'ปูนอินทรี' ดึงไอไอโอที ปั้น ‘โรงงานอัจฉริยะ’

'ปูนอินทรี' ดึงไอไอโอที ปั้น ‘โรงงานอัจฉริยะ’

อุตฯด้านการผลิตในไทยจะมีค่าใช้จ่ายไปกับโซลูชั่นไอโอที 1.6 หมื่นล้าน

“ปูนอินทรี” ทุ่ม 100 ล้านดึงเทคโนโลยีพัฒนา “โรงงานอัจฉริยะ” ผนึก “ซิสโก้ ฟูจิตสึ” โชว์ “เพอร์วาซีฟ เน็ตเวิร์ค” เพิ่มการสื่อสารระหว่างเครื่องจักร-ผู้เชี่ยวชาญ ลดข้อผิดพลาด สร้างผลผลิตเพิ่ม ยันโรงงานอัจฉริยะช่วยลดต้นทุนการผลิตไม่น้อยกว่า10% ประเมินอุตฯ การผลิตเปลี่ยนผ่านสู่ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น น่าจับตามากสุด ประเมิน 'ไทย' จะมีค่าใช้จ่ายไปกับโซลูชั่นไอโอทีภาคการผลิต 1.6 หมื่นล้านบาท

นางสาวอิฑยา ศิริวสุกาญจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทรี ดิจิตอล ผู้ผลิตปูนอินทรีย์ บริษัทในเครือของ บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง กล่าวว่า ปูนซีเมนต์ฯ ได้ติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเพอร์วาซีฟ เน็ตเวิร์ค (Pervasive Network) และระบบเชื่อมต่อไร้สายครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ภายในโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ โรงงาน 3 จังหวัดสระบุรี เป็นครั้งแรกของอุตสาหกรรมในการติดตั้งเทคโนโลยีดังกล่าวในไทย โดยใช้เทคโนโลยีของซิสโก้ และบริการติดตั้งระบบจากฟูจิตสึ

‘ปูน’จัดยุทธศาสตร์ไอไอโอที
การติดตั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานครั้งนี้ เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ด้าน “อินดัสเตรียล อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ หรือ อินดัสเตรียล ไอโอที หรือไอไอโอที (IIoT)" ของปูนซีเมนต์ฯ เพื่อเปลี่ยนระบบงานแบบเดิมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก รวมถึงเอกสารที่เป็นกระดาษ พร้อมปรับปรุงกระบวนการทำงานภายในองค์กร โดยทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญผ่านการเชื่อมต่อระยะไกล และเทคโนโลยีแมชชีน เลิร์นนิ่ง

ปัจจุบันปูนซีเมนต์ฯ ได้ติดตั้งอุปกรณ์เชื่อมต่อไวไฟ และความถี่วิทยุ (RF) หลากหลายรุ่นตามจุดต่างๆ ภายในโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ โรง 3 โดยความร่วมมือจากฟูจิตสึ รวมถึงแอ็คเซสพอยต์ของซิสโก้จำนวน 374 เครื่อง สำหรับใช้งานภายนอกอาคาร และสวิตช์เครือข่าย 40 เครื่อง หลังดำเนินการติดตั้งเสร็จสมบูรณ์ เครือข่ายดังกล่าวสามารถรองรับอุปกรณ์พกพาได้อย่างไม่จำกัดจำนวน เชื่อมต่อได้ทุกเวลา ด้วยอัตราความเร็วเฉลี่ย 1.3-1.5 กิกะบิตต่อวินาที

นอกเหนือ จากการลดระยะเวลาทำงาน ลดค่าบำรุงรักษารายปี และแก้ปัญหาอุปกรณ์ที่ขาดประสิทธิภาพแล้ว ปูนซีเมนต์ฯ จะใช้เครือข่ายนี้เป็นรากฐานสำหรับการติดตั้งโซลูชั่นไอไอโอทีในอนาคต เช่น ระบบตรวจสอบติดตามตำแหน่งที่ตั้งแบบเรียลไทม์ของพนักงาน ผู้รับเหมา และอุปกรณ์ต่างๆ รวมไปถึงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพงานในรูปแบบดิจิทัล ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยให้บุคลากรและเครื่องจักรภายในโรงงาน

"ความร่วมมือกับซิสโก้ และฟูจิตสึ ช่วยให้ปูนซีเมนต์นครหลวงพัฒนาระบบดิจิทัลที่ยั่งยืน ควบคู่ไปกับการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยแบบครบวงจรที่ครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด"

ทุ่มหลักร้อยล้านพัฒนาไอทีอนาคต
นางสาวอิฑยา กล่าวด้วยว่า ภาพรวมการลงทุนไอทีด้านโอเปอเรชั่น ลงทุนในสัดส่วน 1% ของรายได้ ส่วนการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนโรงงานครั้งนี้ไม่รวมอยู่ใน 1% เนื่องจากการลงทุนด้านไอทีเป็นการลงทุนที่ยั่งยืนในอนาคต และเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขัน ซึ่งปูนอินทรีใช้งบหลักร้อยล้านบาทคาดว่า จะช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้กว่า 10%

อย่างไรก็ตาม การสร้างโรงงานอัจฉริยะ (Smart Plant) บริษัทได้เริ่มปรับเปลี่ยนมาตั้งแต่ปี 2558 วางเป้าหมายใน 3 ส่วนหลัก นั่นคือ 1.Simple ต้องทำให้เกิดการใช้งานที่ง่ายขึ้น 2.Faster ช่วยส่งเสริมให้ประสิทธิภาพของการทำงานได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และ 3.Better ส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพของธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

และเมื่อปี 2559 บริษัทได้เริ่มปรับเปลี่ยนแนวคิด หลังเชื่อมต่อเข้าสู่ดิจิทัลได้เบื้องต้น จึงตั้งเป้าว่าต้องเกิดทิศทาง 3 อย่าง ได้แก่ 1.Be difference 2. Be Gain และ 3. Smart มีเป้าหมายต้องใช้งานข้อมูลได้มีประสิทธิภาพ เกิดการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน อีกทั้งการเชื่อมโยงบุคคลากรเข้าใช้งานเพื่อให้เกิดการควบคุมและใช้งานได้มีประสิทธิภาพขึ้น

สำหรับแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงโรงงานเข้ากับระบบเพอร์วาซีฟของซิสโก้ จะส่งต่อไปถึงผู้เชี่ยวชาญกรณีที่เกิดปัญหาขึ้น เพื่อให้เกิดการแก้ไขได้ทันที ทั้งสามารถแจ้งความต้องการของชิ้นส่วนที่หมดอายุจากตัวเครื่องจักรเอง เพื่อลดต้นทุนในการบำรุงรักษา เพิ่มความปลอดภัย และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการโรงงาน ทำให้เกิดผลิตผลเพิ่มมากขึ้น

นางสาวอิฑยา กล่าวว่า ปัจจัยการสร้างระบบโรงงานอัจฉริยะ สำคัญที่สุด คือ ความสามารถของคน เนื่องจากเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในโลก ย่อมต้องมีคนใช้งานที่มีทักษะการทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นการพัฒนาและปรับปรุงครั้งนี้ จึงเน้นที่การพัฒนาควบคู่ไประหว่างผู้ใช้งานและเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สำหรับ การปรับเปลี่ยนในโรงงาน 3 ของปูนอินทรีย์ที่จังหวัดสระบุรี จะใช้ระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลง 6 เดือนเพื่อให้เกิดเป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลง หลังจากนั้นจะประเมินผลเพื่อพัฒนาระบบกับโรงงานอื่นของเครือปูนอินทรีต่อไป

ยุคสื่อสารระหว่างเครื่องจักร
นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทซิสโก้ ประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า การเข้าสู่ยุคอุตสหกรรม 4.0 เป็นเรื่องการสื่อสารระหว่าง "คน" และ "เครื่องจักร" ที่มากขึ้น ภายใต้แพลตฟอร์มเพอร์วาซีฟ เน็ตเวิร์ค จะช่วยให้เครื่องจักรแสดงความต้องการ เมื่อชิ้นส่วนเสื่อมลงได้อย่างอัตโนมัติ การจัดการง่ายขึ้น ทั้งสามารถนำข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์เพื่อเสริมให้เกิดการสร้างรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ยังได้เชื่อมโยงการสื่อสารด้วยระบบไอโอที และไอไอโอที ทั้งหมดช่วยให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้โรงงาน การทำงานปลอดภัย ซึ่งหลังเชื่อมทุกส่วนเข้าด้วยกัน จึงเริ่มเชื่อมโยงส่วนงานการบริหาร และการจัดการอย่างอื่นทั้งหมด และนำข้อมูลเข้ามาวิเคราะห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการได้ดีขึ้น เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

"แพลตฟอร์มเพอร์วาซีฟ เน็ตเวิร์ค เป็นการเชื่อมโยงในขั้นต้น เมื่อเชื่อมโยงได้แล้ว จึงเริ่มเข้าสู่การวิเคราะห์ การพัฒนาไปสู่การตัดสินใจที่ดีขึ้น และสู่การรักษาความปลอดภัย เพื่อให้เกิดประสิทธิผลของการดำเนินงานขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งมองในภาพรวมแล้ว โรงงานหรือฝ่ายผลิตในไทยส่วนใหญ่ยังติดอยู่ที่ระบบอุตสาหกรรม 2.0 ซึ่งเป็นเพียงภาคการผลิตที่ใช้บุคคลที่เชี่ยวชาญในการทำงานเป็นหลักเท่านั้น"

นายวัตสัน กล่าวด้วยว่า การผลักดันให้เกิดไอไอโอที ซึ่งเป็นอุตสาหกรรม 4.0 ข้ามจากอุตสาหกรรม 3.0 ที่เป็นเพียงการใช้โรบอทเข้าทำงานแทนคนในบางส่วน มาสู่ยุคการสื่อสารระหว่างเครื่องจักร และวิเคราะห์การทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพได้ทันท่วงที ส่งผลให้ลดการสูญเสียเวลาได้กว่า 48% ลดข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นในกระบวนการผลิตลงกว่า 49% เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้กว่า 23% และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดการสินค้าคงคลัง ได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นกว่า 35%

ที่สำคัญช่วยลดการใช้พลังงานลงได้กว่า 18% นับเป็นทางเลือกของการเปลี่ยนแปลงที่ดีของอุตสหกรรมการผลิตในประเทศไทย

ปัจจุบันไทย เป็นประเทศที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตใหญ่เป็นอันดับ 17 ของโลก และมีส่วนช่วยสร้างจีดีพีของประเทศถึง 32.5-35.6 % มาตั้งแต่ปี 2554-ปี 2557 โดยในปี 2559 อุตสาหกรรมด้านการผลิตทั่วโลก มีการใช้จ่ายงบประมาณไปกับโซลูชั่นไอโอที มากที่สุดถึง 6.4 ล้านล้านบาท ปัจจุบันจัดเป็นภาคธุรกิจที่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) มากที่สุด

ส่วนในไทย ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน คาดการณ์ว่า ค่าใช้จ่ายด้านไอโอทีของธุรกิจในประเทศทั้งหมดจะสูงถึง 30,000 ล้านบาทในปี 2563 และอุตสาหกรรมด้านการผลิตในประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายไปกับโซลูชันไอโอที ถึง 16,000 ล้านบาท เติบโต 13.2 % ตั้งแต่ปี 2558-2563