‘เดวิด คาเมรอน’หนุนธุรกิจร่วมมือรัฐดันท่องเที่ยวเปลี่ยนโลก

‘เดวิด คาเมรอน’หนุนธุรกิจร่วมมือรัฐดันท่องเที่ยวเปลี่ยนโลก

ในการประชุมสุดยอดสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (World Travel & Tourism Council Global Summit ) หรือ WTTC  ระหว่างวันที่ 26-27 เม.ย.2560 ซึ่งประเทศไทยนำโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นเจ้าภาพ 

เริ่มเปิดฉากวันแรก(26 เม.ย.) ด้วยการตั้งคำถามสำคัญที่เป็นแนวคิดหลักของการประชุมครั้งนี้ว่า ภาคการท่องเที่ยวจะมีส่วนสำคัญต่อการ“Transforming Our World” ภายใต้ปัจจัยท้าทายระดับโลกเกี่ยวกับ โลกาภิวัตน์ ที่ถูกสั่นคลอนจากประเทศมหาอำนาจที่มีแนวโน้มกลับไปใช้นโยบายปกป้องตลาดในแนวทางชาตินิยม ท่ามกลางปัญหาที่ทั้งโลกมีร่วมกัน ได้แก่ ภัยก่อการร้าย และความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยว ขณะที่ปัญหาด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมปรากฎชัดต่อเนื่อง

เดวิด คาเมรอน อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร กล่าวในหัวข้อ Altered States - has globalization had its day? กล่าวย้ำว่า เชื่อมั่นว่าท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่“สร้างการเปลี่ยนแปลง” รวมถีงช่วยรับมือกับความท้าทายทั้งหมดที่โลกเผชิญอยู่ โดยเฉพาะการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอันเป็นผลพวงจากโลกาภิวัตน์ ที่ปลุกกระแสความไม่พอใจของผู้คนและสะท้อนมาเป็นการเลือกนโยบายชาตินิยมของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และการเตรียมตัวออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) ของอังกฤษ ซึ่งจะมีผลในเดือน เม.ย.2562

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา แม้ว่าเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในเชิงกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน 1 ใน 10 ของทุกตำแหน่งงานทั่วโลก และสร้างรายได้เฉลี่ยคิดเป็น 10% ของจีดีพีโลก ช่วยยกระดับประเทศยากจนสู่ประเทศกำลังพัฒนา และนำประเทศพัฒนาไปสู่ความมั่งคั่ง แต่ที่ผ่านมากลับยังไม่ได้รับความสนใจอย่างที่ควร

ดังนั้น ในโอกาสที่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อผู้นำภาครัฐและสมาชิกด้านธุรกิจท่องเที่ยวชั้นนำในที่ประชุมนี้ จึงนำเสนอให้ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน “ประสานความร่วมมือกัน”ทั้งด้านการพัฒนาสินค้าและทำการตลาดโฆษณาประชาสัมพันธ์ ด้วยการตอกย้ำว่า “นายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้มีบทบาทนำในการผลักดัน

“ภาครัฐต้องมีบทบาททั้งหมด ไม่ใช่เพียงวางกฎเกณฑ์และหลักการ แต่ต้องลงมือปฏิบัติร่วมกับภาคธุรกิจอย่างใกล้ชิด อย่างเช่นสมัยที่ตนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2554 เมื่อตระหนักว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทะลักเข้ามาในสหราชอาณาจักร ย้ำเหลื่อมล้ำมาก เพราะยังมีหลายพื้นที่ในเวลส์, สก็อตแลนด์, ไอร์แลนด์ ที่ยังไม่ถูกนำเสนอ ดังนั้นจึงนั่งเป็นประธานในการทำ “แบรนดิ้ง” ท่องเที่ยว คัดเลือกแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยตัวเอง ซึ่งผลปรากฎว่าในปี 2558 แคมเปญนี้สามารถสร้างรายได้ให้ถึง 1,200 ล้านปอนด์ (ราว 5.3 หมื่นล้านบาท) และช่วยสร้างงานได้อีกมหาศาล”

คาเมรอน กล่าวด้วยว่า หากการท่องเที่ยวสามารถวางตำแหน่งของตัวเองให้ถูกต้อง ทำความเข้าใจใน 3 ประเด็นท้าทายหลัก ก็จะสามารถเสริมพลังให้การท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงปัจจัยลบที่กังวล และช่วยทำให้สังคมโลกดีขึ้นได้

ประเด็นแรก ได้แก่ การทำความเข้าใจโลกาภิวัตน์ ซึ่งที่ผ่านมาทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น แต่จุดอ่อนคือ เมื่อมีคนบางกลุ่มร่ำรวย แต่ก็มีอีกกลุ่มที่ยากจนลง เหตุการณ์ซ้ำร้ายขึ้น เมื่อบริษัทที่ร่ำรวยกลับทำไม่ถูกต้อง เช่น ไม่จ่ายภาษี คนที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังจึงแสดงพลังออกมาในรูปของผลการเลือกตั้งของสหรัฐและเบร็กซิทดังกล่าว ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ตนยังเชื่อมั่นในเรื่องการค้าเสรีอย่างเต็มที่ แต่ทั้งนี้ภาครัฐต้องกำกับดูแลอย่างมากเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมด้วย

นอกจากนั้น กระแสการต่อต้านโลกาภิวัตน์ยังไม่ได้เกิดแต่ในมิติทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นเรื่องเชิงวัฒนธรรมด้วย เช่น หลั่งไหลผ่านข้ามแดนของผู้ลี้ภัยจำนวนมาก ทำให้เกิดแนวคิดปิดกั้นพรมแดน หรือการที่สหรัฐห้ามประชากรประเทศมุสลิม 7 ประเทศเข้าประเทศ

ดังนั้น ภาคธุรกิจท่องเที่ยวจึงต้องมาตื่นตัวในประการที่สอง ได้แก่ การออกมาเป็นปากเสียงชี้ชวนให้รัฐบาลในประเทศของตัวเองเห็นความสำคัญของสิทธิการเดินทางอย่างเสรี กระตุ้นให้แต่ละประเทศดำเนินการใน 2 แนวคิดสำคัญ ได้แก่ 1.เอื้ออำนวยให้เกิดการเดินทางที่สะดวกขึ้น ผลักดันมาตรการวีซ่าให้เข้าถึงได้สะดวก ราคาถูกขึ้น ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีต่อเรื่องท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ เช่น การที่อังกฤษออกนโยบายการอนุมัติวีซ่าภายใน 1 วันให้กับนักธุรกิจจีน ที่เป็นการเปิดโอกาสดึงเม็ดเงินมากระตุ้นการลงทุนในประเทศได้ และ 2. ทำให้มั่นใจว่าคนสามารถเดินทางได้อิสระ โดยใช้เทคโนโลยีในการควบคุมดูแลความมั่นคงคนที่เดินทางเข้า เช่น ใช้ระบบไบโอเมทริก แทนที่จะกีดกันไม่ให้เดินทางเข้ามาในประเทศ

“ผมสนับสนุนค่านิยมเรื่องประชาธิปไตยและตลาดเสรีเต็มที่ และเชื่อว่าส่ิงเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่ดีในการส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่ต้องอยู่พื้นฐานของการเคารพกฎหมาย เราจะใช้คำว่าประชาธิปไตยได้อย่างไร ถ้าประเทศนั้นยังมีรัฐบาลที่เล่นพรรคเล่นพวก ปล่อยให้มีการคอรัปชั่น การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ไม่ได้เป็นเพียงนำไปสู่การเป็นรัฐบาลที่เลวร้ายเท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งธุรกิจที่เลวร้าย ลองคิดมุมมองว่าบริษัทใหญ่แห่งใดอยากจะลงทุนเมื่อพบกับการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม อาจจะถูกยึดทรัพย์เมื่อใดก็ได้ หรือบริษัทเล็กก็อาจจะถูกบีบคั้นรังแก ดังนั้น อีกประเด็นสำคัญที่ต้องปรับเพื่อให้ท่องเที่ยวเติบโตเป็นกำลังสำคัญ คือ การสร้างความโปร่งใส เปิดกว้าง และเป็นธรรม ด้วยการทำงานประสานระหว่างภาครัฐและเอกชน”

ประเด็นสุดท้ายคือ การรับมือกับการก่อการร้าย ซึ่งเกิดขึ้นไปทั่วโลก โดยไม่ได้มีเป้าหมายทำลายท่องเที่ยวเฉพาะบางประเทศเท่านั้น แต่มีเป้าหมายสร้าง “บรรยากาศความกลัว”เพื่อทำให้คนหยุดเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งในกรณี เสนอให้ผู้นำของแต่ละประเทศ เป็นผู้นำในการรวบรวมทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการรับมือร่วมกัน ตัวอย่างในสมัยที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรี มีการตั้งคณะกรรมการพิเศษที่ตัวเองจะเป็นประธาน และนำทุกหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนมารวมกันเพื่อรับมืออย่างเป็นระบบ เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น จะทำให้เกิดการประสานงานได้ทันท่วงทีว่า จะวางมาตรการป้องกันความปลอดภัยระบบขนส่งสาธารณะ, ส่งข่าวสารไปยังสถานฑูตต่างประเทศด้วยเนื้อหาใด สายการบินต่างๆ มีแนวทางและข้อมูลรับมือที่ผ่านการกลั่นกรองจากข้อมูลที่รอบด้าน