กินไข่-ดื่มนม เด็กช่วยส่วนสูง ผู้ใหญ่ลดเสี่ยงกระดูกพรุน

กินไข่-ดื่มนม เด็กช่วยส่วนสูง ผู้ใหญ่ลดเสี่ยงกระดูกพรุน

กรมอนามัย หนุนคนไทยกินไข่วันละฟอง ดื่มนมจืดวันละ 1-2 แก้ว แหล่งโปรตีน แคลเซียม ช่วยสร้างส่วนสูงเด็กไทย สูงวัยลดเสี่ยงกระดูกพรุน

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ไข่เป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพสูง หาได้ง่าย และเหมาะสมสำหรับทุกเพศ ทุกวัย เป็นแหล่งของแร่ธาตุและวิตามินอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินบี1บี2บี6วิตามินอี โฟเลต เลซิธินลูทีน และซีแซนทีนที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย ปริมาณไข่ที่แนะนำให้บริโภคนั้น เด็กอายุตั้งแต่6เดือน ให้เริ่มที่ไข่แดงต้มสุกวันละครึ่งถึง1ฟอง เด็กอายุ7เดือนขึ้นไปกินไข่ต้มสุกวันละครึ่งถึง1ฟอง และเด็กอายุ1ปีขึ้นไปถึงวัยสูงอายุกินไข่ต้มสุกได้วันละฟอง 

หากเป็นผู้ป่วยเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง กินไข่ได้ 3 ฟองต่อสัปดาห์หรือตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งผู้บริโภคควรกินไข่ควบคู่กับอาหารที่หลากหลายในแต่ละมื้อ โดยให้มีอาหารประเภทแป้ง ธัญพืช เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ครบทั้ง5หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม โดยเฉพาะผักและผลไม้สดจะช่วยในการกักเก็บน้ำตาลและคอเลสเตอรอล จึงช่วยลดการดูดซึม และควรเลี่ยงการกินไข่ดิบ เพราะอาจปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ

ส่วนไข่ขาวที่ไม่สุกจะขัดขวางการดูดซึมไบโอติน ซึ่งเป็นวิตามินบีชนิดหนึ่งในลำไส้ ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมวิตามินบีไปใช้ประโยชน์ได้ จึงได้รับประโยชน์ไม่เต็มที่ และสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องฟันที่ไม่สามารถกินอาหารโปรตีนอื่นได้ แนะนำให้ให้กินไข่เป็นแหล่งของโปรตีน แต่ในคนสูงอายุที่มีปัญหาเรื่องไขมันในเลือดสูงในบางมื้ออาจหลีกเลี่ยงการกินไข่แดง

กินไข่-ดื่มนม เด็กช่วยส่วนสูง ผู้ใหญ่ลดเสี่ยงกระดูกพรุน

นพ.วชิระ กล่าวอีกว่า ไข่สามารถประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น ไข่ต้ม ไข่ตุ๋น ไข่พะโล้ ซึ่งจะมีปริมาณไขมันน้อยกว่าไข่ดาว ไข่เจียว ไข่ลูกเขย หรืออาจกินเป็นสลัดไข่ ยำไข่ เพราะจะทำให้ได้สารอาหารที่มีประโยชน์จากไข่ และได้ใยอาหารและวิตามินซีจากผักและผลไม้ ส่วนเมนูที่ควรหลีกเลี่ยงคือ ขนมปังไข่ดาวใส่เบคอนหรือไส้กรอก เพราะจะได้รับปริมาณไขมันสูงมากจากเบคอนน้ำมันที่ใช้ทอดและเนยที่ทาขนมปัง 

กรณีที่พ่อแม่ต้องการให้เด็กได้กินผักควบคู่กับไข่นั้น ควรใช้วิธีการประกอบอาหารที่มีการใส่ผักลงไปในไข่เพื่อเป็นการจูงใจให้เด็กกินผักได้อีกทางหนึ่งด้วย เช่น ไข่เจียวหรือไข่ตุ๋นใส่ผักสับละเอียด โดยจะช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกายแก่เด็ก ที่สำคัญต้องดูแลการบริโภคอาหารอย่างอื่นร่วมด้วย

นพ.วชิระ กล่าวด้วยว่า วัยเด็กและผู้สูงอายุ ควรดื่มนมเป็นประจำ โดยเฉพาะนมจืดเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดีที่มีแคลเซียมในปริมาณสูง เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน โดยเฉพาะนมสดรสจืดมีคุณค่าทางโภชนาการดีกว่านมที่มีการปรุงแต่งด้วยน้ำตาลและกลิ่น เนื่องจากมีแคลเซียมในปริมาณมาก ช่วยสร้างกระดูกที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กด้านความสูง 

เด็กวัยเรียนควรดื่มนมวันละประมาณ2 - 3แก้ว และในวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุเป็นวัยที่ต้องการสารอาหารเพิ่ม เพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและชะลอการสูญเสียมวลกระดูก ป้องกัน โรคกระดูกพรุน แนะนำให้ดื่มนมจืดวันละ1 - 2แก้ว ส่วนผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ อาทิ ภาวะอ้วน ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ควรดื่มนมชนิดพร่องมันเนย หรือขาดมันเนยเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะไขมันเกิน วันละ1 - 2แก้ว