จี้ 'สอบภาษี' บริษัทกลางสกัดรั่วไหล

จี้ 'สอบภาษี' บริษัทกลางสกัดรั่วไหล

"ไอเอ็มเอฟ" แนะสรรพากรตั้งหน่วยงานตรวจสอบภาษี "กลุ่มธุรกิจขนาดกลาง" เพื่อปิดช่องการรั่วไหลของภาษี

ไอเอ็มเอฟแนะสรรพากรตั้งหน่วยงานตรวจสอบภาษีกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง เพื่อปิดช่องการรั่วไหลของภาษีในกลุ่มธุรกิจดังกล่าว ขณะที่ กลุ่มธุรกิจขนาดกลางใช้แนวทางการแตกบริษัท เพื่อเลี่ยงการขยายตัวเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่จะถูกตรวจสอบภาษีที่เข้มงวดมากขึ้นโดยกรมสรรพากร

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรเปิดเผยว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟเสนอกรมสรรพากรให้มีการตั้งหน่วยงานที่เข้าไปดูแลภาษีธุรกิจขนาดกลางโดยเฉพาะ เพื่อลดการรั่วไหลของภาษีในกลุ่มธุรกิจดังกล่าว ขณะที่ ปัจจุบันกรมสรรพากรมีสำนักงานบริหารธุรกิจขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่ดูแลภาษีของธุรกิจขนาดใหญ่ที่รายได้ต่อปีไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาทขึ้นไป ซึ่งก็คือข้อเสนอของไอเอ็มเอฟที่ได้เสนอกรมสรรพากรในปี 2540

สำหรับธุรกิจขนาดกลางยังไม่มีหน่วยงานที่เข้าไปดูแลโดยตรง ซึ่งปัญหาของธุรกิจขนาดกลาง คือ มีเป็นจำนวนมากที่ไม่ต้องการทำให้ธุรกิจตัวเองใหญ่ขึ้นจนเป็นธุรกิจใหญ่ และถูกตรวจสอบโดยสำนักงานบริหารธุรกิจขนาดใหญ่ของสรรพากร เพราะคิดว่าการเป็นธุรกิจขนาดกลาง บริหารภาษีได้ง่ายกว่าธุรกิจใหญ่ที่จะถูกตรวจสอบที่เข้มงวดขึ้น

“การที่ไม่มีหน่วยงานเข้าไปดูแลธุรกิจขนาดกลางโดยตรง ทำให้มีการรั่วไหลของภาษี โดยเฉพาะธุรกิจที่ใช้เงินสด ขณะเดียวกัน ธุรกิจขนาดกลางหลายรายก็คิดว่า สามารถคุยได้ง่ายกับกรมสรรพากรแล้วจบ”

แหล่งข่าวกล่าวว่า แนวทางแก้ไขหรือเลี่ยงการตรวจสอบภาษีที่เข้มงวดของกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง คือ เมื่อธุรกิจขยายตัวมาระดับหนึ่ง แล้วจะก้าวไปสู่การเป็นธุรกิจใหญ่ ธุรกิจขนาดกลางเหล่านั้น มักจะแตกเป็นอีกบริษัท เพื่อไม่ให้ตัวเองใหญ่จนเกินไป

ทั้งนี้ กรมสรรพากรต้องการสนับสนุนให้ธุรกิจในประเทศขยายตัวจากธุรกิจขนาดเล็กไปสู่ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ในที่สุด หากมีการตรวจสอบที่เข้มงวดอย่างยิ่งก็อาจจะกระทบต่อธุรกิจขนาดเล็กที่กำลังเติบโตไปเป็นธุรกิจขนาดกลาง แต่สำหรับธุรกิจขนาดกลางที่มีความมั่นคงแล้ว และสามารถก้าวขึ้นมาเป็นธุรกิจใหญ่ได้ ก็สมควรที่จะปรับฐานะตัวเองให้เป็นธุรกิจใหญ่ต่อไป แต่หากยังอยู่ในธุรกิจขนาดกลาง ในอนาคต กรมฯก็จะต้องมีการตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้น

ปัจจุบันมีจำนวนธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ที่อยู่ในการตรวจสอบของสำนักบริหารธุรกิจขนาดใหญ่ของกรมฯประมาณ 3,500 ราย การตั้งสำนักบริหารธุรกิจขนาดใหญ่ ได้ทำให้ประสิทธิภาพในการตรวจสอบภาษีของสรรพากร มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจาก ธุรกรรมของธุรกิจขนาดใหญ่มีความซับซ้อน และบางกรณีมีการทำธุรกรรมที่ข้ามพื้นที่หรือข้ามประเทศ ซึ่งสรรพากรในระดับพื้นที่ไม่สามารถตรวจสอบหรือไม่มีศักยภาพในการตรวจสอบได้