เปิดข้อมูล ขุมทรัพย์รังนกนางแอ่น มูลค่าแสนล้าน

เปิดข้อมูล ขุมทรัพย์รังนกนางแอ่น มูลค่าแสนล้าน

ฝ่ายนโยบายชาติฯ สกว. จัด TRF Forum “ชาติพันธุ์สัมพันธ์กับทรัพยากรรังนกแอ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” สร้างความรู้ความเข้าใจอุตสาหกรรมการผลิตและการค้ารังนกมูลค่าแสนล้าน

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2560 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ (ฝ่าย 1) จัดการประชุมเวที สกว. (TRF Forum) เรื่อง “ชาติพันธุ์สัมพันธ์กับทรัพยากรรังนกแอ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ณ ห้องประชุม China ชั้น 12 โรงแรม Centra Central Station Hotel Bangkok เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยเกี่ยวกับอุตสาหกรรมรังนกนางแอ่นทั้งในมิติทางชาติพันธุ์และเศรษฐกิจ และอภิปราย แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างนักวิจัยกับผู้เข้าร่วมการประชุม ซึ่งอาจนำไปสู่ประเด็นการวิจัยต่อยอด โดยมี ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายชาติฯ ดร.ภาคภูมิ ทิพคุณ รองผู้อำนวยการฝ่ายงานจัดการความรู้และสื่อสารสังคม อาจารย์เกษม จันทร์ดำ หัวหน้าโครงการวิจัย และทีมวิจัย ตลอดจนผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆร่วมการประชุม

โอกาสนี้ ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ กล่าวว่า ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมรังนกนางแอ่นมีอยู่ค่อนข้างน้อยในสังคมไทย ทั้งๆ ที่ในข้อเท็จจริงแล้ว อุตสาหกรรมรังนกนางแอ่นมีความเชื่อมโยงกับการพัฒนาในหลายมิติไม่ว่าจะเป็นในด้านเศรษฐกิจ และในเชิงชาติพันธุ์ ในเชิงเศรษฐกิจมีการประเมินว่าปริมาณการบริโภครังนกนางแอ่นทั่วโลกในแต่ละปีมีสูงถึง 160 ตัน คิดเป็นมูลค่าสูงถึงประมาณ 120,000 ล้านบาท ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตและการค้ารังนกนางแอ่นเป็นแหล่งจ้างงานและเกิดธุรกิจจำนวนมหาศาล ซึ่งประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายรังนกนางแอ่นแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลก

โดยระหว่างปี พ.ศ. 2546-2550 ประเทศไทยส่งออกรังนกนางแอ่นถึงประมาณร้อยละ 20 ของปริมาณการส่งออกของโลก เป็นอันดับสองรองจากอินโดนีเซียซึ่งมีมูลค่าการส่งออกประมาณร้อยละ 50 ของการส่งออกโลก ในเชิงชาติพันธุ์นั้น พบว่าอุตสาหกรรมรังนกนางแอ่นมีความเกี่ยวข้องกับการผลิต การจ้างงาน และการจัดการทางธุรกิจของกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ ทำให้กระแสการค้าเสรีเข้ามาท้าทายระบบอุตสาหกรรมและการจัดการธุรกิจเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์จนนำไปสู่ความตึงเครียดและความขัดแย้งทางสังคมในบางระดับ

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการทำความเข้าใจระบบอุตสาหกรรมรังนกนางแอ่นในมิติต่างๆ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และชาติพันธุ์เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสร้างการตระหนักรู้ให้แก่สังคม และการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ฝ่ายนโยบายที่เกี่ยวข้อง สกว. จึงให้การสนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “ชาติพันธุ์สัมพันธ์กับทรัพยากรรังนกแอ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาระบบความสัมพันธ์ของกลุ่มชาติพันธุ์กับทรัพยากรรังนกแอ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2) เพื่อศึกษาระบบความเชื่อ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ระบบสิทธิ์และกฎหมาย และผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับธุรกิจรังนกแอ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (3) ศึกษาความสำคัญของตลาดรังนกแอ่นในประเทศฮ่องกงที่มีอิทธิพลต่อธุรกิจรังนกแอ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ (4) ศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการจัดการธุรกิจ และรูปแบบกระบวนการจัดการทรัพยากรรังนกแอ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ด้าน อาจารย์เกษม จันทร์ดำ หัวหน้าโครงการวิจัยกล่าวว่า ความซื่อสัตย์และภักดี และความรักเดียวใจเดียวต่อคนรัก แถบชายฝั่งทางตอนใต้ของชวากลาง อินโดนีเซียก็เชื่อกันว่านกนางแอ่นเป็นทรัพย์สมบัติของเทพีนีโรโรคีดุล (Nyi Roro Kidul) คนอีดาฮัน (Idahan) ในซาบาห์ (Sabah) มาเลเซีย เชื่อว่ารังนกที่ได้จากนกนางแอ่นเป็นของขวัญที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษ และเชื่อกันอีกว่าเจ้าของตึกนกใดที่นกนางแอ่นเข้ามาอาศัยทำรังเป็นผู้ที่ได้รับพรจากอัลเลาะฮ์ (Allah) ส่วนทางตอนเหนือของปาลาวาน (Palawan) ฟิลิปปินส์ กลุ่มชาติพันธุ์ทักบานัว (Tagbanua) ผู้เป็นเจ้าของถ้ำรังนกและคนเก็บรังนก มีความเคารพนกนางแอ่น (Balinsasayaw) ถือว่า เป็นนกศักดิ์สิทธิ์

“ทำนองเดียวกับคนไทยภาคใต้ในอดีตส่วนหนึ่งเชื่อกันว่า นกนางแอ่นเป็นนกกินลมได้อาหารบำรุงกำลังจากอากาศ น้ำลายที่ใช้ในการสร้างรังเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ คนชาติพันธุ์ไทย-มาเลย์มุสลิม ทางฝั่งทะเลอันดามันส่วนหนึ่งเชื่อว่า นกนางแอ่นกำเนิดมาจากเหงื่อของผู้นำศาสนา นบี อิบรอฮีม

โดยต่างก็เชื่อว่านกนางแอ่นเป็นสัตว์ที่มีพลานุภาพเช่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สามารถบันดาลให้เกิดทั้งสิ่งที่เป็นคุณและโทษกับคนที่ไปมีส่วนสัมพันธ์ด้วย”

“ประกอบกับงานเก็บรังนกเป็นงานที่เสี่ยงภัย เชื่อในสิ่งลี้ลับตามวิถีของวัฒนธรรมการนับถือผี (Animism) ก่อนหรือหลังเก็บรังนก กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะประกอบพิธีกรรมเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในถ้ำรังนก ขณะเก็บรังนกมีข้อห้ามในการประพฤติตน และมีการใช้ภาษาเฉพาะที่แตกต่างไปจากที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน อันเป็นการแสดงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำถ้ำหรือเกาะรังนก ทั้งเป็นขวัญกำลังใจและให้มีความปลอดภัยในการเก็บรังนก” หัวหน้าโครงการวิจัยกล่าวและว่า

การบริโภครังนกยุคจารีตรังนกนางแอ่นว่า เคยเป็นอาหารพิเศษของกษัตริย์และคนรวย เชื่อว่าการกินรังนกจะมีชีวิตเป็นนิรันดร์ มีสรรพคุณทางยาที่เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ เพิ่มภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายแข็งแรง บำรุงสมองให้ฉลาด ทำให้ใบหน้าสวยอ่อนกว่าวัย ช่วยฟื้นฟูสุขภาพ ตลอดถึงแก้ความเจ็บป่วยต่างๆ

คนจีนเชื่อกันว่ารังนกนางแอ่นเป็นยาอายุวัฒนะ มีคุณสมบัติพิเศษในการบำรุงร่างกาย รักษาโรคทางเดินหายใจ ช่วยบำรุงสุขภาพเด็กที่ร่างกายไม่แข็งแรง เชื่อกันว่า รังนกเมื่อผสมกับโสมจีนจะสามารถช่วยชีวิตคนที่กำลังจะตายให้กลับฟื้นได้ และสามารถละลายเลือดที่แข็งตัวให้เหลวได้โดยดื่มซุบที่ทำจากรังนก เป็น 1 ใน 5 อย่างของอาหารชั้นสูงราคาแพงของคนจีน คือ รังนก หอยเป๋าฮื้อ กระเพาะปลา โสม และหูฉลาม

คนจีนเชื่อเรื่องความมีประโยชน์ของรังนกกันมาก แม้ไม่ได้ถูกระบุเป็นยารักษาไว้อย่างเป็นทางการ แต่จะใช้ร่วมกับสมุนไพร แพทย์แผนจีนจะแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มรังนกเป็นอาหารเสริมเพื่อฟื้นฟูสุขภาพ เกี่ยวพันกับระบบความคิดที่เกี่ยวกับสีและธาตุ 5 ในฐานคติของชาวจีน สัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องหยินและหยางกับสีทั้ง 5 ที่เกี่ยวข้องกันเป็นวงจร กอปรกับวัฒนธรรมการรักษาผู้ป่วยของจีนจะไม่แยกระหว่างยากับอาหารแต่จะรักษาโรคผ่านโภชนาการ

กล่าวได้ว่า กลุ่มชาติพันธุ์ต่างก็ได้สร้างและผลิตซ้ำความเชื่อในการบริโภครังนก ผ่านกระบวนการหล่อหลอมทางสังคมที่ก่อให้เกิดโครงสร้างการรับรู้และการให้ความสำคัญกับระบบคุณค่าที่เอื้อให้ผู้คนรับรู้ และเชื่อในคุณค่าและคุณสมบัติพิเศษของรังนก อันเป็นการสนับสนุนวัฒนธรรมการบริโภครังนกและระบบธุรกิจรังนก