จี้'ทปอ.' เปิดผลวิจัยปิด-เปิดเทอมตามอาเซียน

จี้'ทปอ.' เปิดผลวิจัยปิด-เปิดเทอมตามอาเซียน

"ผศ.ดร.รัฐกรณ์" ติงทปอ.ระบบ "แอชมิชชั่นส์ใหม่" ไม่ควรละเลย ปัญหาปิด-เปิดเทอมตามอาเซียน จี้เปิดผลวิจัย

ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) เผยว่า จากกรณีที่ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติเห็นชอบปรับกระบวนการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษารูปแบบใหม่ ใน 5 รูปแบบ โดยกระบวนการทั้งหมดใน 5 รูปแบบดังกล่าวเรื่มต้นตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคมนั้น แสดงให้เห็นว่า ทปอ.ไม่ได้นำปัญหาและผลกระทบจากการเปิดภาคเรียนในเดือนสิงหาคม(ตามอาเฃียน) มาพิจารณาร่วมด้วยทั้งที่มีทั้งเสียงเรียกร้องมาอย่างต่อเนื่อง  

ผศ.ดร.รัฐกรณ์ กล่าวอีกว่า ทั้งจากนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง รวมทั้งผลการวิจัยจากหลายหน่วยงาน และมติของที่ประชุมต่าง ๆ ที่เคยเสนอให้ทบทวน เช่น สภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ในการประชุมครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 เนื่องจากมีผลกระทบต่อระบบการผลิตและพัฒนาครูโดยเฉพาะการฝึกประสบการวิชาชีพครู

เนื่องจากเปิดภาคเรียนไม่ตรงกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สภาคณบดีสาขาการเกษตรแห่งประเทศไทย ในการประชุมครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2559 เนื่องจากกระทบกับการเรียนการสอนในหน้าร้อน ที่ต้องแย่งน้ำในการทดลองการเกษตรกับชาวบ้าน รวมทั้งจากผลการวิจัยของที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย(ปอมท.) และผลการวิจัยของที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย(ทปสท.) ที่ผลการวิจัยออกมาตรงกันคือทั้งอาจารย์ บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา นักศึกษา ผู้ปกครอง ผู้ประกอบการ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างไม่เห็นด้วยกับการเปิดภาคเรียนตามอาเชียน เนื่องจากมีผลกระทบทั้งจากสภาพอากาศที่ร้อน การจัดการศึกษา การเกณฑ์ทหาร การสอบบรรจุครู การสมัครงาน ฯลฯ และกระทบกับวิถีชีวิต เพราะการศึกษากับวิถีชีวิตและสังคม ต้สภาพภูมิอากาศ ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมต้องสอดคล้องกัน"ประธาน ทปสท.กล่าว

ประธาน ทปสท. กล่าวอีกว่า ขณะที่ทราบว่าทาง ทปอ.เอง ก็ได้ทำวิจัยในเรื่องผลกระทบจากการเปิดเทอมตามอาเฃียนนี้ด้วย และทราบว่าผลการวิจัยเสร็จสิ้นแล้วแต่ทำไมไม่เปิดเผย ทั้งที่ควรนำผลการวิจัยดังกล่าวมาพิจารณาประกอบในการกำหนดการรูปแบบแอชมิชชั่นใหม่ด้วย และตนอยากฝากคำถามว่าเมื่อก่อนเราเคยเปิดเดือนมิถุนายน และใช้ระบบเอนทรานซ์มานานก็สามารถทำได้ให้เปิดเทอมเดือนมิถุนายนได้ เพราะเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 6 ส่วนใหญ่ก็สอบตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์และเสร็จสิ้นต้นเดือนมีนาคมแล้ว

"ปัจจุบัน มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งทยอยกลับมาเปิดแบบเดิม ในเดือนมิถุนายนแล้ว เนื่องจากมีปัญหาและผลกระทบมากมาย เช่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยกาฬสินธ์ุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิยาลัยราชภัฏหลายแห่ง รวมถึงมหาวิทยาลัยเอกชนอีกหลายแห่ง แม้ว่าการเปิดภาคเรียนของสถาบันอุดมศึกษาจะเป็นอำนาจของแต่ละสถาบัน แต่หากปล่อยมหาวิทยาลัย รวมถึงสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เปิดภาคเรียนไปคนละทิศละทาง ย่อมก่อให้เกิดความสับสนต่อนักเรียน ผู้ปกครอง ที่นอกจากจะสมัครเข้าเรียนที่ไหนแล้วยังจะต้องเช็คว่ามหาวิทยาลัยนั้น ๆ เปิดเทอมเมื่อไรด้วย"ประธาน ทปสท.ระบุ

ผศ.ดร.รัฐกรณ์  กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้การสร้างความร่วมมือ การจัดกิจกรรมระหว่างเครือข่ายของมหาวิทยาลัยเองก็จะมีผลกระทบด้วย ตนจึงอยากฝากไปยัง ทปอ.ว่าควรจะนำเอาประเด็นปัญหาและผลกระทบจากการเปิดภาคเรียนตามอาเฃียนที่ท่านเป็นผู้เริ่มต้น มาร่วมพิจารณาในการกำหนดแนวทางรับนักศึกษาด้วย

“อุดมศึกษาเป็นภูมิปัญญาเพื่อแก้ปัญหาให้กับสังคม ไม่ใช่สร้างปัญหาให้กับสังคม”ประธาน ทปสท.กล่าวในที่สุด