'Welse' แชมป์อิมเมจิ้นคัพ ดึง ‘ไอโอที’ ผุดเครื่องมือตรวจเลือด

'Welse' แชมป์อิมเมจิ้นคัพ ดึง ‘ไอโอที’ ผุดเครื่องมือตรวจเลือด

แผนต่อไปจะเชื่อมข้อมูลการเต้นของหัวใจ วัดไขมันในเลือด และที่กำลังพัฒนา คือ การวัดเอนไซม์ในเลือดเพื่อวัดความผิดปกติตับ

ได้ผู้ชนะมาเรียบร้อยแล้วสำหรับ “อิมเมจิ้น คัพ ไทยแลนด์ 2017” หนึ่งในงานประกวดผลงานทางเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับนักศึกษา จัดโดยยักษ์ซอฟต์แวร์ “ไมโครซอฟท์”

โดยปี 2560 นี้ ทีม “Welse” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผลงานเครื่องมือ 'ไอโอที' แบบพกพาสำหรับทดสอบเชิงคลินิกของเลือด จากนั้นส่งไปยังแอพพลิเคชั่นเพื่อวิเคราะห์ผล คว้าชัยมาครอง

“คเณศ เขมิกานิธิ” ตัวแทนทีมเล่าว่า วัตถุประสงค์ที่สำคัญหวังเข้าไปช่วยยกระดับการสื่อสารและอำนวยความสะดวกการทำงานให้เครือข่ายอาสาสมัครและสถานีอนามัยท้องถิ่น

“เราต้องการนำดิจิทัลไปช่วยให้การให้บริการทางแพทย์ดีขึ้น อีกทางหนึ่งปัจจุบันมีอุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกอยู่จำนวนมาก ทว่าการเข้าถึงข้อมูลยังต้องแยกกันอยู่ ดังนั้นจะดีกว่าไหมหากสามารถรวมไว้ในที่เดียว”

ผลงานดังกล่าวเป็นเว็บแอพพลิเคชั่นที่รวบรวมข้อมูลทางการแพทย์ซึ่งได้จากหลายอุปกรณ์ ขณะนี้นำไปเชื่อมต่อกับอุปกรณ์จากผู้ผลิตภายนอกสามารถวัดระดับน้ำตาลในเลือดได้แล้ว

ในแผนต่อไปจะเชื่อมข้อมูลการเต้นของหัวใจ วัดไขมันในเลือด และหลักๆ ที่ทางทีมกำลังพัฒนากันอยู่คือการวัดเอนไซม์ในเลือดเพื่อวัดความผิดปกติของตับ คาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงปลายปีนี้ ด้วยเทคนิคที่ใช้ในอนาคตยังสามารถต่อยอดไปได้อีกมาก

ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจน ลดทั้งจำนวนเลือดที่ใช้ตรวจ ลดเวลาโดยใช้เพียง 6 วินาที จากปกติในห้องปฏิบัติการใช้ 2 ชั่วโมง อีกทางหนึ่งต้นทุนการตรวจแต่ละครั้งไม่เกิน 20 บาท จากเดิมค่าตรวจเอนไซม์จะอยู่ที่ราว 150 บาท ขณะที่การลงทุนอุปกรณ์ไอโอทีมีต้นทุนเครื่องละประมาณ 2,000 บาท

ยกระดับการแพทย์

ด้านความยากของการพัฒนา ด้วยเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ฉะนั้นต้องแม่นยำมากที่สุด ระมัดระวังไม่ให้แสงหรือสิ่งรบกวนจากภายนอกเข้าไปได้

ปัจจุบัน อุปกรณ์มีความคาดเคลื่อนเพียง 0.165% ตามมาตรฐานแล้ว ที่เหลือคือรอให้พัฒนาเสร็จและนำไปทดลองใช้เพื่อทดสอบความแม่นยำ แต่ทั้งนี้เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูง ที่คาดหวังไว้มากกว่า 90% โดยภาพรวมเว็บแพลตฟอร์มสมบูรณ์ไป 80% อุปกรณ์ 50%

คเณศ เชื่อว่า จะสามารถช่วยให้การแพทย์เข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะช่วยลดเวลาซึ่งทางการแพทย์เพิ่มโอกาศให้การรักษาทำได้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น

หลังจากปลายปีที่พัฒนาเสร็จเตรียมจัดทำโครงการต้นแบบกับหน่วยงานทางการแพทย์ระดับอำเภอ 3 แห่ง ขณะนี้เริ่มเข้าไปพูดคุยกันแล้ว

ด้านโมเดลธุรกิจ เป็นไปได้ที่จะนำไปขายให้กับองค์กรด้านสาธารณสุข ควบคู่ไปกับการสร้างฐานผู้ใช้ การตลาด ด้วยราคาต้นทุนที่ไม่ได้สูงมาก เป็นไปได้ที่จะขยายในรูปแบบค้าปลีก หรือขายตามร้านขายยาสำหรับผู้บริโภคทั่วไปได้ด้วย

ทีม “Welse” จะได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเป็นตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันอิมเมจิ้นคัพ ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ประเทศฟิลิปินส์ ในวันที่ 24 เม.ย. 2560 โดยจะร่วมแข่งขันกับทีมจากประเทศอื่นๆ อีก 9 ประเทศ เพื่อชิงตำแหน่งตัวแทนของภูมิภาคไปแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ ณ เมืองซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนก.ค. 2560 เงินรางวัลมูลค่า 100,000 ดอลลาร์

ประโยชน์วงกว้าง

“ศิริพร พัชรวัฒน์” ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะ หลักๆ พิจารณาถึงความพร้อม แนวคิด และการนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ การตอบคำถาม รวมถึงการนำเสนอผลงาน

สำหรับทีมดังกล่าวซึ่งเป็นเชิงการแพทย์เชื่อว่า จะมีประโยชน์สามารถส่งผลกระทบกับคนได้จำนวนมาก โดยภาพรวมการแข่งขันปีนี้ไม่ได้แบ่งกลุ่มที่ชัดเจน ดังนั้นจะไม่ได้ไปจำกัดความคิดเป็น ทั้งเปิดกว้างให้ทุกทีมที่มีความสามารถ

อย่างไรก็ตาม เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ประเทศไทยจำเป็นเร่งเสริมสร้างทักษะทางเทคโนโลยีและการคิด วิเคราะห์อย่างมีเหตุมีผลให้กับแรงงาน พร้อมจุดประกายเยาวชนให้สามารถสร้างทักษะใหม่ๆ

“เรากำลังเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือยุคที่การปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลทำให้เส้นแบ่งแยกระหว่างโลกทางกายภาพ ชีวีภาพ และดิจิทัลแทบจะมองไม่เห็น”

เร่งหนุนสเต็ม

ข้อมูลโดยลิงก์อินระบุว่า พบว่า อาชีพซึ่งติดอันดับดีที่สุดด้านความก้าวหน้าในอาชีพและเงินเดือนปี 2560 20 อันดับแรกเป็นอาชีพที่ล้วนต้องใช้ทักษะทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ นอกจากนี้ เวิล์ด อีโคโนมิค ฟอร์รั่ม ชี้ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า อาชีพในสาขาสเต็ม ที่ประกอบด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ จะเป็นอาชีพที่มีการเติบโตเร็วที่สุด

ผลสำรวจล่าสุดของไมโครซอฟท์ เผยว่า 89% ของผู้นำภาคธุรกิจไทย เห็นว่า ทุกองค์กรจำเป็นต้องปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลเพื่อผลักดันให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ แต่ในขณะเดียวกัน กลับมีองค์กรเพียง 29% ที่มีกลยุทธ์ด้านดิจิทัลเต็มรูปแบบเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ เนื่องจากทุกอุตสาหกรรมกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ 

 การศึกษาครั้งนี้ ยังพบว่า องค์กรในประเทศไทยเริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง โดยเน้นการแลกเปลี่ยนความรู้และการทำงานร่วมกันในโลกดิจิทัล เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

สำหรับเทคโนโลยีที่น่าจะตามอง คือ ไอไอ อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ วีอาร์และเออาร์ ตามลำดับ

“ทักษะทางเทคโนโลยีเป็นคุณสมบัติสำคัญสำหรับยุคการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล ดังนั้นการเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นให้กับนักเรียน นักศึกษา เพื่อการแข่งขันในตลาดแรงงานในอนาคตจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เรื่องนี้ต้องร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชน” ศิริพร แสดงความเห็น