BANKING - Underweight

BANKING - Underweight

หุ้นแบงก์มีกำไร 1Q60 เติบโตไม่มาก แต่ยังมีเรื่อง NPL กดดันผลประกอบการทั้งปี

- 1Q60 หุ้นแบงก์มีกำไร +8%YoY+5%QoQ

- คุณภาพสินทรัพย์ยังอ่อนแอจาก NPL ที่ยังเพิ่มขึ้นกดดันตั้งสำรองฯเพิ่ม

- การเติบโตของสินเชื่อยังแผ่ว...ความหวังอยู่ที่ครึ่งปีหลัง

- ให้น้ำหนักการลงทุนเป็น “Underweight” Top Pick ได้แก่ KBANK SCB

- 1Q60 หุ้นแบงก์มีกำไร +8%YoY+5%QoQ : หุ้นกลุ่มธนาคาร 11 ตัวรายงานกำไร 5.2 หมื่นล้านบาท เติบโต 8%YoY และ 5%QoQ โดยธนาคารที่เน้นสินเชื่อเช่าซื้อได้แก่ KKP TCAP และ TISCO มีอัตราการเติบโตของกำไรสูงกว่าแบงก์ขนาดใหญ่และกลาง ทั้งนี้ KKP รายงานอัตราการเติบโตสูงสุดในกลุ่มที่ 38%YoY หลังมีการตั้งสำรองหนี้สูญลดลงอย่างมาก สำหรับกลุ่มแบงก์ทั่วไป หุ้นที่มีอัตราการเติบโตสูงสุด 3 ลำดับแรกได้แก่ SCB มีอัตราการเติบโตของกำไรในช่วง 1Q60 สูงสุดที่ 17% รองลงมาได้แก่ KTB กำไร +13%YTD และ BAY กำไร +11% ส่วนหุ้นที่มีอัตราการเติบโตของกำไร 1Q60 ที่แย่ 3 ลำดับแรกได้แก่ CIMBT กำไรหดตัวมากที่สุด 65%YTD (ไม่ได้ cover) สำหรับ BBL มีกำไรสุทธิทรงตัว YoY และ QoQ จากการตั้งสำรองฯเพิ่มขึ้นมากถ่วงผลการดำเนินงาน ส่วน TMB แม้มีกำไรทรงตัว YoY แต่ลดลง QoQ จากการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีการ write off NPL ทำให้ %NPL ทรงตัว YTD

- คุณภาพสินทรัพย์ยังอ่อนแอจาก NPL ที่ยังเพิ่มขึ้นกดดันตั้งสำรองฯเพิ่ม : คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารที่เน้นสินเชื่อเช่าซื้อปรับดีขึ้นมากจาก NPL ได้ผ่านช่วงสูงสุดไปแล้ว และทยอยปรับดีขึ้นต่อเนื่องทุกไตรมาส ทำให้ %NPL ที่ลดลงจากปลายปี 59 สำหรับแบงก์ทั่วไปยังมี NPL เพิ่มขึ้นจากกลุ่มลูกค้า SME ที่มีโอกาสเป็น NPL สูงในกลุ่มลูกค้าที่มีขนาดเล็ก และจากลูกค้ารายย่อยแม้อัตราการเกิดไม่ได้เร่งตัวขึ้นมากแต่ยังมีภาระหนี้ครัวเรือนสะสมในระดับสูงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ทำให้ยังเห็นภาพของการตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นเพื่อรักษาระดับ Coverage Ratio เห็นได้จาก BBL ที่มี NPL เพิ่มขึ้น 25%YTD จึงมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นมากเพื่อรักษาระดับ Coverage Ratio ให้อยู่ในระดับสูงแม้จะไม่สูงมากเท่ากับในอดีตกดดันให้ผลประกอบการ ส่วน KTB มี NPL เพิ่มขึ้น 10%YTD แต่ยังตั้งสำรองไม่มากนักและมี Coverage Ratio ลดลงแตะระดับต่ำที่สุดในกลุ่ม (อยู่ที่ระดับ 112% ลดลงจาก 122% ณ ปลายปี 59 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มแบงก์ใหญ่ ณ ปลายปี 59 ที่ราว 130% - 140%) ทำให้ Consensus คาดว่า KTB อาจมีการตั้งสำรองฯเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือ ซึ่งภาระในการตั้งสำรองฯของแต่ละธนาคารทำให้ฝ่ายวิจัยคาดว่าจะเป็นแรงกดดันผลการดำเนินในช่วงที่เหลือของปีนี้

- การเติบโตของสินเชื่อยังแผ่ว...ความหวังอยู่ที่ครึ่งปีหลัง : การเติบโตของสินเชื่อ ณ ปลายไตรมาสแรกของแต่ละธนาคารยังแผ่ว ในกลุ่มธนาคารที่เน้นสินเชื่อเช่าซื้อมีเพียง KKP ที่มีอัตราการเติบโตของสินเชื่อสูงสุด 1.3%YTD ขณะที่ TCAP และ TISCO ยังมีสินเชื่อหดตัว 1.27%YTD และ 2%YTD ตามลำดับจากผลกระทบของตลาดรถยนต์และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ยังไม่ฟื้นตัว ในกลุ่มแบงก์ใหญ่ KBANK มีอัตราการเติบโตของสินเชื่อสูงสุดที่ 1.2%YTD ส่วน SCB และ KTB มีอัตราการเติบโตของสินเชื่อเท่ากันที่ 0.7%YTD ขณะที่ BBL มีสินเชื่อหดตัว 0.9%YTD แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง สำหรับ LHBANK ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มแบงก์เล็กมีอัตราการเติบโตของสินเชื่อสูงสุดที่ +1.8%YTD ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่ต่ำในอดีต อย่างไรก็ดี การเร่งเปิดประมูลโครงการลงทุนด้านคมนาคมขนาดใหญ่คาดจะเห็นการเซ็นสัญญาและเริ่มก่อสร้างในช่วงครึ่งปีหลัง รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ อาทิ การเร่งเปิดประมูลโครงการลงทุนขนาดใหญ่ โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) จะช่วยกระตุ้นความต้องการสินเชื่อของภาคเอกชนในการเพิ่มลงทุน ซึ่งจะช่วยให้การปล่อยสินเชื่อกระตื้องขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

- ให้น้ำหนัก “Underweight” หุ้นกลุ่มธนาคาร Top Pick ได้แก่ KBANK SCB : ฝ่ายวิจัยคาดแนวโน้มผลประกอบการของหุ้นกลุ่มธนาคารในช่วง 2Q60 ยังได้รับแรงกดดันจาก NPL ที่เพิ่มขึ้นและมีภาระการตั้งสำรองฯในระดับสูงใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ทำให้ผลประกอบการทรงตัว YoY หรือเติบโตไม่มากนัก เราจึงให้น้ำหนักการลงทุนเป็น “Underweight” โดยเลือก KBANK และ SCB เป็นหุ้น Top Pick เนื่องจาก KBANK มี NPL เพิ่มขึ้นไม่มากจากการบริหารจัดการที่ดีแม้ว่าตลาดจะรับรู้ว่ามีสัดส่วนของสินเชื่อ SME ค่อนข้างสูงในกลุ่มแบงก์ใหญ่ ส่วน SCB แม้มีสินเชื่อเติบโตไม่มาก ณ ปลายไตรมาสแรก แต่หากปีนี้มีดีลขายเงินลงทุนบางส่วนใน SCBLIFE จะเป็นอัพไซต์จากประมาณการของ Consensus และทำให้มีกำไรสูงสุดในกลุ่ม