ยอดใช้จ่าย 'บัตรเครดิต' อืด

ยอดใช้จ่าย 'บัตรเครดิต' อืด

ยอดใช้จ่ายบัตรเครดิต "อืด" แบงก์-นอนแบงก์คุมคุณภาพ-คนระวังใช้จ่าย

สถานการณ์เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนอย่างมาก สะท้อนจากยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ที่ส่วนใหญ่จะทรงตัว โดยตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตทั้งของธนาคารพาณิชย์และของสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือนอนแบงก์ ในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา มียอดรวม 141,261 ล้านบาท เติบโตเพียง 0.15% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีปริมาณการใช้จ่ายบัตรเครดิตที่ 141,047 ล้านบาท 

โดยปริมาณการใช้จ่ายบัตรเครดิตเติบโตต่ำกว่าเป้าหมาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถาบันการเงินมีความระมัดระวัง โดยส่วนใหญ่จะไม่จัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดการใช้จ่ายนักในช่วงที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะกลุ่มระดับล่าง เนื่องจากอาจส่งผลต่อการปรับเพิ่มขึ้นของตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลแต่จะหันไปรุกตลาดบนมากขึ้น โดยเฉพาะระดับแพลทินัม และไลฟ์สไตล์

นพวรรณ เจิมหรรษา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า ในช่วงไตรมาสแรกยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของธนาคาร อาจจะไม่เติบโตจากฐานสูงปีก่อน มียอดการใช้จ่าย 320,000 ล้านบาท ถือว่าเติบโตมากแล้ว และด้วยภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตอนนี้ อาจทำให้ลูกค้าบัตรฯระดับต่ำกว่าบัตรแพลทินัม ยังระมัดระวังการใช้จ่ายอยู่ และธนาคารยังเน้นควบคุมคุณภาพหนี้ และไม่มีการกระตุ้นให้ลูกค้ากลุ่มนี้ใช้จ่ายเพิ่มแต่อย่างใด

แต่ในกลุ่มลูกค้าบัตรฯระดับบัตรแพลทินัมขึ้นไป ธนาคารเห็นลูกค้ายังใช้จ่ายผ่านบัตรเป็นปกติ โดยเฉพาะการใช้จ่ายในเรื่องการท่องเที่ยว และในช่วงหลังจากนี้ธนาคารยังเน้นจัดโปรโมชั่นโครงการพิเศษกระตุ้นการใช้จ่ายในกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อเท่านั้น

อย่างไรก็ตามธนาคาร คาดว่า ยอดการใช้จ่ายบัตรเครดิตในปีนี้เติบโตเพียง 10% และมียอดบัตรฯใหม่ 170,000 ใบเท่านั้น จากฐานบัตรฯทั้งสิ้น 3.2 ล้านใบ

ประพันธ์ รังสิโยภาส ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจบัตรเครดิตอิออนในปีนี้ยังเติบโตได้ตามเป้า โดยคาดว่ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตฯโตเป็นตัวเลขสองหลัก และมีจำนวนบัตรเครดิตฯเติบโตเพียง 8% แต่แนวโน้มช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะยังเติบโตต่อไปได้ แม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ยอดการใช้จ่ายผ่าน บัตรฯ ยังเติบโตได้ใกล้เคียงเป้าเท่านั้น เนื่องจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐช่วงปลายปีก่อน ได้ดึงกำลังซื้อส่วนหนึ่งล่วงหน้าไปแล้ว และด้วยภาวะเศรษฐกิจปีนี้ คนก็ยังระวังการใช้จ่าย ไม่จ่ายเกินตัว

ปัจจุบันบริษัทมีฐานบัตรฯจำนวน 2.4 ล้านใบ และเป็นมีบัตรสมาชิกประมาณ 5 ล้านใบ มีอัตราการอนุมัติบัตรฯ ที่ 50%เท่ากับอัตราการปฏิเสธบัตรฯ โดยบัตรฯ ระดับแพลทินัม ยังมียอดอนุมัติยังสูงถึง 70% และยังสามารถคุมคุณภาพหนี้ได้ดีจากปีก่อน โดยจากกลุ่มลูกค้าบัตรฯ ระดับกลางล่างของบริษัท ยังมีวินัยการใช้จ่ายดี ในขณะที่หนี้เสียในตลาดเกิดจากกลุ่มนี้เป็นส่วนใหญ่

ประพันธ์ กล่าวว่า กลยุทธ์ของบริษัท ในปีนี้ ยังหันมาเน้นขยายฐานกลุ่มคนที่มีรายได้สูงและกำลังซื้อสูง รวมถึงเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน จากที่ผ่านมาเน้นทำตลาดทั่วไป (Mass) ล่าสุด ช่วงต้นเดือนพ.ค.นี้ บริษัทเตรียม ออกบัตรฯใหม่ ในระดับ แพลทินัม เจาะกลุ่มไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจำวัน (lifestyle daily user)

ขณะเดียวกันยังคงมอบสิทธิประโยชน์พิเศษ กระตุ้นยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรฯในหมวดท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่ยังเติบโตดี เช่น บัตรฯแพลทินัมที่ร่วมกับ JCB สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวญี่ปุ่น เป็นต้น ส่วน บัตรฯ M GEN จะขยายช่องทางรับสมัครบัตรฯ และโฆษณาผ่านช่องทางโมบายแบงกิ้งขณะนี้กำลังพัฒนาแพลตฟอร์มสนับสนุนช่องทางดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีนี้ หลังจากบัตรฯM GEN ที่เปิดตัวเมื่อปีก่อน ผลตอบรับดีเกินคาด เติบโต 200% ณ สิ้นปีก่อนมียอดออกบัตรฯดังกล่าวถึง 70,000 ใบ หรือมากกว่าเป้าตั้งไว้ที่ 30,000 ใบเท่านั้น

พิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจบัตรเครดิตเคทีซี หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมตลาดบัตรเครดิตของเคทีซี ในไตรมาสแรกปีนี้ พบยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรฯ เติบโต 8% เป็นมูลค่า 41,000 ล้านบาท และมียอดบัตรใหม่ 70,000 ราย ถือว่าโตน้อยกว่าเป้าที่คาดไว้เล็กน้อย แต่ยังเติบโตกว่าตลาดที่มียอดการใช้จ่ายเดือนก.พ.เติบโต 3.5%

บริษัทอยู่ระหว่างกำลังติดตามลูกค้าบัตรเพื่อดูว่ากลุ่มไหนที่มียอดการใช้จ่ายลดลง ซึ่งบริษัทจะเข้าไปจัดแคมเปญโปรโมชั่นกระตุ้นการใช้จ่ายให้ถูกจุด เพราะอีกมุมพบว่า ลูกค้าบัตรฯมียอดการใช้บัตรถี่ขึ้น สะท้อนว่า ยังมีลูกค้าที่มีกำลังซื้อ แต่อาจยังไม่พร้อมใช้จ่ายอย่างเต็มที่ ด้วยความกังวลภาวะเศรษฐกิจยังอยู่ระหว่างฟื้นตัว และรอติดตามมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มเติมอีกหรือไม่ จากที่ออกมากระตุ้นเมื่อปลายปีก่อน ทำให้ดึงกำลังซื้อล่วงหน้าไปแล้วและส่วนใหญ่ช่วงไตรมาสแรกเป็นซีซั่นที่ยอดการใช้จ่ายต่ำกว่าไตรมาสอื่นๆ

บริษัทหวังว่า ในแต่ละไตรมาสที่เหลือของปีนี้จะยังคงเติบโตเป็นเลขสองหลัก และสิ้นปีนี้จะทำได้ตามเป้าหมายมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซีที่ 190,000 ล้านบาท เติบโต 15% และมีจำนวนสมาชิกบัตรรายใหม่ 400,000 ราย ขณะที่ปัจจุบันมียอดรวมบัตรเครดิตเคทีซีทั้งสิ้น 2 ล้านใบ และมียอดสมาชิกบัตรฯ 1.6 ล้านคน  รวมถึงในปีนี้ยังคงรักษาNPLของบัตรฯอยู่ที่ 1.3%