ไปให้ไกลกว่าดราม่า ‘ไฟป่า-หมอกควัน’

ไปให้ไกลกว่าดราม่า ‘ไฟป่า-หมอกควัน’

แทบจะกลายเป็นเทศกาลประจำปีที่มาพร้อมกับความร้อนแล้งไปแล้ว สำหรับปัญหาหมอกควันไฟป่าในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ


แต่ละปีนอกจากมาตรการห้ามเผา (zero burning) แคมเปญเรียกร้องต่างๆ รวมถึงการสร้างจำเลยหน้าใหม่และตอกย้ำความเชื่อเดิมๆ ดูเหมือนวิกฤตินี้แทบจะไม่มีอะไรที่ส่อเค้าในเชิงบวก


ก่อนที่ประเด็นหมอกควันไฟป่าจะค่อยๆ จางหายไปพร้อมกับการเปลี่ยนผันของฤดูกาลและสภาพอากาศ บุญตา สืบประดิษฐ์ ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคเหนือ หนึ่งในกลุ่มคนที่ทำงานติดตามปัญหานี้มานานกว่า 10 ปี ชวนมองมุมต่าง คิดให้รอบด้านว่าภายใต้ความอึมครึมของหมอกควันมีอะไรที่ควรทำความเข้าใจให้กระจ่างชัดบ้าง

หมอกควันไม่ใช่แค่ไฟป่า


เวลาคนมองปัญหาหมอกควันก็จะมองแค่เรื่องไฟป่าแต่ไม่เชื่อมโยงไปอย่างอื่น ทั้งที่ในพื้นที่ป่ามันมีเรื่องการจัดการป่า มีเรื่องการใช้ที่ดิน มีเรื่องเกษตร ปีที่แล้วคนพูดเรื่องไร่ข้าวโพดเยอะ แต่ถ้าแก้ไขปัญหาแค่ประเด็นเดียว สุดท้ายก็จะย้อนมาเป็นปัญหาอื่นอีกอยู่ดี เพราะฉะนั้นเวลามองเรื่องไฟป่าหมอกควันต้องมองถึงการจัดการทรัพยากรทั้งระบบ อย่างเช่นเรื่องข้าวโพด ซังข้าวโพดเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของไฟป่าก็จริง แต่ข้าวโพดมันเกี่ยวกับการขยายตัวของการใช้ที่ดินโดยเฉพาะบนภูเขา


ทีนี้ทำไมคนถึงเลือกข้าวโพด เพราะข้าวโพดเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีตลาดรองรับมีการรับประกันราคา ที่สำคัญคือไม่ต้องใช้น้ำ ซึ่งบนดอยพื้นที่ส่วนใหญ่มันไม่มีน้ำ ถ้าจะให้มีน้ำต้องมีสิทธิในที่ดิน ถึงจะทำเรื่องขอใช้น้ำได้ ทีนี้เกษตรกรไม่มีทางเลือก ขณะที่นโยบายก็ส่งเสริมพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวอยู่ตลอด มันก็เป็นเหมือนวงจร คนในเมืองก็จะโทษว่าชาวบ้านเผาป่าปลูกข้าวโพด ทำไมถึงไม่เลิกปลูก ชาวบ้านที่ปลูกข้าวโพดก็จะถามว่า ถ้าให้เลิกปลูกข้าวโพดแล้วจะให้ทำอะไร มันก็ไม่จบ


เพราะฉะนั้นถ้าคุณบอกว่าต้องการอากาศที่ดี ไม่ใช่แค่เลิกปลูกข้าวโพดสิ แต่จะเลิกปลูกข้าวโพดได้อย่างไร ต้องมองลึกมากกว่านั้น ที่สำคัญก็คือว่าถ้ามองทั้งระบบมันไม่ใช่เรื่องไฟป่าอย่างเดียว แต่ต้องมองเรื่องสมดุลของทรัพยากรด้วย เราอาจต้องมาคิดกันว่าจะไปข้างหน้าอย่างไรให้มันตอบโจทย์ ทั้งคนเมืองมีอากาศบริสุทธิ์หายใจ ทั้งคนที่อยู่ใกล้ป่ามีปัจจัยในการดำรงชีพที่ตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจได้เท่าเทียมกับคนอื่นๆ ไม่ใช่คนที่อยู่บ้านนอกต้องมีรายได้น้อยกว่า เข้าถึงการพัฒนาได้น้อยกว่า มันต้องเป็นธรรมทั้งคนเมืองและคนที่อยู่ในป่า


ทีนี้เวลามองไฟป่าอยากให้มองทั้งการจัดการป่า การเข้าถึงสิทธิในการจัดการทรัพยากร เข้าถึงสิทธิในการใช้ที่ดิน แล้วก็เข้าถึงสิทธิในระบบน้ำ ระบบไฟ ระบบถนน ซึ่งการเข้าถึงสิทธิเหล่านี้มันจะทำให้เป็นแรงจูงใจในการปรับระบบการผลิต ซึ่งวันหนึ่งพื้นที่ข้าวโพดที่รกร้างที่คนเมืองมอง หรือการขยายบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ป่า มันก็อาจจะหายไป เราอาจจะได้พื้นที่ป่ากลับมา


การจัดการไฟต้องเท่าทัน


คนเมืองอาจจะเข้าใจว่าไฟมันทำลายป่า ถ้าไม่ให้ไฟเกิดขึ้นสักวันป่าคงจะกลายเป็นป่าดงดิบไปหมด มีต้นไม้ต้นใหญ่ มีสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์ แต่นิเวศป่ามันไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่ป่าดงดิบทั้งหมด มันมีทุ่งหญ้า มีป่าเต็ง ซึ่งวิธีในการจัดการต้องสอดคล้องกับภูมินิเวศ เช่น ถ้าเป็นป่าเต็ง เรื่องการจัดการเชื้อเพลิงแบบที่เรียกว่า “ชิงเผา” ก็เป็นรูปแบบที่มีการศึกษากันมาพอสมควร ซึ่งการจัดการเชื้อเพลิงแบบนี้ค่อนข้างได้รับการยอมรับในเชียงใหม่ แต่ก็แค่จังหวัดเดียว จังหวัดอื่นคิดว่าชุดความรู้พวกนี้ยังไปไม่ถึง


บางพื้นที่แม้ว่าจะมีจิตอาสาที่มีความตั้้งใจดี เป็นคนในเมืองที่รู้สึกว่าต้องลงมือปฏิบัติมากกว่าเรียกร้อง เวลาเกิดไฟเขาจะวิ่งไปดับเลย มีการสื่อสารกันในทีม เหมือนหน่วยยามเฝ้าไฟ แต่สภาพป่าตรงนั้นต้องเข้าใจว่ามันเป็นป่าเต็ง ชาวบ้านในพื้นที่จะรู้ดีว่ายังไงมันก็ไหม้ แต่พอพูดเรื่องวิธีจัดการอย่างอื่น อย่างการจัดการเชื้อเพลิง ถึงแม้ในเชียงใหม่จะได้ผล แต่หลายๆ ที่ก็ยังมองว่าต้องไม่ให้เกิดไฟ ไม่ได้มองว่าระบบนิเวศแบบนี้มันควรใช้ไฟแบบไหน หรือลักษณะการจัดการเชื้อเพลิงให้ได้ผลควรจะเป็นอย่างไร


เพราะฉะนั้นการจัดการบนพื้นฐานความรู้มันยังน้อย แม้กระทั่งเชียงใหม่เองที่ใช้การจัดการเชื้อเพลิงเกือบทั้งจังหวัด แต่ถ้าไม่มีความรู้กำกับไปจัดการก็เหมือนกับเผาเป็นผืนไปเลย ในอนาคตการจัดการเชื้อเพลิงก็อาจจะมีปัญหา ประเด็นสำคัญก็คือต้องทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าการจัดการเชื้อเพลิงไม่ใช่แค่ลดไฟป่า แต่ทำอย่างไรให้มีความสมดุลของระบบนิเวศ


มากกว่าเรียกร้องคือ ‘ร่วมมือ’


คำตอบที่มองเห็นอยู่ไกลๆ ของการแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่า คือต้องเสริมความสามารถในการจัดการทรัพยากรให้กับชุมชน อันนี้คือหัวใจสำคัญที่สุด อย่างในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีสถานีควบคุมไฟป่าตั้งอยู่ เจ้าหน้าที่ 1 คนต้องดูแลป่าประมาณ 7,000 ไร่ คิดยังไงมันก็ไม่สามารถจัดการได้ เพราะฉะนั้นต้องให้คนในชุมชนนี่แหละลุกขึ้นมาเป็นเจ้าภาพในการบริหารจัดการ ทีนี้เงื่อนไขที่จะทำให้คนชุมชนมีขีดความสามารถ เราก็ไม่สามารถบอกได้ว่าชุมชนจะเติบโตและเข้มแข็งได้ด้วยตนเอง ชุมชนมีทั้งข้อจำกัดและศักยภาพในเวลาเดียวกัน


ศักยภาพก็คือหลายชุมชนมีชุดความรู้ในการบริหารจัดการ มีกลไกลในการจัดการ มีผู้นำที่มีจิตอาสา มีคนในชุมชนที่มีส่วนร่วม อย่างกรณีการจัดการไฟป่าพบว่าในพื้นที่หลายหมู่บ้านช่วงที่มีปัญหาไฟป่า หมู่บ้านนึงบางทีไปดับไฟป่ากัน 10-20 กว่าครั้ง ครั้งนึงประมาณ 30-40 คน ซึ่งหลายที่ก็มีคนตายมีคนเจ็บ บางคนเป็นผู้นำครอบครัว พอพิการปุ๊บก็ไม่สามารถทำมาหากินได้ ซึ่งข้อจำกัดคือ พอจัดการแล้วมันไม่มีอะไรช่วยสนับสนุน งบประมาณลงไปไม่ถึง สวัสดิการก็ไม่มี บางพื้นที่อาจจะได้จากท้องถิ่นสัก 15,000 บาท บางหมู่บ้านก็ไม่มีเลย แล้วข้อจำกัดข้อที่สองก็คือ บางหมู่บ้านเราพบว่าผู้นำควบคุมกันไม่ได้ มันไม่ใช่เรื่องโรแมนติกว่าชาวบ้านจัดการได้ทั้งหมด ด้วยสภาพเงื่อนไขทางสังคมเศรษฐกิจที่มันเปลี่ยนไป บางหมู่บ้านก็เอากันไม่อยู่ บางหมู่บ้านก็บังคับใช้กฎระเบียบไม่ได้ เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องมีระบบในการสนับสนุน


ส่วนแรกคือ ระบบที่เข้าไปเสริมอำนาจในการจัดการของชาวบ้าน อาจจะเป็นระบบที่มีการจัดการร่วมกับรัฐ อย่างน้อยถ้าใช้ระเบียบของชุมชนไม่ได้ ก็ส่งต่อมาใช้กฎกติกาของรัฐ สองคือระบบการสนับสนุนอย่างอื่น เช่น ถ้าเราพูดถึงการจัดการป่า คนในเมืองเป็นปลายน้ำ คุณสูดลมหายใจสูดอากาศบริสุทธิ์จากพื้นที่ป่า คุณได้น้ำที่ไหลจากน้ำปิงไปจนถึงกรุงเทพ คุณได้ผลประโยชน์เรื่องการท่องเที่ยว อันนี้เป็นปัจจัยที่แต่ก่อนคนในเมืองมักจะเรียกร้องว่า เอาพื้นที่ป่าเป็นของรัฐ ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ไปทำลายป่า แต่ว่าปัจจุบันถ้ามองอย่างนี้มันก็ไม่จบ คุณเป็นคนปลายน้ำ คุณจะมีส่วนในการจัดการทรัพยากรอย่างไร เพราะว่าคุณมีส่วนในผลประโยชน์ทางอ้อม แต่คุณไม่เคยคิด เดี๋ยวนี้มันก็สะท้อนออกมาในหลายๆ เรื่อง เราต้องมาคิดกันให้ชัดขึ้น ไม่ได้คิดแต่หัวๆ แล้วไม่รู้ว่าตัวเองจะทำอะไร


ถ้าคุณบอกว่าไม่อยากให้เกิดไฟป่าแล้วนั่งพูดเพื่อเรียกร้องลมหายใจบริสุทธิ์ แต่ตัวเองไม่มีช่องในการที่จะไปจัดการอะไรตรงนี้ ทางตรงก็อาจเป็นการสนับสนุนชุมชนที่จัดการไฟป่า เขาเกิดปัญหา ตาย ตกเขาพิการอะไรขึ้นมามีกองทุนที่จะไปช่วยเหลือ เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านในการดูแลป่า อีกทางหนึ่งก็ต้องเข้าใจเชิงระบบ ช่วยขับเคลื่อนให้มันเปลี่ยนแปลง ซึ่งหมายถึงเรื่องมาตรการเชิงนโยบาย ไม่ใช่คุณบริจาค 100 บาท ถือว่าได้ช่วยแก้ปัญหาแล้ว มันไม่พอ


คุณต้องมาเป็นกระบอกเสียง หรือทำความเข้าใจปัญหาภาพใหญ่ และพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหามากกว่าเรียกร้อง ซึ่งปัจจุบันคิดว่ามีไม่น้อยนะ แต่มากกว่านั้นคุณต้องรู้ว่าจะทำอะไร จุดไหน อย่างไร