‘บานาน่าสติก’ ชี้ชัดวิทยาศาสตร์อยู่ไม่ไกลโอท็อป

‘บานาน่าสติก’ ชี้ชัดวิทยาศาสตร์อยู่ไม่ไกลโอท็อป

ขนมปังขาไก่จากกล้วยน้ำว้าใช้การอบแทนการทอดน้ำมัน ปรุงรสหวานด้วยกล้วยสุกแทนน้ำตาล เป็นตัวอย่างจากโครงการคูปองวิทย์เพื่อโอท็อป ที่ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์-บรรจุภัณฑ์แล้วยังให้คำปรึกษากระทั่งผ่านการรับรอง อย. สร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าโอท็อป

“คูปองวิทย์เพื่อโอท็อป” เป็นกลไกสนับสนุนการบริการยกระดับผลิตภัณฑ์โอท็อป 6 เรื่อง คือ พัฒนาคุณภาพวัตถุดิบ พัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ ออกแบบกระบวนการผลิต ออกแบบเครื่องจักรและพัฒนาระบบมาตรฐาน สำหรับกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการโอท็อปเริ่มต้น กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนโอท็อป, ผู้ประกอบการโอท็อปที่ขึ้นทะเบียนแล้วและต้องการยกระดับดาว และผู้ประกอบการโอท็อปที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน และต้องการเพิ่มศักยภาพในการส่งออก

นางสาวลักขณา แสนบุ่งค้อ ผู้แทนกลุ่มชวนน้องออมถวายพ่อหลวง ต.ภูหอ อ.ภูหลวง จ.เลย กล่าวว่า โครงการคูปองวิทย์เพื่อโอท็อปได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มาช่วยพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าใหม่เพื่อสุขภาพคือ ขนมปังขาไก่จากกล้วยน้ำว้า และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์
กลุ่มชวนน้องออมถวายพ่อหลวงเป็นการรวมกลุ่มทำกิจกรรมของเยาวชนในท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวในจังหวัดและการทำขนมจำหน่ายโดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่น โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ทั้งยังมองเห็นศักยภาพทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ขนมจากกล้วยหากได้รับการพัฒนา จึงแนะนำให้รู้จักกับ วว.ซึ่งดูแลโครงการวิทย์เพื่อโอท็อป

“หลังจากนั้นก็ได้หารือและนำเสนอความต้องการของกลุ่มไปยัง วว. ซึ่งจัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาลงพื้นที่อย่างจริงจังและให้ความช่วยเหลือมากกว่าขอบข่ายที่กำหนด เช่น ก่อนหน้านี้ขนมของกลุ่มยังไม่มี อย. ก็ปรึกษาว่าควรทำอย่างไร โรงงานจะต้องปรับปรุงอย่างไรและเอกสารควรจัดการอย่างไร ทางผู้เชี่ยวชาญช่วยแนะนำทั้งหมดจนกระทั่งสินค้าทุกตัวของกลุ่มสามารถขึ้นทะเยียน อย. ได้สำเร็จ” นางสาวลักขณากล่าว

โครงการวิทย์เพื่อโอท็อปใช้เวลา 1 ปี ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องสูตร ขนาดชิ้นขนมและบรรจุภัณฑ์ สำหรับกำลังการผลิตขนมขบเคี้ยวจากกล้วยน้ำว้านั้น โดยเฉลี่ยใช้วัตถุดิบกล้วย 50-100 เครือต่อเดือน ขึ้นกับช่วงเทศกาล สำหรับโปรเจคต่อไปเธออยากให้ วว. ช่วยในเรื่องการพัฒนาบรรจุภัณฑ์แบบซองเล็กเพื่อจำหน่ายในราคาถูก ซึ่งจะทำให้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น ทั้งเหมาะใช้เป็นเมนูอาหารว่างเพื่อสุขภาพในช่วงพักการประชุมทดแทนเบเกอรี่และขนมที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ

“ข้อแนะนำสำหรับผู้ประกอบการอื่น หากอยากรู้เรื่องอะไรก็ถาม วว. ที่สามารถตอบโจทย์ให้ได้หมด แต่สิ่งสำคัญคือ ผู้ประกอบการต้องมีโจทย์ที่ชัดเจนเท่านั้น ยกตัวอย่างกลุ่มฯ มีโจทย์ง่ายและชัดเจนคือ กล้วยและเพื่อสุขภาพ ก็เลยกลายเป็นการอบ ไม่ใส่นมน้ำตาลแต่ใช้รสหวานตามธรรมของกล้วยสุกที่ได้จากการบดผสม เพราะคุณสมบัติของขนม ถ้าไม่หวานเลยก็คงไม่ใช่” นางสาวลักขณากล่าว

ทั้งนี้ คูปองวิทย์ฯ ไม่ใช่การแจกเงินให้เปล่าแก่ผู้ประกอบการ แต่เป็นการนำงานวิจัยหรือองค์ความรู้ไปช่วยเหลือใน 6 กรอบข้างต้น ซึ่งแต่ละกรอบจะได้รับการสนับสนุนแตกต่างกัน ขณะเดียวกันยังมีเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมออกค่าใช้จ่าย 30-70% ตามขนาดกิจการ เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่จะทำการพัฒนาอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม การมีส่วนร่วมดังกล่าวก็ไม่ได้ชำระเป็นเงินสดให้กับทางโครงการฯ แต่คิดทดแทนออกมาเป็น ค่าแรง ค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าวัตถุดิบและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการดำเนินโครงการ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้โอท็อปรายเล็กๆ มีโอกาสเข้าถึงบริการความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ