เพิ่มสิทธิ 'ประกันสังคม' แรงงานนอกระบบ

เพิ่มสิทธิ 'ประกันสังคม' แรงงานนอกระบบ

ครม.ไฟเขียวร่างกฎหมายลูกพรบ.ประกันสังคม 3 ฉบับ เพิ่มสิทธิประโยชน์แรงงานนอกระบบตามมาตรา 40 เพิ่มเงินชดเชยกรณีเจ็บป่วย เงินสงเคราะห์

รัฐบาลเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบ หวังดึงเข้าระบบเพิ่มขึ้นจากเดิมมีเพียง 10% คาดว่าอีก 2 เดือนมีผลบังคับใช้และเปิดให้แรงงานยื่นสมัครได้ทั่วประเทศ

การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วานนี้ (25 เม.ย.) เห็นชอบร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 เพื่อให้กฎหมายประกันสังคมมีความสมบูรณ์มากขึ้น โดยเพิ่มคุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครและสิทธิประโยชน์ของแรงงานที่เข้าระบบประกันสังคม

พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่ากฎหมายระดับรองจำนวน 3 ฉบับที่ ครม.ให้ความเห็นชอบประกอบไปด้วย ร่างพระราชกฤษฎีกา (พรฎ.)กำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งอาจสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน พ.ศ.... ร่าง พรฎ.กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทนตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทน พ.ศ... และ 3.ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน พ.ศ ...

ร่างกฎหมาย 3 ฉบับมีสาระสำคัญโดยได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ทีสิทธิสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 การเพิ่มและขยายสิทธิประโยชน์รวมถึงเพิ่มทางเลือกใหม่ คือเป็นทางเลือกที่ 3 ในการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมตามมาตรา 40 คือ ผู้ประกันตนจ่าย 300 บาท รัฐจ่ายสมทบ 150 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 450 บาทต่อเดือน จะได้ได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 5 กรณีเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ เงินบำเหน็จชราภาพ (เงินออมกรณีชราภาพ) และเงินสงเคราะห์บุตร

ในส่วนของเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วยต้องนอนโรงพยาบาลจะได้รับวันละ 300 บาท ไม่เกิน 90 วันต่อปี ถ้าไม่นอนโรงพยาบาลแต่แพทย์สั่งให้หยุดงาน 3 วัน ได้รับเงินชดเชยวันละ 200 บาท ไม่เกิน 90 วันต่อปี

ขณะที่เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ จะได้รับเงิน 500-1,000 บาทต่อเดือน ไปตลอดชีวิต และเงินค่าทำศพจะได้รับ 40,000 บาท

ส่วนเงินบำเหน็จชราภาพ นอกจากได้รับตามเงื่อนไขเดิมแล้ว หากจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน จะได้รับเงินเพิ่มจากปกติอีก 10,000 บาท ส่วนเงินสงเคราะห์บุตรจะได้รับคนละ 200 บาทต่อเดือน คราวละไม่เกิน 2 คน ได้รับสิทธิตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี

ปรับสิทธิประโยชน์ม.40

นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติเห็นชอบปรับสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งได้แก่ผู้ประกันตนโดยอิสระ เป็นคนทำงานที่ไม่มีนายจ้าง ทำงานที่บ้าน หาบเร่แผงลอย วินมอเตอร์ไซค์ ทั้งในส่วนทางเลือกที่ 1 และ 2 ดังนี้คือ

ทางเลือกที่ 1 ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 70 บาท รัฐจ่ายสมทบ 30 บาท รวมเป็นจ่ายสมทบ 100 บาท ซึ่งรับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 3 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ เงินค่าทำศพซึ่งในส่วนของเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วยเดิมเมื่อนอนโรงพยาบาลจะได้รับวันละ 200 บาทไม่เกิน 30 วันต่อปี เพิ่มให้เป็น 300 บาท ไม่เกิน 30 วันต่อปี ถ้าไม่นอนโรงพยาบาลแต่แพทย์สั่งให้หยุดงาน 3 วัน ได้รับเงินชดเชยวันละ 200 บาท ไม่เกิน 30 วันต่อปี และกรณีไปพบแพทย์จะได้ครั้งละ50บาท ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี

ส่วนเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ ยังให้สิทธิคงเดิมคือจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้จำนวน 500-1,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลานาน 15 ปี เงื่อนไข โดยต้องเป็นผู้ทุพพลภาพหรือทุพพลภาพเพิ่มขึ้นตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการ แพทย์ และกรณีเงินค่าทำศพเดิมได้รับ 20,000 บาท สิทธิประโยชน์ใหม่นอกจากได้รับเงินทำศพ 20,000 บาทแล้วยังได้รับเงินสงเคราะห์เพิ่มอีก 3,000 บาท

ส่วนทางเลือกที่2 ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 100 บาท รัฐจ่ายสมทบ 50 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 150 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 4 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ เงินบำเหน็จชราภาพ (เงินออมกรณีชราภาพ) ซึ่งในส่วนของเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ เงินค่าทำศพจะได้รับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับทางเลือกที่1ส่วนเงินบำเหน็จชราภาพคงได้รับเหมือนเดิม

คาดอีก 2 เดือนมีผลบังคับใช้

ด้านนายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมกล่าวว่า การปรับแก้กฎหมายประกันสังคมใหม่ครั้งนี้คาดว่าจะจะมีผลบังคับใช้ภายในประมาณ 2 เดือน ขั้นตอนต่อไปคือส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแก้ไขในข้อกฎหมาย

สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ข้อมูลปัจจุบัน ณ วันที่ 31 มี.ค.2560 สามารถขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนได้แล้วจำนวน 2,265,809 คน จากจำนวนแรงงานนอกระบบประมาณ 20 ล้านคน ซึ่งหลังการปรับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นครั้งนี้คาดว่าจะจูงใจให้แรงงานนอกระบบสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 มากขึ้นเพราะได้รับสิทธิใกล้เคียงกับผู้ประกันตนในมาตรา 39 หรือผู้ใช้แรงงานที่เคยเป็นผู้ประกันตนแล้วลาออกจากงานและส่งเงินสมทบเพื่อรับความคุ้มครองประกันสังคมต่อ

ในปีแรกของการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์คาดว่าจะมีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านคน ค่าใช้จ่ายภาครัฐอยู่ที่ประมาณ 400 ล้านบาท

ตั้งเป้าแรงงาน21ล้านคนเข้าระบบใน20ปี

ในระยะยาวรัฐบาลต้องการให้แรงงานนอกระบบที่มีหลักประกันสังคมครอบคลุมทั้งหมด 21 ล้านคนเข้าสู่ระบบประกันสังคมภายในระยะเวลา 20 ปี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบให้ได้รับความคุ้มครองทางสังคมเช่นเดียวกับแรงงานในระบบ ขณะที่ค่าใช้จ่ายภาครัฐจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในวิสัยที่รัฐบาลสามารถดูแลได้

"การสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ประชาชนใช้หลักฐานเพียงบัตรประชาชนใบเดียวก็สามารถดำเนินการได้ และการจ่ายเงินสมทบมีความสะดวกเพราะจ่ายได้ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป รวมทั้งที่ทำการไปรษณีย์และในอนาคตจะสามารถจ่ายได้ที่ตู้เติมเงิน ที่จะกระจายไปตามตำบล และหมู่บ้านทั่วประเทศ ทั้งนี้ข้อดีของการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 คือ ไม่ต้องตรวจสุขภาพ และสามารถใช้สิทธิควบคู่ไปกับบัตรทองโดยไม่ตัดสิทธิรักษาพยาบาล แต่จะสมทบเงินในส่วนที่และการขาดส่งเงินสมทบยังเป็นสมาชิกต่อได้" นายสุรเดช กล่าว