จี้ 'รมว.ศึกษา' ยกเลิกนโยบายยืมเรียน เป็นแจกฟรีทุกคน

จี้ 'รมว.ศึกษา' ยกเลิกนโยบายยืมเรียน เป็นแจกฟรีทุกคน

"มงคลกิตติ์" จี้ "นพ.ธีระเกียรติ" ยกเลิกนโยบายยืมเรียน กลับเป็น แจกฟรีนักเรียนทุกคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันพุธ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2560 ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ(ภตช) นำโดย นายมงคลกิตติ์  สุขสินธารานนท์ เลขาธิการคณะกรรมการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ มอบให้นายอนุรักษ์ อมรเมตตาจิตต์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ เดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ เนื่องด้วย ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ(ภตช) ได้รับเรื่องร้องเรียน จาก ผู้บริหารสถานศึกษา เครือข่ายผู้ปกครองนักเรียน นักเรียน อีกทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ที่เห็นแย้งว่าการเปลี่ยนนโยบาย หนังสือเรียนฟรี เป็นให้ยืมเรียนดังกล่าว เป็นการอาจจะกระทำขัดต่อกฎหมาย ขัดเจตนารมณ์ ตาม พรบ.งบประมาณแผ่นดิน ปี พ.ศ.2560(1 ตุลาคม 2559- 30 กันยายน 2560) หมวด ค่าหนังสือเรียน ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ  ตามโครงการเรียนฟรี 15 ปี

ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ขอรัฐสภาอนุมัติ และตราเป็นกฎหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น ในรายละเอียดการอนุมัติดังกล่าว เป็นการแจกหนังสือเรียนให้ครบทุกคนตามรายหัวนักเรียนทั้งหมด มิได้มีคำว่า หนังสือที่แจกไปแล้วมาขอคืนในภายหลังจบปีการศึกษา หรือเรียกว่า ยืมหนังสือเรียน   ซึ่งก็เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช) จึงออกคำสั่ง คสช ที่ 28/2559 เรื่อง ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2559 ข้อ 3 ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานดำเนินการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ให้มีมาตรฐานและคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย(ฟรี) ค่าใช้จ่ายตามวรรคสอง (2) ค่าหนังสือเรียน จะสังเกตได้ว่าใน คำสั่ง คสช มิได้กำหนดให้นักเรียนเมื่อได้รับหนังสือเรียนไปแล้วต้องคืนเมื่อสิ้นปีการศึกษาหรือสอบเสร็จ (ยืมหนังสือเรียน) 

ตัวอย่าง หน่วยงานที่ดำเนินการเรื่องยืมหนังสือเรียนสำเร็จมากว่า 50 ปี คือ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวมีนักเรียนในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา 500-3,000 คน/ปี และนักเรียนมีวินัยมาก ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่า  นักเรียนสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มีกว่า 15 ล้านคน หรือ จำนวน 4,500 เท่า อีกอย่าง หนังสือที่ใช้ในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ เป็นหนังสือคุณภาพดีมาก ราคาสูง แข็งแรง ซึ่งแตกต่างจากหนังของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่นำมาแจกในโครงการเรียนฟรี 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่ง มีราคาถูกมาก คุณภาพเกรด C ไม่ทนทานมาก กระดาษจะชำรุดตามการใช้งาน จึงไม่สามารถมาใช้งานได้นานหลายมือ

โดยข้อเสียของการยืมหนังสือเรียน 1.เกิดความเหลื่อมล้ำและแบ่งชนชั้นในสถานศึกษา ว่านักเรียนบางคนได้หนังสือใหม่ นักเรียนบางคนได้หนังสือเก่า ซึ่งเกิดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างตัวนักเรียน ซึ่งจะเกิดเป็นความกดดันไปยังผู้ปกครองส่วนใหญ่ที่หาเช้ากินค่ำ ฐานะไม่ดี ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศกว่า 30 ล้านคน 

2.หนังสือเก่า คุณภาพดีไม่มาก ชำรุดง่าย เป็นแหล่งเก็บเชื้อโรค เชื้อรา ที่ติดมาตามหนังสือ ซึ่งผู้ใช้ถัดไปไม่สามารถรู้ได้ว่าจะติดเชื้อโรคหรือไม่ 

3.ผู้บริหาร ครู จะต้องเสียเวลาทำการสอนนักเรียนไปในการจัดทำทะเบียนหนังสือเก่า นักเรียนที่คืนหนังสือ และ นักเรียนที่ไม่คืนหนังสือ อีกทั้งนักเรียนที่คืนกับไม่คืน จะต้องกำหนดบทลงโทษหรือไม่อย่างไร 

4.โรงเรียนจะต้องมีภาระสร้างโกดังเก็บหนังสือเก่า หนังสือจะกลายเป็นครุภัณฑ์ ซึ่ง ถ้าโรงเรียนหนึ่งมีนักเรียนต่อปีการศึกษา 3,000 คน คืนหนังสือ 2,400 คน เฉพาะแบบเรียน 8 กลุ่มสาระ รวม 19,200 เล่ม น้ำหนัก 3,840 กิโลกรัม 3.84 ตัน 92.16 ลูกบาศก์เมตร จะใช้โกดังเก็บ คือ 1 ห้องเรียน นั้นหมายถึงหนังสืออัดแน่นมาก จะเสียหาย ถ้าไม่ให้เสียหายจะต้องจัดเก็บแบบมีชั้นเรียงเป็นกลุ่มแยกกัน จะใช้พื้นที่ กว่า 4 ห้องเรียน ในการเก็บหนังสือ พร้อมดำเนินการฆ่าเชื้อเพื่อไม่ให้ผู้ใช้ถัดไปติดโรค ยังไม่รวมงบประมาณในการซ่อมหนังสือเรียน ถ้าใน 1 ปีการศึกษา ทั้งประเทศ  มีการคืนหนังสือ 80 % ของ 15 ช่วงชั้น 15 ระดับ จำนวน 12 ล้านคน 96 ล้านเล่ม ต้องใช้พื้นที่เก็บ 460,800 ลูกบาศก์เมตร เท่ากับโกดังเก็บข้าวเปลือก กว้าง 100 เมตร ยาว 100 เมตร สูง 6 เมตร ประมาณ 8 โกดังขนาดใหญ่แบบอัดแน่น ถ้าแบบหลวมๆ ประมาณ 32 โกดัง ขนาดใหญ่

5.นักเรียนไม่สามารถ จด ทด บันทึก ตามความเข้าใจของตนเองหลังจากเรียนเสร็จได้ เพราะต้องคืนในช่วงสิ้นปีการศึกษาหรือสอบเสร็จ อีกทั้งเมื่อมีการทดสอบความรู้ สอบแข่งขัน ทุกรายการ ซึ่งเนื้อหากินหลายช่วงชั้นปี นักเรียนจะไม่มีหนังสือที่เป็นเนื้อหา พร้อมข้อคอมเม้นท์ของตนเองในการจดบันทึกช่วยจำในลายมือของตนเอง ที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย ถ้าเป็นลายมือผู้อื่นจะอ่านลำบาก 

6.นักเรียนจะไม่มีความภูมิใจในความเป็นเจ้าของความรู้ของตนเองเลย จะต้องนึกถึงจิตใจเด็กเป็นสำคัญ ว่าความรู้สึกเป็นอย่างไร สำหรับข้อดีของการยืมหนังสือเรียน 1.ประหยัดงบประมาณที่มองเห็น แต่จะเสียค่าบริหารจัดการให้กับทางผู้บริหารสถานศึกษา คุณครู  ทำให้ครูเสียเวลาไปทบทวนเนื้อหาเพื่อทำการเรียนการสอนให้ดีขึ้น อีกทั้งถ้าจะต้องคิดค่าเสียเวลา ในการลบเนื้อหาที่คนเก่าเคยจดไปแล้ว มีโอกาสเสี่ยงกับเชื้อโรค นักเรียนเสียกำลังใจที่ต้องเรียนหนังสือเก่า ขาดความกระตือรือร้น ค่าเสียโอกาสของอนาคตชาติ ดูแล้วไม่คุ้ม 2.นักเรียนจะมีวินัยมากขึ้น  ถ้าจะฝึกวินัยนักเรียน 15 ล้านคน ต้องอย่าลืมว่านักเรียนส่วนใหญ่ไม่ใช่นักเรียนเตรียมทหาร ไม่ได้ผ่านการฝึกมาอย่างเข้มงวด ถ้าจะฝึกวินัยนักเรียน 15 ล้านคน ให้มีระเบียบวินัยจนเก็บรักษาหนังสือให้ดีตลอด คงต้องจัดงบประมาณฝึกวินัย อบรม นักเรียนมากกว่าค่าหนังสือที่ประหยัดอีกหลายเท่าตัว

3.เอางบที่เหลือจากการประหยัดไปจัดซื้อสื่อประเภทอื่นเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ถามว่า ถ้าประหยัดไป 2,000 ล้านบาท แล้วเอาไปซื้อสื่อ หรือ อุปกรณ์การศึกษา เนื้องานจริงๆมีแค่ 30% ของงบประมาณที่ประหยัดมา ได้ประมาณ 600 ล้านบาท แล้วนำ 600 ล้านบาท ไปหารเฉลี่ยนักเรียน 15 ล้านคน ตกคนละ 40 บาท มันคุ้มไหมที่นักเรียนต้องเสียความรู้สึก มีอุปสรรคในการหาความรู้ ก็เสียหลายส่วน ครู ผู้บริหารเสียอีกส่วนหนึ่ง เพื่อได้อีกส่วนหนึ่ง มันคุ้มไหม 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำว่า ฟรี ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน ตาม พรบ.ราชบัณฑิตยสภา พ.ศ.  ๒๕๕๘ ฟรี[ฟฺรี] ว. ไม่เสียมูลค่าหรือไม่ได้ค่าตอบแทนใด ๆ(เรียกคืนไม่ได้) เช่น เรียนฟรี ทํางานฟรี ว่างจากงาน เช่น วันนี้ฟรี ดังนั้น ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ(ภตช) จึงเรียนมายัง  นายแพทย์  ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  ผู้สั่งการตามนโยบาย รมว.ศธ.ว่า หนังสือเรียนฟรี ตามโครงการเรียนฟรี 15 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เปลี่ยนเป็น ให้ยืมเรียน  และเป็นผู้ออกคำสั่งทางราชการของท่านไปยัง ส่วนราชการในกำกับ

ดังนั้นจึงขอให้ท่าน ยกเลิกการดำเนินการตามนโยบายและข้อสั่งการของ นายแพทย์  ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศธ จาก แจกหนังสือเรียนในโครงการเรียนฟรี 15 ปี เป็น ให้ยืมเรียน ซึ่งเป็นการอาจจะขัดต่อ คำสั่ง คสช ที่ 28/2559 เรื่อง ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย(ไม่มีคำว่า ยืมเรียน) ข้อ 3 และขัดต่อ พรบ.งบประมาณแผ่นดิน ปี พ.ศ.2560(1 ตุลาคม 2559- 30 กันยายน 2560) เพราะในการอนุมัติงบประมาณแผ่นดิน พ.ศ.2560 หมวด ค่าหนังสือเรียน ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มิได้มีคำว่าหนังสือให้ยืมเรียน  ซึ่งก็จะมีความผิดตาม พรบ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 157 


จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป ก่อนสายเกินไป และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจกับนักเรียนกว่า 15 ล้านคน  ที่จะมีสมบัติชิ้นแรกของชีวิต ก็คือ ความรู้ที่จดใส่แบบเรียน เอาไว้ทบทวน เป็นพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตและเป็นกำลังของชาติต่อไป  รวมทั้งผู้ปกครองกว่า 30 ล้านคน เพื่อความเท่าเทียมกันในสังคมทุกฐานะ ชนชั้น 


อนึ่งหากท่านยังจะดึงดันดำเนินการต่อไปแล้วเกิดความเสียหายในภายหน้า ทางภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ(ภตช)  ก็ขอสงวนสิทธิ์ในการดำเนินคดีทางอาญา และทางแพ่ง ท่านถึงที่สุด ในฐานะผู้ดำลงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้เป็นตัวอย่างคล้ายกับกรณี โครงการทุจริตรับจำนำข้าว ของ รัฐบาลก่อน ที่ ภตช เคยดำเนินคดี  ต่อไป