'เดลต้า' รับมือกีดกันการค้าสหรัฐ

'เดลต้า' รับมือกีดกันการค้าสหรัฐ

"เดลต้า" รับมือกีดกันการค้าสหรัฐ พร้อม "ปรับแผน" ธุรกิจย้ายฐานส่งสินค้า-ตั้งโรงงานในสหรัฐ คาดปีนี้กำไรฟื้นหลังลดถือหุ้นบริษัทย่อยที่ยุโรป

เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ เตรียมแผนรับมือทรัมป์ หวั่นนโยบายกีดกันภาษีไทยเกิดจริง รับกำลังการผลิตส่วนใหญ่อยู่ในประเทศ พร้อมปรับแผนนำสินค้าจากฐานการผลิตอื่นเข้าไปทดแทน หากเกิดกรณีเลวร้ายสุดอาจเข้าไปตั้งโรงงานสหรัฐ ประเมินผลประกอบการฟื้น หลังปรับลดถือหุ้นบริษัทยุโรป

ประเทศไทยเป็น1ใน16ประเทศที่ถูกระบุว่า เกินดุลการค้ากับสหรัฐ และอยู่ในประกาศคำสั่งประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนต่อทิศทางการค้าและการลงทุนในอนาคต โดยสินค้าที่อาจจะได้รับผลกระทบได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า,กลุ่มอาหาร,ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ,เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งปีที่ผ่านมาไทยได้ดุลการค้าสหรัฐราว1.8หมื่นล้านดอลลาร์ จัดเป็นประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐมากเป็นอันดับที่11ของโลก

นายอนุสรณ์ มุทราอิศกรรมการ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) DELTA เปิดเผยว่า บริษัทยอมรับว่ายังไม่สามารถประเมินผลกระทบจากการกีดกันทางการค้าที่อาจมีต่อประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐอย่างในไทย ตามนโยบายของนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ แต่บริษัทประเมินว่า ผลกระทบอาจไม่รุนแรงมากนัก และมีแผนเตรียมรับมือในครั้งนี้ 

“นโยบายการกีดกันทางการค้าสหรัฐ ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจนออกมา แต่หากเกิดขึ้นจริง บริษัทมีความพร้อมที่จะรับมือ เพราะปัจจุบันบริษัทมี 3 ฐานการผลิตขนาดใหญ่ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ทั้งในอินเดีย และกลุ่มยุโรป ทำให้บริษัทอาจใช้การส่งสินค้าการฐานการผลิตในประเทศอื่นส่งไปทดแทน”

หากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐมีความเข้มข้นมากขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ที่บริษัทอาจใช้ช่องทางในการเข้าไปตั้งโรงงานในสหรัฐ ปัจจุบันบริษัทใช้กำลังการผลิตส่วนใหญ่อยู่ในไทย 60 % อินเดีย 20 % และยุโรป 15-20 % โดยบริษัทมีแผนจะเพิ่มศักยภาพการผลิตในไทยให้ดีขึ้น โดยจะใช้เครื่องจักรเข้ามามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปีที่ผ่านมา บริษัทยอมรับว่าต้องใช้วิธีปรับลดค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทั้งการลดสัดส่วนการถือหุ้นในสำนักงานกลุ่มประเทศยุโรป จากเดิมที่ถือหุ้น 100 % เหลือการถือครองที่ 49 % เนื่องจากผลการดำเนินงานในกลุ่มดังกล่าวยังขาดทุน และพันธมิตรทางธุรกิจ มองว่าจะสามารถเข้าไปช่วยให้เกิดการเติบโตได้ จึงได้ขายหุ้นดังกล่าวออกไปเพื่อลดสัดส่วนถือหุ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งหลังจากนี้บริษัทจะหันมาให้ความสนใจในตลาดเอเชียมากขึ้น

โดยตลาดเป้าหมายของบริษัทจะอยู่ในประเทศอินเดีย เนื่องจากมีการเติบโตที่สูง มีความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ พลังงานทดแทน ทำให้บริษัทเดินหน้าตั้งโรงงานที่อินเดีย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณ 1 ปีข้างหน้า โดยระหว่างนี้ บริษัทใช้วิธีการเช่าโรงงานเพื่อทำการผลิต และหากโรงงานของบริษัทเสร็จก็พร้อมที่จะย้ายเข้าไปเดินเครื่องทำการผลิตได้ทันที

 ส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ในปีนี้จะลงทุนเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 10 %ของรายได้ หรือประมาณ 5 พันล้านบาท และที่ผ่านมาบริษัทได้รับประโยชน์จากการลงทุนดังกล่าวค่อนข้างมาก ส่วนเป้าหมายการเติบโตในปีนี้คาดว่ายอดขายจะสูงขึ้นจากปีก่อน 10 % มาอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท โดยผลจากการปรับลดต้นทุน และการขายหุ้นทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทมาอยู่ที่ 27 % จากปีก่อนที่ 26 %และหนุนอัตรากำไรสุทธิของบริษัทขยับขึ้นมาอยู่ที่ 12 - 13 % จากปีก่อนที่ 11 %

บล.ทิสโก้ระบุว่า ฝ่ายวิจัยยังคงประมาณการผลประกอบการปีนี้และปีหน้า กำไรจากการดำเนินงานไตรมาสแรกปีนี้ คิดเป็น 22% ของผลประกอบการทั้งปีตามคาด แต่อย่างไรก็ตาม มีความเสี่ยงที่เงินบาทจะแข็งค่ากระทบต่อผลประกอบการ โดยเงินบาทไตรมาสแรกอยู่ที่เฉลี่ย 35.11 บาทต่อดอลลาร์ ในขณะที่สมมติฐานอยู่ที่ 36.5 บาทต่อดอลลาร์ แต่ยังคงประมาณการ เนื่องจากคาดว่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงได้อีก