ปุ๋ยจากแล็บ ส่งต่อเอกชนทดลองตลาด

ปุ๋ยจากแล็บ ส่งต่อเอกชนทดลองตลาด

ปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ดผสมแบคทีเรียบำรุงดินในแปลงมันสำปะหลัง ป้องกันแมลงศัตรูพืชและย่อยสลายสารกำจัดวัชพืชตกค้างในดิน ผลงานการคิดค้นจากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ดผสมแบคทีเรียมีคุณสมบัติ 3 อิน 1 ทั้งบำรุงดินในแปลงมันสำปะหลัง ป้องกันแมลงศัตรูพืชและย่อยสลายสารกำจัดวัชพืชตกค้างในดิน ผลงานการคิดค้นจากมหาวิทยาลัยสวนดุสิตที่กำลังได้รับการต่อยอดเชิงพาณิชย์โดยผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่


“บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายปุ๋ยจะนำผลิตภัณฑ์ต้นแบบไปทดสอบการตลาด โดยแจกให้เกษตรกรทดลองใช้ จากนั้นจึงจะเจรจากันเรื่องแผนการทำธุรกิจต่อไป นวัตกรรมนี้เราไม่ได้คิดค้นขึ้นมาเพื่อทำจำหน่ายเท่านั้น แต่ยังอบรมถ่ายทอดวิธีการผลิตให้สามารถทำใช้เองได้ง่ายๆ เพียงแต่ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์อาจไม่สูงเหมือนกับที่ทำในห้องปฏิบัติการ คาดว่าปลายปีนี้จะสามารถเปิดตัวสู่ตลาดได้สำเร็จจากปัจจุบันอยู่ระหว่างทดสอบในแล็บ” ณัฐบดี วิริยาวัฒน์ นักวิจัยกล่าว


ปุ๋ยจากแบคทีเรียและซิลิคอน


ผลจากการใช้สารกำจัดวัชพืชทำให้มีปริมาณสารตกค้างในดินซึ่งเรียกว่าสารพาราควอท ส่งผลให้คุณสมบัติของดินเปลี่ยนไปโดยกลายเป็นดินเหนียวมากขึ้น ผลผลิตมันสำปะหลังลดลง เพราะรากเจริญเติบโตไม่ดี จากปัญหาดังกล่าว ณัฐบดี ร่วมกับสุรชาติ สินวรณ์ อาจารย์สถาบันเดียวกันได้คัดแยกสายพันธุ์แบคทีเรียประสิทธิภาพสูงจากแปลงดินที่ปนเปื้อน จากนั้นทำการเพาะเลี้ยงแล้วพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อทำหน้าที่ย่อยสลายสารพาราควอท พร้อมทั้งถ่ายทอดวิธีการผลิตให้กับเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลัง


“เราพยายามจะหาวิธีการกำจัดสารตกค้างในดิน โดยใช้ปุ๋ยชีวภาพเพื่อทำให้คุณสมบัติดินดีขึ้น ไม่เกิดสารตกค้าง สอดคล้องกับแนวโน้มการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ที่มุ่งเน้นการทดแทนการใช้สารเคมีและสารสังเคราะห์ด้วยผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาขึ้นจากการนำคุณประโยชน์จากสิ่งมีชีวิตต่างๆ อาทิ แบคทีเรียและเทคโนโลยีชีวภาพที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนพืชสมุนไพรมาผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพ เพื่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่มีมูลค่าสูงขึ้นในระดับอุตสาหกรรม"


นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยได้ศึกษาวิธีสกัดสารซิลิคอนจากวัสดุเหลือใช้ในพื้นที่การเกษตร มาพัฒนาเป็น “ปุ๋ยนาโนซิลิคอน” เพื่อใช้เป็นสารเสริมการเติบโตแก้ปัญหาเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังชมพู เนื่องจากมีปริมาณซิลิกาสูง และปุ๋ยซิลิคอนที่มีอนุภาคนาโนจะช่วยให้มันสำปะหลังดูดซึมซิลิคอนเข้าไปสะสมที่ใบอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดผลึกเคลือบเป็นเกล็ดแข็งที่ผิวใบ แมลงศัตรูพืชไม่สามารถเจาะดูดกินน้ำเลี้ยง


ลดความเสียหายจากเพลี้ยแป้ง


ณัฐบดี กล่าวว่า โจทย์ที่สองในการทำปุ๋ยนาโนซิลิคอนเพราะมีปัญหาเรื่องเพลี้ยแป้งสีชมพู ซึ่งเป็นศัตรูสำคัญของมันสำปะหลัง โดยการเจาะแล้วดูดกินน้ำเลี้ยงทำให้ต้นมันตาย วิธีการแก้ที่ทำอยู่คือ ใช้ตัวห้ำ ตัวเบียน ซี่งเป็นการควบคุมโดยชีววิธี แต่ปัญหาคือแมลงตัวห้ำตัวเบียนจะย้ายไปทั่ว ไม่โฟกัสที่เป้าหมาย ควบคุมไม่ได้ ส่วนอีกวิธีก็คือการเสริมน้ำด้วยระบบน้ำหยดหรือระบบน้ำใต้ดินให้กับต้นมันเรื่อยๆ ทดแทนน้ำที่ถูกเพลี้ยแป้งเจาะดูด วิธีนี้ช่วยรักษาต้นมันไว้ได้แต่ก็ใช้งบลงทุนในการวางระบบน้ำค่อนข้างสูง


ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการพัฒนาปุ๋ยอัดเม็ดดังกล่าวด้วยการใช้ธาตุซิลิคอน ทำให้ใบและลำต้นแข็งแรง เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูเจาะดูดไม่ได้ ถือเป็นการป้องกันปัญหาได้อีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับนาข้าวหรือพืชชนิดอื่นๆ ได้ด้วย เช่น ไม้ประดับในอาคาร หรือพืชใบเลี้ยงเดี่ยวอย่างเช่น อ้อย  ผลงานวิจัย “นวัตกรรมปุ๋ยสำหรับมันสำปะหลัง” ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง และรางวัลพิเศษ honorable mention ในงานนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ครั้งที่ 45 เมืองเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ คัดเลือกจากผลงานเข้าประกวด 1,000 ผลงานของ 700 สถาบันใน 40 ประเทศทั่วโลก