กำไรกลุ่มแบงก์โต 'ต่ำคาด'

กำไรกลุ่มแบงก์โต 'ต่ำคาด'

กำไร "แบงก์" โตต่ำคาด เอ็นพีแอลพุ่ง แห่ขายหนี้เสีย

โบรกเกอร์ มองกำไรแบงก์ต่ำคาด ผลจากรายได้แบงก์กลาง-ใหญ่ชะลอตัว ขณะ “เอ็นพีแอล” พุ่งต่อเนื่อง แบงก์ใหญ่ตัดขายหนี้เสียทิ้ง ส่อตั้งสำรองเพิ่ม สวนทาง แบงก์เล็ก ที่ผลดำเนินงานดีเกินคาด

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคจีไอ ออกบทวิเคราะห์โดยระบุว่า กำไรสุทธิรวมของธนาคารพาณิชย์ 9 แห่ง เพิ่มขึ้น 9.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 1.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าประมาณการของทางบริษัท 1% และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประมาณการของนักวิเคราะห์ (consensus) 2.2%

ผลดำเนินงานที่ต่ำกว่าคาดเล็กน้อยนี้ สาเหตุสำคัญมาจากการที่กำไรของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกรุงเทพ ต่ำกว่า consensus ถึง 6% ในขณะที่กำไรของสามธนาคารเล็ก ได้แก่ ธนาคารเกียรตินาคิน ธนาคารธนชาต และ ธนาคารทิสโก้ ออกมาดีเกินคาดมาก

บล.เคจีไอ ระบุว่า ธนาคารขนาดกลางและใหญ่มีแนวโน้มที่รายได้ชะลอตัวลงจากทั้ง รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิ (NII) และ ผลตอบแทนที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยรับสุทธิจะลดลงเล็กน้อย เนื่องจากธนาคารส่วนใหญ่เพิ่มสัดส่วนสินเชื่อที่มีผลตอบแทนต่ำเข้ามาในพอร์ตของแต่ละธนาคาร ซึ่งฉุดให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยรับสุทธิ (NIM) ลดลงประมาณ 0.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หรือลดลง 0.2% จากระดับสูงสุดเมื่อไตรมาส 2 ปี 2559 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธนาคารกสิกรไทย

ทั้งนี้ รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยรับ ลดลงประมาณ 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากค่าธรรมเนียม รายได้ช่องทางการขายผ่านธนาคารพาณิชย์ (bancassurance) และรายได้จากการปริวรรตเงินตราที่ลดลงอย่างมาก

สำหรับหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นอย่างมาก  ถึงแม้ว่ามูลค่าเอ็นพีแอลจะทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่จริงๆ แล้วเป็นเพราะมีการตัดขายหนี้เสียก้อนใหญ่ โดยธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และ ธนาคารทหารไทย หากไม่รวมผลของการตัดขายหนี้เอ็นพีแอลรวม น่าจะเร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 10% และ 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงไทย และธนาคารทหารไทย เปิดแผนว่า แนวโน้ม NPL เกิดใหม่ส่วนใหญ่ในไตรมาส 1 ปี 2560 มาจากสินเชื่อที่ผ่านการปรับโครงสร้างแล้วแต่ยังไม่สามารถชำระหนี้ตามเงื่อนไขใหม่ได้ และกลายมาเป็น NPL ในไตรมาสนี้ และเพื่อรักษาแนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์เอาไว้ ธนาคารส่วนใหญ่จึงกลับมากำหนด credit cost เพิ่มขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทย และธนาคารไทยพาณิชย์

ธนาคารขนาดเล็ก โดยเฉพาะธนาคารทิสโก้ มีผลประกอบการดีกว่าธนาคารใหญ่อย่างมากธนาคารขนาดเล็กทั้งสามแห่ง มีผลกำไรแข็งแกร่งเนื่องจาก NPL ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องทำให้สามารถลด credit cost ลงได้ โดย credit cost ของทั้ง ธนาคารเกียรตินาคิน และ ธนาคารธนชาต ได้ลดลงมาอยู่ในระดับปกติแล้ว

ด้าน บล.โกลเบล็ก ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 11 แห่ง รายงานกำไรไตรมาสแรกปี 2559 รวมที่ 5.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และ 5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยธนาคารที่เน้นสินเชื่อเช่าซื้อ ได้แก่ ธนาคารเกียรตินาคิน ธนาคารธนชาต และ ธนาคารทิสโก้ มีอัตราการเติบโตของกำไรสูงกว่าธนาคารขนาดกลางและใหญ่

ธนาคารเกียรตินาคิน รายงานอัตราการเติบโตสูงสุดในกลุ่มที่ 38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังมีการตั้งสำรองหนี้สูญลดลงอย่างมาก

สำหรับกลุ่มแบงก์ทั่วไป หุ้นที่มีอัตราการเติบโตสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ มีอัตราการเติบโตของกำไรในไตรมาสแรกปี 2560 สูงสุดที่ 17% รองลงมา ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย กำไรเพิ่ม 13% และ ธนาคารกรุงศรี กำไรเพิ่ม 11%

ส่วนคุณภาพสินทรัพย์ยังอ่อนแอจาก NPL ที่ยังเพิ่มขึ้นกดดันตั้งสำรองฯเพิ่ม โดยคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารที่เน้นสินเชื่อเช่าซื้อปรับดีขึ้นมากจาก NPL ได้ผ่านช่วงสูงสุดไปแล้ว และทยอยปรับดีขึ้นต่อเนื่องทุกไตรมาส

สำหรับแบงก์ทั่วไปยังมี NPL เพิ่มขึ้นจากกลุ่มลูกค้าขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีโอกาสเป็น NPL สูงในกลุ่มลูกค้าที่มีขนาดเล็ก และจากลูกค้ารายย่อยแม้อัตราการเกิดไม่ได้เร่งตัวขึ้นมากแต่ยังมีภาระหนี้ครัวเรือนสะสมในระดับสูงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ทำให้ยังเห็นภาพของการตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นเพื่อรักษาระดับ Coverage Ratio

เห็นได้จากธนาคารกรุงไทยที่มี NPL เพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี จึงมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นมากเพื่อรักษาระดับ Coverage Ratio ให้อยู่ในระดับสูงแม้จะไม่สูงมากเท่ากับในอดีตกดดันให้ผลประกอบการ

ส่วนธนาคารกรุงไทยมี NPL เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงต้นปี แต่ยังตั้งสำรองไม่มากนักและมี Coverage Ratio ลดลงแตะระดับต่ำที่สุดในกลุ่ม ทำให้ Consensus คาดว่า ธนาคารกรุงไทยอาจมีการตั้งสำรองฯเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือ ซึ่งภาระในการตั้งสำรองฯของแต่ละธนาคารทำให้ฝ่ายวิจัยคาดว่าจะเป็นแรงกดดันผลการดำเนินในช่วงที่เหลือของปีนี้

สำหรับการเติบโตของสินเชื่อ ณ ปลายไตรมาสแรกของแต่ละธนาคารยังแผ่ว ในกลุ่มธนาคารที่เน้นสินเชื่อเช่าซื้อมีเพียง ธนาคารเกียรตินาคิน ที่มีอัตราการเติบโตของสินเชื่อสูงสุด 1.3% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี ขณะที่ ธนาคารธนชาต และ ธนาคารทิสโก้ ยังมีสินเชื่อหดตัว 1.27% และ 2% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปีตามลำดับ จากผลกระทบของตลาดรถยนต์และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ยังไม่ฟื้นตัว