอร์อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นฉากในนวนิยายสืบสวนเรื่องดังชุด ‘เชอร์ล็อก โฮมส์’ รวมทั้งปรากฎตัวเป็นฉากถ่ายทำในภาพยนตร์ เจมส์ บอนด์ ตอน GoldenEye

สถานที่แห่งนี้คือ โรงแรมแลงแฮม ลอนดอน (The Langham London)

เอ่ยชื่อโรงแรมแลงแฮม นักเดินทางหลายคนมักนึกถึง ‘โรงแรมแลงแฮม ฮ่องกง’ อาจเป็นเพราะเดินทางไปฮ่องกงได้บ่อย รวดเร็ว สะดวกกว่าไปอังกฤษ แม้มีอายุ 152 ปี แต่แลงแฮมก็สามารถขยายสาขาไปทั่วทุกภูมิภาคของโลกทั้งอเมริกาเหนือ ตะวันออกกลาง เอเชีย และแปซิฟิก

แต่ต้นกำเนิดจริงๆ ของ ‘แลงแฮม’ อยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ประวัติศาสตร์ 152 ปี
‘แลงแฮม ลอนดอน’ ก่อตั้งโดย ท่านเอิร์ลแห่งชรูว์สบิวรี่(Earl of Shrewsbury) ศิลาฤกษ์ก้อนแรกวางลงในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1863(พ.ศ.2406) ตั้งใจให้เป็นโรงแรมหรู(grand hotel)ตั้งแต่แรกสร้าง ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี ด้วยเงินทุน 300,000 ปอนด์ เจ้าชายแห่งเวลส์(ภายหลังคือพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7)เสด็จทำพิธีเปิดโรงแรมอย่างเป็นทางการ เดือนมิถุนายน ค.ศ.1865

ตัวโรงแรมออกแบบโดยสถาปนิกชาวอังกฤษ จอห์น กิลส์ (John Giles) และเจมส์ เมอร์เรย์(James Murray) ก่อสร้างเป็นอาคารสวยสง่าที่แสดงให้เห็นความโอ่อ่า หรูหรา สวยงามที่สุดของสถาปัตยกรรมอาคารสูง ‘สมัยวิคตอเรีย’ ซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของจักรวรรดิอังกฤษ ด้วยห้องพักจำนวน 600 ห้องในเวลานั้น ห้องน้ำที่มีระบบน้ำร้อน-น้ำเย็น 300 ห้อง ทั้งโรงแรมประดับด้วยพรมลายดอกประดับจากเปอร์เซียร่วม 15,000 หลา และเป็นโรงแรมที่บริการพาแขกของโรงแรมขึ้น-ลงตามชั้นต่างๆ ด้วยระบบไฮดรอลิกเป็นแห่งแรก

รวมทั้งกล่าวได้ว่า ‘แลงแฮม ลอนดอน’ เป็นจุดเริ่มต้นรูปแบบอย่างเป็นทางการและเป็นต้นตำรับวัฒนธรรม Afternoon Tea หรือ ‘การจิบชายามบ่าย’ ไลฟ์สไตล์ตามแบบฉบับผู้ดีอังกฤษที่ริเริ่มโดยชนชั้นสูงในราชสำนัก ให้เผยแพร่ออกไปทั่วโลกในเวลาต่อมา

ได้รับการจารึกจากหลายเว็บไซต์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์โรงแรมของโลก ว่าเป็น โรงแรมหรูแห่งแรกของยุโรป

เวลา 152 ปี ทำให้ ‘แลงแฮม ลอนดอน’ อยู่ร่วมในเหตุการณ์สำคัญของโลกทั้งช่วงเวลาเฉลิมฉลองและช่วงเวลาที่ยากลำบาก โดยเฉพาะช่วงสงครามโลกทั้งสองครั้ง ตัวโรงแรมเคยใช้เป็นทั้งหน่วยทหารและที่ทำการของสำนักข่าวบีบีซี รวมทั้งปีกตะวันออกของโรงแรมเคยถูกระเบิดทำลายเสียหาย

ความเหนือระดับของห้องพัก
ปัจจุบัน Langham Hospitality Group เข้าบริหารงานด้วยมาตรฐานบริการสุดเนี้ยบที่ยังคงรักษาคุณค่าความเป็นโรงแรมอายุ 152 ปีไว้อย่างสมศักดิ์ศรี โดยปรับจำนวนห้องพักลดลงเหลือ 380 ห้อง แบ่งเป็นห้องมาตรฐาน จำนวน 357 ห้อง และห้องสวีทหรู 23 ห้อง เพื่อมอบความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเพื่อการพักผ่อนหรือเพื่อทำงานได้อย่างเต็มที่

แต่ละห้องได้รับการออกแบบให้ใช้พื้นที่ของตัวโรงแรมอย่างคุ้มค่า ห้องพักบางห้องออกแบบให้มีถึง 3 ชั้น เมื่อเปิดประตูห้องพักเข้าไปคุณจะสนุกและแปลกใจที่เจอเข้ากับ ‘ชานพัก’ พร้อมกับบันไดเดินขึ้นสู่ชั้นสองในทันที

เมื่อขึ้นบันไดไปแล้ว บนชั้นสองด้านซ้ายมือคุณจะพบกับห้องนอนที่มีเตียงขนาดใหญ่ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น เคาน์เตอร์ชงเครื่องดื่ม ตู้เสื้อผ้าที่ซ่อนไว้ไม่เกะกะสายตา อาร์มแชร์ ตู้เก็บโทรทัศน์ จากหน้าต่างด้านหนึ่งมองเห็นโบสถ์ All Souls และอีกจากหน้าต่างมองเห็นอาคารสำนักงานวิทยุบีบีซี ส่วนด้านขวามือมีทางเดินนำไปสู่ห้องน้ำที่สะดวกสบาย หรูหราแบบไม่มากเกินไป แม้ไม่มีอ่างอาบน้ำ แต่ตู้อาบน้ำก็สวยคลาสสิกและมีอุปกรณ์ครบครัน ถัดจากประตูทางเข้าห้องน้ำนี่เองคุณจะพบกับบันไดเพื่อเดินขึ้นไปชั้นที่สาม

บนชั้นสามออกแบบเป็นห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่ มีชุดโซฟาและอาร์มแชร์ โต๊ะกลาง โทรทัศน์ และแพนทรีเครื่องดื่ม ห้องพักแบบ 3 ชั้นในห้องเดียวนี้หมายเลข 844 เหมาะสำหรับคนแข็งแรงและชอบเดิน

นอกจากนี้ยังมีห้องพักพิเศษ The Sterling Suite ได้ชื่อว่าเป็นห้องพักขนาดใหญ่และหรูหราที่สุดในลอนดอน ภายในกว้างขวางมีห้องพักสูงสุดได้ 6 ห้องนอน พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันอย่างทันสมัย

พร้อมกับพัฒนา The Langham Club ซึ่งเดิมเป็นเอ็กซ์่คลูซีฟคลับที่สร้างสรรค์มาจากรูปแบบคลับส่วนตัวยุควิคตอเรีย และได้รับการยกย่องว่าให้บริการเป็นเลิศ สู่โฉมใหม่ในชื่อ The Langham Club Lounge เป็นบริเวณพักผ่อนของโรงแรมที่มีความเป็นส่วนตัว สามารถเชื่อมต่อโซเชียลมีเดียได้ 24 ชั่วโมง จะมารับประทานอาหารเช้า ดื่มค็อกเทลกับเพื่อนในบรรยากาศสดชื่นเงียบสงบ หรือพักผ่อนส่วนตัวด้วยการอ่านหนังสือที่ชื่นชอบ ก็ได้เช่นกัน

ครั้งแรกของ แลงแฮม บางกอกฯ
ทายาทอาณาจักรธุรกิจสิ่งทอในเมืองไทย ภีร์ ไล ต้องการสร้างกิจการใหม่ เมื่อมั่นใจในสิ่งที่ตนเองค้นพบ เขาตัดสินใจเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์เพื่อเข้าศึกษาต่อที่ Glion Institute of Higher Education และกลับมาพร้อมกับเป้าหมายพัฒนาที่ดินขนาด 12 ไร่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาภายใต้ชื่อโครงการ คณาพญา ริเวอร์ฟร้อนท์ (Canapaya Riverfront) ซึ่งตั้งอยู่ตรงบริเวณคุ้งน้ำฝั่งตรงข้ามธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่

“หลักๆ คือผมอยากสร้างอะไรที่เป็นจุดดึงดูดของแม่น้ำ คนกรุงเทพฯ อยู่กับแม่น้ำมานานก็จริง แต่ไม่ค่อยมีที่ที่สามารถไปใช้ชีวิตริมน้ำได้ ที่ริมน้ำในกรุงเทพฯ ส่วนมากเป็นโรงแรมห้าดาว เป็นจุดที่ไปยาก ผมเลยอยากสร้างทำเลใหม่ขึ้นมา นำคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าให้สามารถมาใช้ชีวิตริมน้ำได้ ด้วยคอนเซปต์โครงการ มิกซ์ยูส ไลฟ์สไตล์ เราอยากให้คนเดินเข้ามาแล้วรู้สึกเป็นที่ต้อนรับ(welcome) ไม่ได้รู้สึกกลัวหรือต้องเกร็ง จับต้องได้ง่ายกว่า” คุณภีร์กล่าว

โครงการ ‘คณาพญา ริเวอร์ฟร้อนท์’ มีด้วยกัน 2 เฟส เฟสที่หนึ่งคือการสร้าง ‘คณาพญา เรสซิเดนซ์’ คอนโดมิเนียมหรู 57 ชั้น ราคาเฉลี่ย 230,000 บาท/ตร.ม. อยู่ในระหว่างดำเนินการก่อสร้าง

เฟสที่สองคือโครงการ มิกซ์ยูส ไลฟ์สไตล์ ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ คือ พื้นที่สำหรับการขายปลีก(retail), คณาพญา มารีน่า ยอร์ช คลับ และ โรงแรมแลงแฮม บางกอก เจ้าพระยา ริเวอร์ กับ แลงแฮม เรสซิเดนซ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการออกแบบ

ก่อนตัดสินใจเซ็นสัญญากับ Great Eagle Group ซึ่งเป็นเจ้าของโรงแรมแลงแฮมทั่วโลกในปัจจุบัน คุณภีร์ทำรายการตรวจสอบ (Checklist) มากมายว่าที่ดินผืนนี้ แนวคิดการทำโรงแรมและมาตรฐานที่ต้องการ ‘สอดคล้อง’ กับเครือโรงแรมใด

เช็คลิสต์ให้คำตอบว่า ‘แลงแฮม’ โรงแรมที่ยืนหยัดมา 152 ปี สง่างามตั้งแต่รูปลักษณ์ภายนอก สวยงามด้วยการออกแบบตกแต่งภายใน งดงามด้วยมาตรฐานงานบริการ ไมตรีของผู้บริหาร แม้กระทั่งสีประจำโรงแรมที่เป็นสีชมพู ยังเข้ากับสีของที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาผืนนี้ที่ซินแสฮวงจุ้ยเคยแจ้งว่าเป็นสีชมพูหรือสีส้ม

แลงแฮม ลอนตอน จะปรากฎตัวในกรุงเทพฯ ด้วยรูปลักษณ์ใด อดใจรอชมปีค.ศ.2020